จับตาเวียดนามวิกฤตหนักไฟฟ้าส่อขาดแคลน

“เวียดนาม” ประเทศ “น่าลงทุน” และมีศักยภาพการพัฒนาอันดับต้น ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันนี้...กำลังเผชิญวิกฤตพลังงานไฟฟ้าขาดแคลนอย่างหนักมาตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และส่อแววยืดเยื้อไปจนถึงฤดูร้อนในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ถึงขั้นต้องประกาศเวียนดับไฟฟ้าทั่วประเทศเพื่อรับมือกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยบางพื้นที่อาจต้องดับไฟฟ้านานกว่า 7 ชั่วโมง ทั้งที่ประเทศเวียดนามมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งในระบบมากถึง 80,704 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 45,434 เมกะวัตต์ สะท้อนถึงปัญหาความมั่นคงระบบไฟฟ้าและคุณภาพไฟฟ้าของเวียดนามที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล

ถ่านหินขาดแคลน-ต้นทุนสูง

ค่าไฟฟ้าของเวียดนามถือเป็นจุดแข็งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในวงกว้าง เหตุเพราะมีราคาค่อนข้างต่ำและไม่ได้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามาจากเชื้อเพลิงถ่านหินถึง 32.32% รองลงมาคือโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน 28.5% แต่การตรึงค่าไฟฟ้าแบบสุดโต่งของเวียดนามกำลังกลายเป็นจุดอ่อนของวิกฤตขาดแคลนไฟฟ้าครั้งนี้ สืบเนื่องจากผู้ผลิตไฟฟ้าต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมจากค่าเชื้อเพลิงถ่านหินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 3 – 4 เท่าตัว จากราคา 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 231 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 (อ้างอิงจากดัชนีราคาถ่านหิน NEX) แต่กลับไม่สามารถสะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงถ่านหินที่เกิดขึ้นจริงผ่านค่าไฟฟ้าได้ ส่งผลให้โรงไฟฟ้าถ่านหินบางแห่งตัดสินใจไม่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าส่วนหนึ่งหายไปจากระบบ แม้ปัจจุบันการไฟฟ้าแห่งเวียดนามจะประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเพิ่มอีก 3% หรือประมาณ 2.85 บาทต่อหน่วย แต่อาจยังไม่จูงใจผู้ผลิตไฟฟ้าให้กลับมาเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้นได้

ในขณะเดียวกันเชื้อเพลิงถ่านหินภายในประเทศของเวียดนามยังประสบปัญหาผลิตได้ต่ำกว่าแผนที่กำหนดไว้ถึง 6 ล้านตัน หรือ ประมาณ 11.5% ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้น้อยลงตามไปด้วยจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้น

น้ำในเขื่อนยังวิกฤต ผลิตไฟไม่ได้

เมื่อกำลังผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินหายไป เวียดนามจึงเร่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังน้ำจาก​เขื่อนขนาดใหญ่ 18 แห่ง ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ที่ราบสูงตอนกลาง รวมถึงภาคตะวันออก​เฉียงใต้มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 20% ของความจุอ่าง ส่วนอ่างเก็บน้ำอีก 18 แห่ง มีระดับน้ำต่ำกว่าระดับกักเก็บปกติ​ หากไม่มีฝนตกลงมาเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนในเวียดนามจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากน้ำในเขื่อนได้อีกเพียง 4,500 ล้านหน่วยเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าแผนที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 1,600 ล้านหน่วย กลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตที่ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องตัดสินใจประกาศแผนเวียนดับไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ

ระดับน้ำในเขื่อน Lai Châu ทางภาคเหนือของเวียดนามอยู่ในระดับต่ำ

ล่าสุดการไฟฟ้าแห่งเวียดนามได้แก้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าระยะสั้นด้วยการเพิ่มการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากจีนและ สปป.ลาว เร่งนำเข้าเชื้อเพลิงทั้งถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา เพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า รวมถึงรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก 1,200 เมกะวัตต์ ควบคู่กับการขอความร่วมมือทุกภาคส่วนดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานอย่างเข้มข้น

พลังงานหมุนเวียนในระบบมาก แต่ยังเสี่ยงขาดแคลน

วิกฤตพลังงานครั้งนี้ทำให้ชาวเวียดนามหลายคนตั้งคำถามต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องถึงการบริหารจัดการไฟฟ้า เนื่องจากเวียดนามมีสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบมากถึง 20,000 เมกะวัตต์ แต่ยังประสบปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ ด้านนายหวอ กวง ลัม รองประธานกรรมการบริหารการไฟฟ้าแห่งเวียดนาม ชี้แจงว่า ปัจจุบันเวียดนามมีกำลังติดตั้งของพลังงานหมุนเวียนประมาณ 27% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้จริงราว 13% และมีความเชื่อถือได้ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากผลิตไฟฟ้าได้เพียงบางช่วงเวลา ตัวอย่างการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉพาะในช่วงกลางวันเท่านั้น แต่ไม่สามารถกักเก็บไว้จ่ายไฟฟ้าในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงหรือช่วงที่ขาดแคลนไฟฟ้าได้ เช่นเดียวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ดีที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ ทำให้เวียดนามยังต้องเผชิญความเสี่ยงขาดแคลนไฟฟ้าแม้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากในระบบ และปฏิเสธไม่ได้ว่าการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติยังมีความจำเป็น

วิกฤตขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในเวียดนามกลายเป็นกรณีศึกษาที่บ่งชี้ว่า การบริหารจัดการระบบไฟฟ้าที่มุ่งเน้นค่าไฟฟ้าในระดับต่ำที่สุดเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบของนักลงทุน เพราะการขาดแคลนไฟฟ้าเพียงไม่กี่ชั่วโมงสามารถสร้างความเสียหายทางธุรกิจอย่างมหาศาล ในขณะที่ประเทศไทยก็ต้องหันกลับมาพิจารณาและร่วมกันขบคิดหาแนวทางในการสร้างความสมดุลระหว่างอัตราค่าไฟฟ้ากับความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้า พลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสอีกครั้ง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กฟผ.เสริมศักยภาพท่องเที่ยวเกาะสมุย เตรียมขยายเคเบิลใต้น้ำเพิ่ม 1 เส้นรองรับฮับท่องเที่ยว

เกาะสมุยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและต่างชาติ เห็นได้จากหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย การท่องเที่ยวของเกาะสมุยกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

กฟผ. ลุยต่อโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ เขื่อนศรีนครินทร์ เปิดขายเอกสารประกวดราคา วันนี้ – 3 ก.ค. 67

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.

นักประดิษฐ์ กฟผ. คว้า 3 รางวัลใหญ่จากเวทีนานาชาติ “INTARG 2024” สาธารณรัฐโปแลนด์

“เรือสำรวจพร้อมระบบเก็บตัวอย่างน้ำแบบปลอดเชื้ออัตโนมัติ (สำหรับเก็บตัวอย่างน้ำทางจุลชีววิทยา)” ของนักประดิษฐ์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คว้า 3 รางวัลใหญ่

'พาณิภัค'ได้เหรียญเงิน แพ้จอมเตะจากจีน 'ใบเตย'ชนะอุซเบฯคว้าทอง

การแข่งขันเทควันโด้ รายการ เอเชียน เทควันโด แชมเปี้ยนชิพ ครั้งที่ 26 ที่เทียน ซัน สเตเดี้ยม ในเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม

กฟผ. แจ้งเปลี่ยนกำหนดปิดการจราจรบนถนนมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 เพื่อขึงสายส่งไฟฟ้าเป็น 8 พ.ค. นี้

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปลี่ยนกำหนดดำเนินการขึงสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดข้ามถนน จากสถานีไฟฟ้าย่อยชลบุรี 2 ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยบ่อวิน จ.ชลบุรี