'บิ๊กตู่' โพสต์วัดชีพจรประเทศไทยพบสัญญาณบวกหลายมิติ ส่งผลเศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่อง ชี้ผลจากการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน
03 พ.ค.2566 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-Chan-o-cha ระบุว่า พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ โลกยังเต็มไปด้วยความท้าทายและความไม่แน่นอน เศรษฐกิจโลก และสงครามความขัดแย้ง ในมุมหนึ่งของโลก ส่งผลย้อนกลับมาสู่ปัญหาปากท้องของคนไทย-สังคมไทย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นในการประชุม ครม.ทุกครั้ง จึงได้หยิบยกข้อมูล-ข้อเท็จจริงต่างๆ มาหารือกับคณะรัฐมนตรี เหมือนการวัดชีพจรประเทศไทย เพื่อประเมินศักยภาพและหาแนวทางป้องกัน แก้ไข หรือปรับแผนการดำเนินงานต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ
โดยผลการประเมินผลล่าสุด มีสัญญาณบวกในหลายมิติ สรุปได้ดังนี้ 1.เศรษฐกิจในภาพรวมปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 3.6% มีปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ, การบริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกภูมิภาค, อัตราเงินเฟ้อลดลง อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มี.ค.2566 ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 10 ปี ในขณะที่อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% นับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุด และเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี
2.ภาคเกษตรกรรมและการส่งออก 1. การส่งออกข้าวช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 ไทยเป็นอันดับ 2 ประเทศผู้ส่งออกข้าวของโลก รวมกว่า 1.4 ล้านตัน มูลค่าเพิ่มขึ้น 38.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการข้าวในตลาดโลก ในขณะที่การส่งออกทุเรียนสดไปยังประเทศจีนในปีนี้ คาดว่าไม่น้อยกว่า 700,000 ตัน มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท และ 2.การส่งออกสินค้าประมง หลังจากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหา IUU ได้สำเร็จ นานาชาติเชื่อมั่นการประมงไทย ส่งผลให้มียอดส่งออกปี 65 สูงขึ้นกว่า 2.29 แสนล้านบาท สำหรับการส่งออกรายสินค้าอื่นๆ ที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ ภาพรวมปี 65 มีมูลค่า 73,603.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 25.6% ของมูลค่าส่งออกรวม
3. ภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนจากต่างประเทศ 1.การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม EV ของรัฐบาล ส่งผลให้มียอดจดทะเบียน EV เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยช่วง ม.ค.-มี.ค.2566 นี้ มีจำนวนเพิ่มจาก 4,543 - 7,335 - 8,522 คัน ตามลำดับ ในขณะที่สำนักข่าว Nikkei ของญี่ปุ่น มองว่าไทยจะเป็นจุดหมายสำคัญของนักลงทุนญี่ปุ่น - จีน - เกาหลีใต้ สำหรับฐานการผลิตชิ้นส่วนและรถยนต์ EV ซึ่งปัจจุบันกำลังพิจารณาการลงทุน และเพิ่มเติมกำลังการผลิตในไทยด้วย 2.การลงทุนของบริษัทต่างชาติในไทย ไตรมาสแรกปี 2566 มีมูลค่า 33,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 2565 กว่า 25% ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ขณะที่ประมาณ 18% ของนักลงทุนทั้งหมด สนใจลงทุนในพื้นที่ EEC มีมูลค่าการลงทุน 3,264 ล้านบาท และ 3.
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถพัฒนาแรงงานและส่งเสริมการประกอบอาชีพ ทำให้แรงงานมีทักษะฝีมือเพิ่มสูงขึ้น สามารถปรับตัวเท่าทันเทคโนโลยี เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและนอกประเทศ จำนวน 5,255,833 คน ส่งผลให้มีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้นเป็น 13,775 บาทต่อคนต่อเดือน หรือเฉลี่ย 157,890 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งในปี 2566 นี้ รัฐบาลตั้งเป้าจัดส่งแรงงานโดยภาครัฐไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 11,300 คน
4.การท่องเที่ยวและบริการ 1.ภาคการท่องเที่ยวไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ตั้งแต่ต้นปี 66 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเยือนไทยในช่วง ม.ค.-มี.ค.2566 สะสมอยู่ที่ 6,465,737 คน สร้างรายได้รวม 256,194 ล้านบาท โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ 25 – 30 ล้านคน เพื่อดึงรายได้เข้าประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และ 2.การขับเคลื่อนนโยบายสร้างมูลค่าเพิ่มจาก Soft Power ทั้งสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม 5F มีเป้าหมายหารายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 1.5 ล้านล้านบาท ในปี 65 เป็น 3.45 ล้านล้านบาท ในปี 70 หรือประมาณ 15% ของ GDP
พล.อ.ประยุทธ์โพสต์อีกว่า สถิติเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ซึ่งประเทศไทยไม่เคยหยุดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แม้จะเกิดวิกฤตโลกกินเวลายาวนานกว่า 3 ปี เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในวันข้างหน้า นอกจากนี้ ผมยังได้พยายามสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ตั้งแต่ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง เพื่อให้มั่นใจว่ารายได้เข้าประเทศที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ ได้กระจายไปสู่ประชาชนให้ได้มากที่สุด และในทุกภูมิภาคของประเทศอีกด้วยครับ