จบ! ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยกคำขอของ 'สืบพงษ์' ให้ทุเลาถอดพ้นอธิการบดีม.รามฯ

สืบพงษ์ ปราบใหญ่

ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยกคำขอของนายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลา การบังคับตามมติและคำสั่งที่ถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

3 พ.ค. 2566 -​ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา คำร้องที่ ๒๘๐/๒๕๖๖ คำสั่งที่ ๗๔๔/๒๕๖๖ ในคดีของศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ บ.๓๖๒/๒๕๖๕ ระหว่าง นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ผู้ฟ้องคดี กับ สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ ๑ ศาสตราจารย์ สมบูรณ์ สุขสำราญ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ ๒ นายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ ๓ และผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญชาล ทองประยูร ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เดิมผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีมติในการประชุมครั้งที่ ๒๑/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ ๑๑๙/๒๕๖๕ และที่ ๑๒๐/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และแต่งตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติและคำสั่งดังกล่าว รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ทุเลาการบังคับตามมติและคำสั่งที่ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และที่แต่งตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อ้างเหตุถอดถอนว่า ผู้ฟ้องคดีใช้คุณวุฒิปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.พ. มาสมัครเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งอาจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติไม่มีฐานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมาแต่แรก และแสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ขาดจริยธรรมนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวเป็นวาระเพื่อพิจารณาในการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ โดยที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้พิจารณาข้อมูลจากสำนักงาน ก.พ. อีกครั้ง

ในการประชุมเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๕ โดยผู้ฟ้องคดีได้เข้าร่วมประชุมด้วย และได้ชี้แจงต่อที่ประชุมเกี่ยวกับคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในการมีมติถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อ้างเหตุถอดถอนว่า ผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์ให้ความช่วยเหลือ แก่นาย ส. ซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ โดยการรับโอนที่ดินจากนาย ส. จำนวน ๒ แปลง และกล่าวอ้างว่า เงินของนาย ส. ที่ถูกยึดเป็นของกลางส่วนหนึ่ง จำนวน ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินของผู้ฟ้องคดี และเมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีจนกระทั่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ที่ดินและเงินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างตกเป็นของแผ่นดิน ผู้ฟ้องคดีก็ไม่ได้รายงานให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นต้นสังกัดทราบ การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณของผู้บริหารตามที่กฎหมายกำหนด และกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อ้างเหตุถอดถอนว่า ผู้ฟ้องคดียื่นหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์ โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นการกระทำที่ขาดไร้จริยธรรมและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่จำต้องพิจารณาว่าการดำเนินการของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อนมีมติถอดถอนผู้ฟ้องคดีในทั้งสองกรณีดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่มีผลทำให้ขั้นตอนในการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อนที่จะมีมติถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วยเหตุพฤติการณ์การกระทำของผู้ฟ้องคดีในกรณีที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดีเปลี่ยนแปลงไป ในชั้นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่า มติและคำสั่งที่ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และที่แต่งตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ครบองค์ประกอบตามกฎหมายที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติและคำสั่งดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีได้

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองกลาง เป็นยกคำขอของผู้ฟ้องคดี ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติและคำสั่งที่ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และที่แต่งตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จตุพร-วัชระ' จับมือฟาด 'ทักษิณ' สร้างบาดแผลให้ประเทศ

“จตุพร-วัชระ” จับมือฟาด “ทักษิณ”บาดแผลประเทศ “วัชระ” กังวลผู้นำการเมืองไม่มีรากเหง้าเป็นเครื่องมือต่างชาติครอบงำความคิดเด็กเยาวชนเป็นอันตรายต่อประเทศ

รมว.แรงงาน “พิพัฒน์” รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น นำความรู้ปรับใช้พัฒนาสังคม และประเทศ ในวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

วันที่ 17 มกราคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รับรางวัล “ศิษย์เก่าดีเด่น” จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ประจำปี พ.ศ. 2566

ศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคำฟ้อง 'สืบพงษ์' ฟ้องสภาม.ราม จำหน่ายคดีออกจากสารบบ พ้นสภาพอาจารย์

ม.รามคำแหง แพร่ข่าว ศาลปกครองสูงสุด ไม่รับฟ้อง 'สืบพงษ์ ปราบใหญ่' อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง ฟ้องสภาฯม.ราม จำหน่ายคดีออกจากสารบบ ระบุชัด'สืบพงษ์ ใช้ วุฒิป.เอก ไม่มีตัวตน ยืนยันพ้นสภาพอาจารย์ม.รามฯ

'อว.' แจงศาลปค.ไม่พิจารณาคุณวุฒิ 'ดร.สืบพงษ์' เหตุ 'ACICS' ไม่รับรองวิทยฐานะ

มีรายงานความคืบหน้าปัญหาคุณวุฒิ นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังจากเกิดข้อพิพาพกับสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการฟ้องร้องกันอย่างยืดเยื้อ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(อว.)