'ชทพ.' ยุค 'วราวุธ ศิลปอาชา' เชื่อมทุกเจน เน้น 'ทีมเวิร์ค'

ประสานเชื่อมต่อคนทุกเจเนอเรชั่นให้สามารถทำงานร่วมกันได้ เน้นการใช้ ‘ทีมเวิร์ค’ มากกว่า ‘วันแมนโชว์’ คือ แนวทางการทำงานของ ‘พรรคชาติไทยพัฒนา’ ในยุคทายาทมังกรการเมือง ที่ชื่อ ‘ท็อป’ นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค

ก่อนหน้านี้เขาถูกเปรียบเทียบเรื่องการทำงานกับ ‘บรรหาร ศิลปอาชา’ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ผู้เป็นพ่อ แต่ ‘วราวุธ’ ไม่เคยโกรธและน้อมรับว่า ตัวเองไม่มีทางเป็นแบบผู้เป็นพ่อได้ เพราะยุคสมัยนั้นต่างกัน

นายวราวุธ ยังยอมรับด้วยว่า ตัวเองเก่งสู้กับหัวหน้าพรรคคนก่อนๆ ไม่ได้ จึงต้องใช้เรื่องทีมเวิร์คที่เข้มแข็งมาสร้างความแข็งแกร่งให้กับพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งทีมเวิร์คที่ว่า คือ อาศัยการทำงานของทุกเจเนอเรชั่น


หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาคนปัจจุบัน ระบุว่า ตั้งแต่ตนเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เราเห็นแล้วว่าการทำงานจะทำคนเดียวไม่ได้ หรือทำ Gen เดียวไม่ได้ ในพรรคเรามี Gen B (baby boomer) เป็นกลุ่มคนที่เราทิ้งไม่ได้ แต่ต้องทำให้ Gen Y และ Gen Z เข้ามามีส่วนร่วม

เพราะบางเรื่องตนไม่ได้เก่ง อาจจะให้นายกนก วงษ์ตระหง่าน นายสันติ กีระนันทน์ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองหัวหน้าพรรค และนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค ไปขึ้นเวทีดีเบตแทน หรือให้คนรุ่นใหม่ Gen Y และ Gen Z ที่มาแรงไปขึ้นเวทีแทนหากเรื่องนั้นเราไม่สันทัด

“หัวหน้าพรรคไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง เรื่องไหนใครเก่ง เรื่องนั้นสามารถมอบหมายได้ จึงเป็นที่มาแนวคิดที่ว่า “คิดโดย Gen Z ทำโดย Gen Y ปรึกษา Gen X และใช้ประสบการณ์ของ Gen B ทุก Gen เราทำงานร่วมกัน และเดินไปข้างพร้อมๆ กัน”

นายวราวุธ บอกว่า การเป็นผู้นำที่ดีต้องสามารถสื่อสารกับทุกเจเนอเรชั่นได้ สามารถเป็นสะพานเชื่อมความหลากหลายทางความคิด เชื่อมความหลากหลายทางอายุ ต้องรู้ว่าแต่ละรุ่นคิดอย่างไร เพราะไม่ได้แปลว่าความคิดเขาผิด เพียงแต่มันคิดต่างกัน มองต่างมุม แต่ต้องการผลลัพธ์เดียวกัน ดังนั้น จะประสานอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับสังคม

พรรคชาติไทยพัฒนายุคนี้ยังให้พื้นที่กับ ‘คนรุ่นใหม่’ ในพรรคอย่างเต็มที่ โดยกลุ่มดังกล่าวมีชื่อว่า ‘ไทยยังพัฒนา’ ที่แปลว่า ประเทศไทยยังสามารถพัฒนาได้อีก และ “ยัง” คำนี้มาจากคำว่า Young หมายถึงคนรุ่นใหม่ ที่สำคัญ น้องๆ กลุ่มนี้เป็นความหวัง และจะเป็นแขนงใหม่ของพรรคชาติไทยพัฒนาที่จะให้ความรู้กับประชาชนต่อไป

ไม่เพียงเปิดกว้าง แต่ยังพร้อมรับฟังคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ โดย ‘วราวุธ’ เปิดเผยว่า ทุกวันนี้เวลาไปขึ้นเวทีดีเบต หรือเวทีต่างๆ บางคำถามต้องอาศัยถามเขาว่าคำถามนี้เราควรจะตอบอย่างไรให้ปัง

“ผมมีโอกาสคุยกับน้องๆ กลุ่มไทยยังพัฒนาแล้วเกิดความหวัง เกิดแรงบันดาลใจว่า สิ่งที่เราทำจะมีน้องๆ กลุ่มนี้มารับไม้ต่อ บางคนบอกว่าพรรคชาติไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นของศิลปอาชา แต่ในอนาคตอาจจะเป็น 1 ในน้องๆ กลุ่มนี้มาเป็นหัวหน้าพรรคต่อก็ได้ ค่อยๆ เปลี่ยนกันไป ดังนั้น พรรคชาติไทยพัฒนาจะเป็นสถาบันการเมืองที่ส่งต่อให้คนต่อไป”

ขณะเดียวกัน หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ยังกล่าวถึงนโยบาย ว้าว ไทยแลนด์ของพรรค และกระแสตอบรับในช่วงที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการยอมรับว่า บางนโยบายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเข้าใจยาก แต่จำเป็นต้องทำ

เรารู้ตัวว่าบางเรื่องมันย่อยยากสำหรับประชาชนบางคน แต่ยืนยันว่าสิ่งที่เรานำเสนอถ้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในแบบที่เรานำเสนอ อีกไม่เกิน 5 ปี จะอยู่ไม่ได้แน่นอน เราเชื่อว่านโยบายที่ดีคือ ‘ต้องยั่งยืน’ เป็นนโยบายที่แก้ปัญหาวันนี้และแก้ปัญหาในอนาคตไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่เป็นดินพอกหางหมู ไปตายเอาดาบหน้า

พร้อมกับยกตัวอย่างนโยบายด้านสาธารณสุขว่า พรรคชาติไทยพัฒนานำเสนอนโยบาย ‘สุขภาพดีมีเงินคืน 3,000 บาท-สวัสดิการอัปเกรดได้’ แน่นอนว่าปัจจุบันมีนโยบายของรัฐบาลที่ถ้าเจ็บป่วยจะรักษาฟรี แต่ตนไม่อยากเห็นคนไทยเจ็บป่วย อยากให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เพราะจะทำให้ประเทศเกิดความยั่งยืน โดยในแต่ละปีรัฐบาลจะตั้งงบประมาณค่ารักษาพยาบาลไว้ 3,700 บาทต่อคน แต่ถ้าทั้งปีคุณไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เราควรจะนำเงินก้อนนี้มาคืนให้แก่ประชาชน 3,000 บาท

หรือนโยบายด้านเกษตร ‘เกษตรรุ่นใหม่ ขายคาร์บอนเครดิตได้’ ซึ่งเป็นคอนเซปต์ที่ใหม่มาก บางคนอาจมองว่ามันไกลตัว แต่มันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ และทั่วโลกให้ความสำคัญเรื่องนี้

“วันนี้เรากำลังนำเสนอ แนะนำ และขอร้องให้องค์กรเกษตรของบ้านเราปรับเปลี่ยน เพราะบ้านเรามักจะเจอเหตุแบบนี้บ่อยๆ อย่างเช่น IUU แบนเราเรื่องการประมง WADA แบนเราเรื่องกีฬา ICAO ปักธงแดงเราเรื่องการบิน ฉะนั้น วันนี้เราต้องเปลี่ยนก่อนที่คนอื่นจะมาแบนเราอีก อย่าให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำๆ เหมือนเมื่อก่อนเลย”

เขาย้ำว่า จุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนาคือ ต้องการความยั่งยืน ปัญหาเศรษฐกิจหลายเรื่องมันไม่ได้แก้ด้วยการที่อยู่ๆ เอาของไปให้เขา แต่แน่นอนว่าแต่ละพรรคมีความคิดเห็นแตกต่างกันไป เราเคารพในการนำเสนอ แต่ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนาเชื่อมั่นเรื่องความยั่งยืน อยากจะให้ประชาชนยืนได้ด้วยขาตัวเอง ความอุดมสมบูรณ์ ทรัพย์ในดินสินในน้ำมันจะต้องมาแปรเปลี่ยน ประเทศไทยจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วย

“การลด แลก แจก แถม มันแก้ได้ในระยะสั้น แล้วถ้ายังคิดแบบเดิม ทำแบบเดิมอยู่ จะมีกี่เลือกตั้ง จะอีกกี่นายกรัฐมนตรี จะเจอปัญหาเดิม”

สิ่งที่พรรคชาติไทยพัฒนานำเสนอวันนี้ เราต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อๆ ไป ตนเติบโตมากับการเมือง เห็นมาหลายอย่างแล้ว มันจะวนเวียนแบบเดิม วันนี้ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ ที่พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าต้องเลือกพรรคชาติไทยพัฒนา แต่เวลาเข้าสู่ถนนการเมือง ถ้าไม่คิดแบบใหม่ ทำแบบใหม่ มันจะวนอยู่ลูปเดิม ยกตัวอย่างเช่น พรรคชาติไทยพัฒนาปรารถนาเหลือเกินคือ ฝันเห็นระบบราชการที่นำระบบดิจิทัลมาใช้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และยังลดการทุจริตคอร์รัปชั่นได้

อย่างเรื่องภาษี ทุกวันนี้เรามีคนเสียภาษีแค่กลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียว แต่ในอนาคตเป็นไปได้หรือไม่ว่า ก่อนจะจ่ายภาษีเราสามารถเลือกได้ว่า ภาษีที่เราเสียไปนั้นอยากให้เอาไปทำเรื่องอะไร แล้วเราจะเห็นว่า คนที่จ่ายเงินทั้งประเทศเขาอยากเห็นประเทศไปแบบไหน

อย่างไรก็ดี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหนึ่งเดียวของพรรคชาติไทยพัฒนา ยังแสดงความเห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของทุกพรรคล้วนเป็นคนมีความสามารถ แต่อย่าเป็นเพียงแค่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ขอให้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยที่โลกกำลังเฝ้ารออยู่ เพราะวันนี้หลายบริบท หรือแม้แต่นโยบายที่พรรคชาติไทยพัฒนานำเสนอ มันเป็นเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ

อย่างเช่นเรื่อง การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ วันนี้ไม่มีผู้นำประเทศไหน ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนไม่แตะเรื่องนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของโลกที่โดนผลกระทบเต็มๆ จากธรรมชาติ นายกรัฐมนตรีในวันนี้จึงต้องตอบโจทย์สังคม เอาประเทศไทยไปเชื่อมโยงกับโลก ไปยืนบนเวทีโลก ขณะเดียวกัน ต้องเอาโลกทั้งใบมาเสริมให้คนไทยว่า มีอะไรดีๆ บนโลกนี้ที่คนไทยจะต้องได้ประโยชน์

ขณะที่ตัวเอง ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคนั้น มั่นใจว่าถ้าได้มีโอกาสทำงานจะไม่น้อยหน้า ไม่แพ้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคอื่น จะไม่ทำให้สมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนาและประชาชนคนไทยต้องผิดหวัง นอกจากนี้ ยังเป็นคนที่พร้อมรับการตรวจสอบและตอบคำถาม อย่างการทำงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ‘วราวุธ’ ยืนยันว่า สามารถตอบได้ทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่ข่าวคราวความไม่ชอบมาพากลในกระทรวงที่เขาเป็นรัฐมนตรีในช่วงที่ผ่านมา

อย่างกรณีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อปลายปี 2565 พอเกิดปัญหาแล้ว วันรุ่งขึ้นเราตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเลย หลังจากนั้นอีก 3 วันได้ข้อสรุปว่ามีมูลจริง จึงตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ต้องยอมรับว่า เงื่อนไขของราชการค่อนข้างเยอะ ถ้าเราทำผิดขั้นตอนจะเป็นช่องทางให้ผู้ที่ถูกฟ้องหลุดคดี ซึ่งพอเราทำตามขั้นตอนแล้ว ประมาณเดือนมกราคม 2566 จึงมีคำสั่งให้ออกจากราชการ เมื่อเกิดปัญหาแล้วเราไม่ได้ปกป้อง มีความโปร่งใสในการทำงาน จนเกิดมาเป็นผลสัมฤทธิ์

“การทำงานในกระทรวงที่ผ่านมา หากประชาชนต้องการถามอะไรผมยินดีตอบ เพราะทุกเรื่องในกระทรวง 4 ปีที่ผ่านมา ถามมาเถอะ ผมตอบได้ ยิ่งคำถามที่คิดว่าผมไม่อยากตอบ ผมยิ่งอยากให้ถาม เพราะจะได้โอกาสชี้แจงให้ประชาชนรับทราบว่า สิ่งที่หลายคนคิดในข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร”

ขณะที่ผลโพลที่คะแนนความนิยมของพรรคชาติไทยพัฒนา และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไม่ได้อยู่ในลำดับต้นๆ นั้น ‘วราวุธ’ ไม่ได้แสดงความกังวล และมองว่าผลโพลเป็นเหมือนแรงกระตุ้นว่า ยังบกพร่องอะไรบ้าง ประชาชนอยากจะเห็นอะไร และยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังให้การสนับสนุนพรรคเราอยู่ จะทำอย่างไรให้เขามีกำลังใจและสนับสนุนต่อ

นอกจากนี้ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ยังกล่าวถึงสูตรจับขั้วรัฐบาลที่มีการวิเคราะห์กันออกมาก่อนหน้านี้ว่า มีการคาดการณ์กันว่าจะเกิดสูตรนั้น สูตรนี้ ซึ่งเห็นมาอะไรมาแบบนี้ตั้งแต่เด็ก แต่พอเลือกตั้งเสร็จปรากฏว่าเปลี่ยน เพราะที่สุดแล้วตัวที่ตัดสินสมการการตั้งรัฐบาลคือ ผลการเลือกตั้งของแต่ละพรรคว่าได้เท่าไหร่ เชื่อว่าเช้าวันที่ 15 พ.ค. จะรู้กันคร่าวๆ แล้วว่าพรรคไหนได้เท่าไหร่ แล้วสูตรที่จะฟอร์มรัฐบาลจะเป็นอย่างไร

ส่วนสถานะ ‘ชาติไทยพัฒนา’ หลังการเลือกตั้งที่หลายคนฟันธงว่า พร้อมจะเสียบเป็นรัฐบาลนั้น ‘วราวุธ’ ยืนยันคำเดิมเหมือนที่ได้อธิบายไปแล้วหลายครั้งว่า ตั้งแต่เกิดมายังไม่เห็นพรรคการเมืองไหนตั้งต้นด้วยการเริ่มต้นว่าเลือกตั้งหนนี้จะขอเป็นฝ่ายค้าน ไปขึ้นเวทีดีเบตไหนไม่เคยได้ยินพรรคไหนบอกอยากเป็นฝ่ายค้าน เพราะถ้าพูดอย่างนั้นคนไม่เลือกแน่นอน แต่เป้าหมายของทุกพรรคคือ เอานโยบายขึ้นมาพูด เอาไปทำให้ประชาชน ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้ต่างอะไรจากพรรคอื่น เพียงแต่เมื่อเราเน้นเรื่องการทำงาน ไม่ได้เน้นสร้างศัตรู ทุกพรรคจึงไว้ใจที่จะเอาพรรคชาติไทยพัฒนาไปทำงานด้วย เพราะเป็นพรรคที่ไม่มีปัญหา

“เราไม่เคยมีเรื่องกับใคร เพราะเราเชื่อว่าการมีเรื่องไม่ทำให้งานเดิน การมีเรื่องไม่ทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า การมีศัตรูเพียงหนึ่งคนยังถือว่ามากไป มีมิตรร้อยคนก็น้อยไป ฉะนั้น การทำงานโดยไม่มีศัตรูมันจะทำให้เดินไปข้างหน้ามั่นคงกว่า ไม่ต้องมาระวังข้างหลังว่าใครจะแทงเราหรือไม่”

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ ‘พรรคชาติไทยพัฒนา’ ยืนหยัดอยู่ถึงวันนี้คือ ‘สัจจะ – กตัญญู’ โดย ‘ทายาทมังกรการเมือง’ ประกาศว่า ไม่ว่าพรรคจะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยอย่างไร จะมีคนเก่า คนใหม่ คนรุ่นใหม่เข้า-ออกมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงคือ คำๆ นี้ ที่ยึดถือมานาน

“สัจจะ กตัญญู ยังเป็นดีเอ็นเอของพรรคชาติไทยพัฒนา และกับคนรุ่นต่อๆไป และไม่ได้มีแค่ในวงการการเมืองเท่านั้น ในชีวิตเมื่อรับปากกับใครแล้ว เราต้องทำตามสัญญา แม้ตัวจะตายไปก็ต้องทำตามสัญญา บางคนอาจจะโต้แย้งว่าไม่จริงหรอกพรรคปลาไหล ต้องบอกว่าย้อนกลับไปดูการทำงานของพรรคชาติไทยพัฒนาว่าเราทำงานอย่างไร มีตรงไหนที่เราไหลบ้าง เราทำงานแบบยึดคำมั่น”

ส่วน ‘กตัญญู’ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า พรรคจะกตัญญูกับทุกคะแนนเสียงที่เลือกเรามา ความไว้วางใจที่ให้เรามาต้องสะท้อนกลับไปยังประชาชน ต้องกตัญญูรู้คุณกับแผ่นดินเกิด ประเทศไทยเราเดินมาภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ต้องทดแทนคุณแผ่นดินไทย

เขาฝากในตอนท้ายว่า ในวันที่ 14 พ.ค.นี้ อยากให้ทุกคนให้โอกาสพรรคชาติไทยพัฒนา เบอร์ 18 เข้ามาทำงาน เพราะมั่นใจว่าสิ่งที่ได้นำเสนอให้กับประชาชนในวันนี้ ถึงแม้จะไม่มีลด แลก แจก แถม แต่เป็นเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยให้ลูกหลานสืบต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหล่าดาราร่วมสนุกงานกาชาด 'มูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ' ปลื้มเตรียมส่งความสุขต่อต้นปี

บรรยากาศภายในงาน "กาชาด 2567" ที่จัดขึ้นไปแล้วระหว่างวันที่ 11-22 ธ.ค.ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยความคึกคัก โดยเฉพาะที่บูธของ "มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์" ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก

'วราวุธ' ย้ำ 'ชทพ.' ยึดธง 'แก้ รธน.' ตามแบบปี 40 ชี้ หากจะแก้ทั้งที ควรใช้เวลา

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพั

จุดยืนไทยต่อเวทีโลกเดือด COP29

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาติดอันดับท็อปเท็นของโลกที่มีความเสี่ยงสูงจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศในระยะยาว   EM-DAT  รายงานข้อมูล 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2565 ประเทศไทยเผชิญกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว 146 ครั้ง สร้างความสูญเสียต่อชีวิต 0.21