'ชาญชัย' ชี้คดีหุ้นสื่อ 'พิธา' เป็นหนังคนละม้วนกับคดีของตัวเองมาก ย้ำคำวินิจฉัยศาลรธัฐธรรมนูญที่ผ่านมา หากหุ้นในกิจการที่ถือ ยังไม่แจ้งเลิกกิจการถือว่ายังครอบครอง
31 พ.ค.2566 - กรณีการยื่นคำร้องของบุคคลกลุ่มต่างๆ เช่นนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ตรวจสอบคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้งของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ว่าอาจมีปัญหาขาดคุณสมบัติเนื่องจากพบว่านายพิธา ครอบครองหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2562 และการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 14 พ.ค. 2566 ซึ่งหลายฝ่ายมักอ้างอิงคำร้องคดีนายพิธาว่าไม่น่ามีปัญหาโดยนำไปเทียบเคียงกับคดีของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ครอบครองหุ้น AIS แต่สุดท้ายศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำตัดสินเมื่อ 2 พ.ค. 2566 ให้ลงเลือกตั้งได้ เพราะศาลฎีกาเห็นว่า ครอบครองเพียง 200 หุ้นเป็นสัดส่วนที่น้อย ไม่มีอำนาจสั่งการให้บริษัท AIS ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับนายชาญชัยได้
นายชาญชัยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลและประเด็นในคำพิพากษาของศาลฎีกาที่คืนสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของตนเองเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 เพื่อเตรียมแถลงข่าวกับสื่อมวลชน เพราะที่ผ่านมาพบว่านับแต่เกิดกรณีหุ้นของนายพิธา หลายฝ่ายมีการนำคดีของตนเองไปอ้างถึงเยอะมาก แต่ไม่รู้รายละเอียดขั้นตอนและคำพิพากษาทั้งหมด
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า กรณีคดีของตนเองกับของนายพิธา ข้อเท็จจริงมีความแตกต่างกัน เพราะที่ผมถือหุ้นเอไอเอส ตัวบริษัทไม่ได้ทำธุรกิจสื่อ แต่เอไอเอสบริษัทแม่ไปลงทุนในบริษัทลูก คือ บริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) และบริษัท เยลโล่ เพจเจส คอมเมอรส์ จํากัด ซึ่งทำเรื่องสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ถือเป็นกิจการประเภทสื่อมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) โดยบริษัทลูกดังกล่าวทำกิจการเช่น คอลเซ็นเตอร์ -หนังสือที่เป็นเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเอกสารเบอร์โทรศัพท์ต่างๆ ในเว็บไซด์ โดยมีโฆษณา เลยกลายเป็นว่าผมถือหุ้นเอไอเอสที่ไม่ได้ทำสื่อโดยตรงแต่เป็นการไปถือหุ้นสื่อทางอ้อม ผ่านบริษัทลูกโดยศาลก็ได้มีคำวินิจฉัยว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หมายถึงสื่อโซเชียลมีเดียด้วยเช่น Facebook TikTok ให้ถือว่าเป็นสื่อมวลชนอื่นใด
นายชาญชัยกล่าวต่อว่า คดีของตนเองประเด็นสำคัญคือ ถือหุ้นทางอ้อมและถือจำนวนน้อย ศาลจึงมองเจตนาว่าไม่ได้มีนัยยะที่จะไปสั่งการหรือว่าจะไปทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 42 (3) ว่าด้วยการเป็นเจ้าของสื่อ จากนั้นศาลก็มาวิเคราะห์ต่อว่าที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) มีเจตนาคือไม่ต้องการให้เข้าไปก้าวก่าย หรือมีอิทธิพลในการให้ได้เปรียบเสียเปรียบ ศาลก็เห็นว่าจำนวนที่ถือหุ้นอยู่ไม่ได้มีนัยยะสำคัญหรือมีอำนาจสั่งการหรือครอบงำอะไรได้ ศาลจึงเห็นว่าตนเองมีสิทธิ์โดยชอบตามรัฐธรรมนูญในการเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
“สำหรับกรณีของนายพิธา ถือหุ้นสื่อมวลชน คือสื่อโทรทัศน์ ถือเป็นถือโดยตรงไม่ใช่ถือโดยอ้อม แต่ของผมถือโดยอ้อม โดยกรณีของไอทีวีก็พบว่ายังทำกิจการอยู่ ยังจดทะเบียนอยู่ ยังไม่ได้บอกเลิกกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจทางการค้า และปัจจุบันยังมีการฟ้องร้องเรื่องใบอนุญาตและผลประโยชน์ต่างๆ ร่วมกว่าสองพันล้านบาท ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงทางกฎหมาย กรณีของพิธาความเป็นผู้ถือหุ้นมันชัดเจนแล้ว ไม่ว่าจะถือในนามมรดกหรือถือในนามตัวเอง แต่ถือว่าถือหุ้นแล้ว ซึ่งเขาถือ 42,000 หุ้น แต่ของผม 200 หุ้น และไม่ได้ถือโดยตรง ตรงนี้คือความเหมือนแต่แตกต่างระหว่างคดีของผมกับคำร้องของนายพิธา ที่หากเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูว่าศาลจะตัดสินไปทางไหน”นายชาญชัยระบุ
นายชาญชัยกล่าวต่อว่าสำหรับกรณีของนายพิธายังมองว่า 50-50 คือหาก กกต.ส่งคำร้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลสามารถวินิจฉัยได้แบบเดียวกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือจะวินิจฉัยให้ออกมาแบบเดียวกับของตนเองก็ได้ อยู่ที่ว่าจะใช้หลักนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ถ้าพิจารณาตามหลักนิติศาสตร์คือพิจารณาว่าพฤติกรรม และเหตุที่เกิดมันขัดต่อกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับเจตนา เพราะเรื่องเจตนา คดีของตนเองศาลฎีกามองว่าถือหุ้นเอไอเอสมีนัยยะสำคัญหรือไม่ ถ้าไปในทางเดียวกันต้องดูนัยยะว่าที่ถือหุ้นแล้วสามารถไปสั่งการหรือไปขอให้ช่วยได้หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกามองว่าถือหุ้นเอไอเอสอยู่นัยยะไม่สามารถไปสั่งการอะไรได้
“ก็ไปได้ทั้งสองทางยัง 50-50 อยู่ แต่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยตัดสินไว้แล้ว ถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะไปเปลี่ยนมันก็จะกลายเป็นปัญหา ส่วนกรณีว่าปัจจุบันไอทีวี ไม่ได้แพร่ภาพหรือทำอะไรแล้ว ตรงนี้ไม่เกี่ยว เพราะศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่าแม้จะหยุดไม่ได้ทำแล้ว แต่ไม่ได้ไปแจ้งยกเลิกการประกอบกิจการ ยังถือว่าทำได้อยู่ เพราะหากไม่ได้ยกเลิก จะทำอีกเมื่อไหร่ก็ได้ การไม่ได้แพร่ภาพแล้วเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน แต่คุณไม่ทำเอง แล้วทางไอทีวี ก็มีการไปฟ้องคดีที่ศาลปกครองว่าตอนที่เข้ามาเซ็นสัญญา ไปประมูลมาต้องเสียค่าสัมปทานแพงกว่าช่องอื่น แล้วต่อมาทำไป ก็จะขอให้รัฐลดค่าสัมปทานลง แล้วต่อมาก็เบี้ยวไม่จ่ายเงิน ก็เลยกลายเป็นปัญหาถึงตอนนี้ ซึ่งลักษณะแบบนี้อยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายคดี”
นายชาญชัยกล่าวอีกว่า หากไปจดทะเบียนแล้วไม่เคยทำเลย ไม่เคยมีรายได้ ถึงต่อให้เป็นเจ้าของด้วย แต่ไม่เคยทำกิจการสื่อ ถ้ากรณีแบบนี้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องหมดเลย เคยมีเคสแบบนี้ที่ส่งคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลก็ได้ยกคำร้องไปรวม 29 ราย เพราะหลักเกณฑ์ของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคือ คุณเป็นเจ้าของหรือมีหุ้นหรือไม่ และจดทะเบียนแล้ว ทำกิจการหรือไม่ ทำแล้วมีรายได้หรือไม่ ที่ผ่านมา ศาลจึงมักนำหลักฐาน เช่น บอจ. 5 เพื่อดูว่ามีรายได้ปรากฏในงบดุลบริษัทที่ถือหุ้นสื่อดังกล่าว หรือไม่ โดยหากไม่มีรายได้เกิดขึ้น ก็แสดงว่าไม่เคยทำเลย ที่ผ่านมาศาลก็จะยกคำร้องหากเป็นแบบนี้ แต่กรณีที่เกิดขึ้น พบว่ามันยังมี บอจ.5 ก็ต้องดูว่าไอทีวีมีรายได้จากอะไร ถ้าพบว่ามีรายได้จากดอกเบี้ย เพราะบริษัทยังไม่เลิกทำ แบบนี้คดีของพิธา ก็ยัง 50-50
“คดีของพิธาจุดสำคัญคือ หากศาลรัฐธรรมนูญมองในเชิงหลักรัฐศาสตร์ นัยยะในการถือหุ้น ไม่มีผลในการที่จะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) คือถือหุ้นน้อยเทียบกับจำนวนทั้งหมด ถ้ามองแบบนี้ศาลก็อาจยกคำร้องได้ แต่หากศาลตีความว่ายังถือครองหุ้นไว้อยู่ แล้วก็เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ที่เป็นเรื่องของผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น คือจะมีหุ้นสื่อ ไม่ว่าจะกี่หุ้น หนึ่งหุ้น สองหุ้น สามหุ้น ไม่สำคัญ แต่สำคัญคือพบว่ายังถือหุ้นอยู่ แล้วยังไม่ได้จดทะเบียนเลิก ให้ถือว่ากระทำขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) “อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ระบุ
อนึ่ง บอจ.5 คือเอกสารสำคัญของบริษัท ที่แสดงถึงรายชื่อบัญชีผู้ถือหุ้นบริษัท ที่แสดงรายละเอียดต่าง ๆ ของผู้ถือหุ้น อาทิเช่น วันจดจัดตั้งบริษัท วันประชุม ทุนจดทะเบียนบริษัท จำนวนหุ้นทั้งหมด และรายชื่อผู้ถือหุ้น ประกอบไปด้วย ชื่อ สกุล ที่อยู่ จำนวนหุ้นที่ถือ ในบริษัท เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.
หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
แก้วสรร : ประเมินคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
แก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง "ประเมินคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" โดยมีเนื้อหาดังนี้
ศาลรธน.ยกคำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง เอกฉันท์ 5 ประเด็นเว้นประเด็น 2
จากกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
'จตุพร' ตอกย้ำศาลรธน.รับคำร้องคดีล้มล้าง เพื่อหยุดอหังการอำนาจ เริ่มจุดเปลี่ยนบ้านเมือง
ลุ้นศาล รธน.พิจารณาคำร้อง 'จตุพร' เชื่อรับไว้วินิจฉัยเพื่อหยุดอหังการอำนาจ ลั่นจะเริ่มจุดเปลี่ยนบ้านเมือง เปิดความหวังประเทศก้าวเดินสู่ผลประโยชน์ชาติ
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'อนุทิน' เช็กสัญญาณ ครม.อิ๊งค์ ปมศาลรธน.นัดถกรับ-ไม่รับคำร้อง คดีทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง
ที่ด่านพรมแดนบ้านผักกาด ตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี นายอนุชิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี ที่ในวันพรุ่งนี้(22 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้อง