นักวิชาการพระปกเกล้า เปิด 3 สูตรจัดตั้งรัฐบาล จับตามีดีลข้ามขั้ว

นักวิชาการพระปกเกล้า คาดดีลกันวุ่นจัดตั้งรัฐบาล พร้อมเผยแนวทาง 3 สูตร จับตาต่อสายข้ามขั้วการเมือง ชี้ตัวแปร ภูมิใจไทย

14 พ.ค.2566 – ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ว่า เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ต้องให้พรรคการเมืองที่ได้เสียง ส.ส.มาอันดับหนึ่งไปคุยนอกรอบเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งฝ่ายที่คงจะเริ่มต้นจัดตั้งรัฐบาลก่อน ก็คือ พรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล และอาจเป็นไปได้ที่อาจจะต้องมีการคุยข้ามขั้ว เพราะต่อให้แลนด์สไลด์กันอย่างไร พรรคการเมืองอดีตฝ่ายค้านเดิม ก็ไม่น่าจะรวมเสียงกันได้เกิน 376 เสียง(โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องได้เสียงเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง)  ทำให้ฝ่ายเพื่อไทย-ก้าวไกล ก็ต้องไปดึงพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันมาร่วมตั้งรัฐบาลด้วยเช่น ชาติไทยพัฒนา รวมถึงพรรคตั้งใหม่อย่างไทยสร้างไทย 

ดร.สติธร กล่าวว่า แต่พรรคที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการต่อจิ๊กซอว์ก่อนก็คือพรรคภูมิใจไทย ที่ดูแล้วหากดึงมาร่วมตั้งรัฐบาล กระแสต่างๆที่จะย้อนกลับไปที่เพื่อไทยน่าจะเบากว่าที่จะไปร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคของสองลุง (พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ)หรือแม้แต่กับ ประชาธิปัตย์ แต่ก็คงไม่ง่ายเพราะอาจติดเงื่อนไขต่างๆ เพราะช่วงหาเสียงก็ลุยใส่กันเยอะ และต่างฝ่ายต่างตั้งกำแพงกันไว้สูงพอสมควร จนอาจเกิดกรณีงูกินหางทางการเมืองตามมาเช่น เพื่อไทย อาจต้องยอมกลืนน้ำลายบางส่วน เพื่อชวน ภูมิใจไทยมาร่วมตั้งรัฐบาล ส่วนภูมิใจไทย ก็ต้องมาโดยอาจมีเงื่อนไขว่าจะไม่ร่วมกับพรรคที่แตะเรื่องแก้ 112 ที่ก็คือ พรรคก้าวไกล ส่วนก้าวไกล ก็ให้ร่วมกับภูมิใจไทยได้ แต่จะยื่นเงื่อนไขไม่ให้ภูมิใจไทยคุมกระทรวงสำคัญเช่น กระทรวงคมนาคม มันก็เป็นงูกินหางแบบนี้ ส่งผลให้การรวมเสียงให้ได้เกิน 376 เสียงเพื่อโหวตเลือกนายกฯ โดยไม่ต้องพึ่งเสียง ส.ว. มันจะไม่ง่าย 

ดร.สติธร กล่าวถึงบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาในการโหวตนายกฯ ว่า ตราบใดที่เพื่อไทยไม่สามารถเจรจาพรรคการเมืองต่างๆ จนได้เสียงสว. 376 เสียง มองว่าทางสว.ก็อาจเลือกที่จะนิ่งไว้ก่อน เพราะเราก็ได้เห็นท่าทีของส.ว.จำนวนไม่น้อย ในช่วงที่เขาหาเสียงกัน สว.บางคนก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะขอยืนเป็นตัวของตัวเอง คือประชาชนเลือกมาอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ทางสว.ก็ขอใช้เอกสิทธิ์คิดเองคิดแทนโดยบอกว่าจะยึดผลประโยชน์ประเทศชาติ เขาก็มีจุดยืนแบบนี้

ดร.สติธร ระบุว่า แปลว่าหากเพื่อไทยไม่สามารถปิดสวิตช์สว.ด้วยการรวมเสียงให้ได้เกิน 376 เสียง ทำให้ถึงตอนโหวตนายกฯ ทางสว.ก็อาจโหวตไปในทางตรงกันข้ามหรือไม่ก็ใช้วิธีเข้าประชุมแต่ถึงตอนโหวต สว.อาจงดออกเสียง จนอาจทำให้คนที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ได้เสียงไม่เกิน 376 เสียงของสมาชิกรัฐสภา ทำให้ประธานรัฐสภาต้องไปนัดประชุมร่วมรัฐสภาใหม่อีกครั้ง เพื่อมาลงมติโหวตนายกฯ ถ้าประชุมนัดแรกไม่มีใครได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งกระบวนการโหวตเลือกนายกฯ สุดท้ายแล้วจะใช้เวลานานขนาดไหนกว่าจะเสร็จสิ้น ก็ยังคาดเดาไม่ถูก แต่หากฝ่ายต่างๆ มีการพูดคุยกันรู้เรื่องระหว่างที่รอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองผลการเลือกตั้ง มันก็อาจทำให้การโหวตเลือกนายกฯจบเร็วในครั้งแรก แต่ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง เราก็อาจจะได้เห็นการโหวตเลือกนายกฯ อาจเกิดขึ้นหลายรอบ 

“จากกติกาการโหวตเลือกนายกฯและท่าทีของแต่ละพรรคการเมืองที่ปรากฏอยู่ตอนนี้ ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลอาจยืดเยื้อ แต่เกมหนึ่งที่ยืดเยื้อไม่ได้ก็คือ การโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประธานสภาฯ ก็อาจอยู่ในฝ่ายอดีตพรรคฝ่ายค้านเดิม ที่เรียกกันตอนนี้ว่าเสรีนิยม หรืออาจจะไม่ก็ได้ มันอยู่ที่การคุยกันนอกรอบ ว่าเสียง 376 มันจะรวมกันได้หรือไม่เฉพาะส.ส. และเงื่อนไขการรวมเสียง 376 เสียง อาจมีตำแหน่งประธานสภาฯ อาจเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขก็ได้ โดยประธานสภาฯ อาจมาจากอีกฝั่งหนึ่ง ข้ามขั้วมาก็ยังได้ ภายใต้เงื่อนไขที่เจรจากันลงตัว ก็เป็นไปได้เช่นกัน” ดร.สติธร ระบุ

ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์สูตรความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ว่า ถึงตอนนี้มองไว้สามสูตร สูตรแรกคือ ฝ่ายพรรคการเมืองขั้วเสรีนิยมคือเพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย ประชาชาติ รวมเสียงกันแล้วแลนด์สไลด์เกิน 300 เสียง แล้วก็ไปชวนภูมิใจไทยมา โดยที่ภูมิใจไทยกับก้าวไกลตกลงกันได้ มาเป็นรัฐบาลร่วมกัน แบบนี้แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทยคนใดคนหนึ่งได้เป็นนายกฯ อันนี้คือ scenario ที่ฝ่ายเสรีนิยมแลนด์สไลด์ และคุยกันลงตัว

“ แต่ภายใต้ scenario นี้ ก็มีรายละเอียดย่อยอีกคือ ภูมิใจไทยเข้ามาโดยการดึงของเพื่อไทย แต่ฝ่ายก้าวไกลไม่โอเคด้วย แต่ก้าวไกลก็ไม่อยากให้ เพื่อไทยไปเอาพลังประชารัฐที่มีลุงป้อมมา ก้าวไกลก็อาจโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯเพื่อไทยเพื่อร่วมปิดสวิตช์ลุงป้อม แต่ก้าวไกลจะไม่ร่วมรัฐบาล” ดร.สติธร ระบุ  

ดร.สติธร ระบุด้วยว่า Scenario ที่สองก็คือ ก้าวไกลไม่ร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย  และไม่ร่วมโหวตแคนดิเดตนายกฯให้ด้วย ทำให้เพื่อไทย ต้องไปพึ่งพลังประชารัฐกับลุงป้อม แต่จำนวนเสียงก็อาจยังไม่พอ จนเผลอๆ เพื่อไทย  ต้องไปขอแรงประชาธิปัตย์มาร่วมอีก และถ้ายังไม่พออีก ก็ต้องขอแรงลุงป้อมให้ดึงสว.มาร่วมโหวตให้ด้วย ดังนั้น โอกาสที่จะเป็นรัฐบาลผสมแบบ scenario ที่สองก็คือ เป็นรัฐบาลข้ามขั้ว เพื่อไทยต้องบวกกับฝ่ายพลังประชารัฐ-ภูมิใจไทยและอาจจะมีประชาธิปัตย์ เพื่อเป็นรัฐบาล ซึ่ง scenario สูตรนี้ โอกาสที่เพื่อไทยจะต้องเสียแคนดิเดตนายกฯ ก็อาจเป็นไปได้ โดยอาจจะมาจากคนใดคนหนึ่งจากพรรคการเมืองที่มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลในสูตรนี้ ซึ่งภาษีสูงสุดก็น่าจะเป็นพลเอกประวิตร 

นายสติธร กล่าวอีกว่า Scenario ที่สามก็คือ “ลุงตู่อยู่ต่อ” หมายถึงกระแสแลนด์สไลด์แรงก็จริงแต่ผลเลือกตั้งออกมาไม่ได้เป็นอย่างที่ทุกคนเข้าใจว่าจะแรงไปทางเดียว คือแรงไปในทางที่ว่า”ก้าวไกลไปตัดเพื่อไทย” จนทำให้เขตเลือกตั้งต่างๆ ที่ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีปัจจัยเช่นความเป็นบ้านใหญ่ มีผู้สมัครแข็งๆ มีกระสุนดีๆ กลายเป็นผู้ชนะแทน คล้ายๆ กับตอนเลือกตั้งปี 2562 กับพลังประชารัฐตั้ง 97 เขต ภูมิใจไทยก็สามสิบกว่าเขต ประชาธิปัตย์ก็สามสิบกว่าเขต รวมๆ กันก็ร่วมๆ ร้อยกว่าเขตเลือกตั้ง ที่ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันเขาเคยชนะในการเลือกตั้งรอบที่แล้ว

ดร.สติธร กล่าวว่า จนทำให้พรรคการเมืองขั้วรัฐบาลรวมตัวเลขส.ส.กันแล้วหลังเลือกตั้งน่าจะไปได้ระดับ 220-225 เสียง ในสี่พรรคการเมือง(พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์) แล้วก็บวกกับพรรคเล็กๆ ที่สนับสนุนรัฐบาล เขาก็มีโอกาสตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรืออาจไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเพราะเกรงความเสี่ยง ก็อาจใช้วิธียื้อการตั้งรัฐบาลไปก่อน เพื่อหวังว่าจะมีคนย้ายขั้วจากฝ่ายเสรีนิยมมาร่วมในฝั่งนี้ เพราะตัวเลขมันห่างจาก 250 เสียงไม่เยอะเลย 

“ในScenario ที่สาม ก็จะมี 3.1 กับ 3.2 โดย 3.1 คือตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปเลย แล้วก็ไปเสี่ยงเอา หวังว่าตั้งรัฐบาลได้แล้วจะมีคนยอมมาร่วมด้วย ด้วยการเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้ หรือคุยนอกรอบให้เสร็จก่อน แล้วตอนโหวตนายกฯ ก็มาโหวตให้แคนดิเดตนายกฯของฝั่งรัฐบาลปัจจุบันที่น่าจะเป็น พลเอกประยุทธ์ไปก่อนแล้วก็ตั้งรัฐบาล แบ่งเก้าอี้กันไป ที่ก็คือไม่ใช่รัฐบาลเสียงข้างน้อยแต่เป็นรัฐบาลที่ไปได้งูเห่ามา โอกาสกลับมาเป็นนายกฯของพลเอกประยุทธ์ก็จะอยู่ใน Scenario ที่สาม ที่ก็ยังไม่ปิดประตู เพราะต่อให้ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงมา 300 เสียง แต่ก็ยังขาดอีกร่วม 70 กว่าเสียง มันยังมีเงื่อนไขอีก จนทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่ง่าย และทำให้พรรคพลเอกประยุทธ์ ถ้าอยู่นิ่งๆ แล้วไปเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้พลิกเกมกลับมา” นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'LOMOSONIC' ร่วมร้องเพลงกับน้องศิลปินผู้พิการทางสายตา

จบไปแล้วกับงานที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มอย่าง ‘เห็นด้วยหู รู้ด้วยใจ ครั้งที่ 3’ ณ ลานกิจกรรมชั้น G MBK Center ซึ่งงานนี้ LOMOSONIC วงร็อกสุดเดือดภายใต้สังกัด genie records ในเครือ GMM MUSIC ได้ใช้ดีกรีความเดือดแปรเปลี่ยนเป็นกำลังใจ มอบโอกาสให้แก่น้องๆ ศิลปินผู้พิการทางสายตาได้ยืนร่วมแสดงเคียงข้างวง เพื่อแสดงศักยภาพทางดนตรีของกลุ่มผู้เปราะบาง

'เพื่อไทย' ชี้โพลสนง.สถิติฯ คนถูกใจนโยบายรัฐบาล ไม่ได้หวังแย้งโพลพระปกเกล้า

นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจประชาชนที่พอใจผลงานรัฐบาลในรอบ 6 เดือน

'พิธา' พร้อมเสียบ หากเศรษฐาหลุดตำแหน่งนายกฯ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงผลโพลสถาบันพระปกเกล้า สำรวจคะแนนความนิยม พรรคการเมือง ซึ่งพรรคก้าวไกลและนายพิธามีคะแนนนำเป็นอันดับหนึ่ง

'ทอน' ส่งข้อความถึงพรรคก้าวไกล อีก 3 ปีข้างหน้า ต้องได้สส. 250 เสียง

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ให้ความเห็นต่อผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งสะท้อนว่าผ่านมา 1 ปีหลังการเลือกตั้ง คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลเพิ่มมากขึ้น

'ภูมิธรรม' เมินโพลชี้ 'ก้าวไกล' นำโด่ง ลั่น 'พท.' ทำงานหนักปรับตัวตลอด

'ภูมิธรรม' เมินโพลสถาบันพระปกเกล้าชี้ 'ก้าวไกล' นำโด่ง อ้างไม่ได้สำคัญอะไร อย่าใส่ใจทำงานดีกว่า รับ 'เพื่อไทย' ปรับตัวตลอดเวลา