ระทึก! กกต. เผยอีก 1-2 วันนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

กกต.เปิดศูนย์ต้านเฟคนิวส์ "ฐิติเชฎฐ์" ยันไม่ใช้เป็นเครื่องมือจ้องทำลาย แต่หวังป้องปราม หลังมีบทเรียนเลือกตั้ง 62 ข่าวปลอมสะพัดไม่ต่างเลือกตั้งครั้งนี้ "ปกรณ์" เผยจับตาดีเบต "ธนาธร –หมอมิ้งค์" ใส่ร้าย กกต.เปลี่ยนสูตรคำนวนส.ส.หวังคะแนนเสียง แย้มอีก 2 วันอาจมีข่าวใหญ่ อุบรายละเอียด

2 พ.ค.2566 - ที่สำนักงาน​คณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.)​ นายปกรณ์ มหรรณพ และนายฐิติเชฎฐ์ นุชนาฎ กกต. แถลงข่าวเปิดศูนย์ปฏิบัติงานคณะกรรมการต่อต้านข่าวเท็จ ที่จัดขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานกกต. และชี้แจงทำความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานให้ประชาชนรับทราบ และเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของกกต.

โดยนายฐิติเชฎฐ์ กล่าวว่า กกต.มีมติให้จัดตั้งศูนย์ดังกล่าว เพื่อให้มีคณะกรรมการต่อต้านข่าวเท็จ ขึ้นมาคอยตรวจสอบ และชี้แจงข้อเท็จจริง จากนั้นก็จะรายงานให้คณะกรรมการเลือกตั้งได้รับทราบโดยจะเน้นการชี้แจงข่าวเท็จจริงและไม่เป็นความจริงเพื่อให้ทันต่อการแก้ไขสถานการณ์ เนื่องจากในการเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2562 พบว่ามีข่าวเท็จจำนวนมาก ที่ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของกกต. ซึ่งในครั้งนั้นอาจเกิดจากการว่างเว้นการเลือกตั้งถึง 7 ปี ซึ่งข่าวที่ไม่เป็นความจริงเป็นการทำลายและทำให้การทำงานของกกต.ไม่ราบรื่น และในครั้งนั้นก็ได้มีการแจ้งความดำเนินคดี และศาลก็ได้มีคำพิพากษาแล้ว และในการเลือกตั้ง ปี 2566 ก็คาดว่าน่าจะมีข่าว เหมือนเช่นปี 2562 โดยผู้ที่ไม่หวังดี ยังมีอยู่ แม้กกต. จะให้ข้อมูลมากเพียงไร ก็ยังมีผู้ที่มีอคติต่อการทำงานของกกต.ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยง จึงยังมีข่าวเท็จเผยแพร่ในโซเชียล โดยได้มีการแจ้งต่อผู้โพสต์หากยังไม่แก้ไข ก็จะมีการดำเนินคดีต่อผู้ให้ข่าวและผู้ประสงค์ดีกับกกต. อย่างไรก็ตามกกต. ยังเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ใช่การใส่ร้ายหรือให้ความเท็จจริง

ด้านนายปกรณ์ กล่าวถึงข่าวก่อนหน้านี้ เช่น กรณีการยุบพรรคติดเทอร์โบ ก็ชี้แจงว่าเป็นการออกระเบียบตามกฎหมาย ซึ่งถ้าดูตามระเบียบแล้วจะเป็นการให้อำนาจเลขาธิการกกต.สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว และการพิจารณาก็เป็นการทำโดยไม่มีเวลา และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องยื่นหลักฐานต่อสู้ได้เต็มที่ รวมทั้งเรื่องการแบ่งเขตที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นการแบ่งเขตแบบไม่มีเขตหลัก เอาแต่ใจ ยืนยันว่าเรื่องนี้เราถูกด่าเป็นเดือน และศาลปกครองได้มีคำพิพากษาแล้วว่าเราทำโดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกกต.ทำตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด สิ่งที่เราทำเราให้เกียรติท่านที่เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ไม่ใช่ผู้แทนเขต รวมทั้งกรณีบัตรเลือกตั้งที่ยังถูกต้องข้อสังเกตรายละเอียดบัตรทั้งสองใบ โดยรายละเอียดในบัตรเลือกตั้งกกต.ไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่มาตรา 84 ของพ.รป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.เป็นผู้กำหนด

ส่วนเรื่องพิมพ์บัตรเลือกตั้งสำรองเกิน 7 ล้านเล่ม นายปกรณ์ยืนยันว่าเป็นเรื่องเกินจริง ที่จริงแล้วมีการพิมพ์บัตรสำรองแค่ 5 ล้านใบ เท่านั้น เนื่องจากการพิมพ์บัตรต้องพิมพ์เป็นเล่มและสำรองแต่ละหน่วยเลือกตั้งๆ ละ 1 เล่ม ซึ่งประเทศไทยมีประมาณ 1 แสนหน่วย ฉะนั้นก็สำรองส่วนนี้ 2 ล้านใบ รวมทั้งสำรองให้กรรมการประจำหน่วยและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหน่วยเลือกตั้งที่จะใช้สิทธิในหน่วยดังกล่าวอีก 1 เล่ม ทั้งสองส่วนนี้ก็เกือบ 4 ล้านใบแล้ว นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความผิดพลาดในการพิมพ์ ที่บางเล่ม มีจำนวนไม่ครบ หรือการพิมพ์ผิดพลาด ก็ต้องสำรองไว้อีก 1 ล้านใบ รวมแล้วก็เกือบ 5 ล้านใบ โดยเรื่องการพิมพ์บัตรสำรองดูตัวอย่างได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้สิทธิ 94 คนที่ซูดาน ที่เราต้องทิ้งบัตรเลือกตั้งนอกราชของทั้ง 94 คน หากเกิดกับประเทศใหญ่จะทำอย่างไร

“เราไม่จำเป็นต้องพิมพ์บัตรมากเกินไปแต่ต้องสำรองไม่ให้ผิดพลาด ต้องไม่มีการทุจริตในเรื่องบัตรเลือกตั้ง ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปิดการลงคะแนนทุกหน่วยจะติดประกาศที่หน้าหน่วยให้ทราบว่าใช้บัตรเลือกตั้งไปเท่าไร ผู้ใช้สิทธิเท่าไร เราถึงให้ความมั่นใจกับท่าน หากเกิดความผิดพลาดเล็กน้อย เราได้แก้ไขในทันทีและจัดให้ถูกต้องโดยเร็ว การผิดพลาดเกิดขึ้นได้ แต่ต้องไม่เกิดจากการเกิดทุจริต “

นายปกรณ์ ยังกล่าวถึงกรณีมีข่าวว่าจะมีการยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง โดยย้ำว่า ไม่มีสัญญาณ เรื่องการยุบพรรค แต่มันอาจจะมีอะไรเกิดขึ้นในช่วง 1-2 วันนี้ ซึ่งเรื่องอะไรที่ไม่ถูกต้องจะแจ้งให้ทราบ ไม่มีอะไรปิดบัง ตนมีวาระอีกไม่นาน ยืนยันจะการทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ขอให้สัญญาด้วยตำแหน่ง

เมื่อถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น นายปกรณ์ ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นเรื่องอะไรแม้สื่อมวลชนพยายามจะถามว่าเรื่องการยุบพรรคหรือไม่ นายปกรณ์ ก็ปฏิเสธว่าอย่าไปคิดขนาดนั้น

ขณะที่นายฐิติเชฎฐ์ กล่าวเสริมว่า 4 ปีที่ผ่านมา ไม่มีประวัติ ในเรื่องการไม่สุจริต เที่ยงธรรม ตำแหน่งที่ผ่านมาเป็นเครื่องการันตี ข่าวที่เป็นเท็จจะต้องยุติ

นายปกรณ์ กล่าวชี้แจงถึงการติดตามข่าวที่มีผลกระทบต่อการทำงานของกกต. โดยจะเน้นไปที่ต้นตอของข่าวที่จะมีการพิจารณาถึงการดำเนินคดี เบื้องต้นมี 2 เรื่อง กรณีการจัดดีเบตที่จ.ชลบุรี ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ใช้คำพูดระบุว่า “ปี 62 กกต.เปลี่ยนแปลงสูตรการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ และกรณี น.พ.พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช แกนนำพรรคเพื่อไทย ดีเบตในเวทีเนชั่น ระบุว่า กกต.เปลี่ยนสูตรการคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการดำเนินการของกกต.ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ยังใช้คำพูดเหล่านี้เพื่อให้ตนได้คะแนนนิยม ซึ่งกกต.จะพิจารณาเรื่องนี้หลังการเลือกตั้งเพราะถ้าทำตอนนี้จะมีผลต่อคะแนนเสียง เบื้องต้นให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมข้อมูล ซึ่งการจะดำเนินคดีกับใครนั้นจะเป็นมติของกกต.

อย่างไรตามต้องขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่สื่อมวลชนพยายามขอให้วิจารณ์การทำงานของกกต. แต่นายเศรษฐาก็ไม่พูดถึงกกต.เป็นการส่วนตัว

“มีหลายเรื่องจบไปแล้ว แต่ก็ยังเอามาพูดให้ได้คะแนนเสียง ว่ากกต.ผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันถูกต้องสมควรหรือไม่ ท่านมีสิทธิเราเคารพในสิทธิของท่าน ท่านก็ต้องเคารพในสิทธิของเราด้วย” นายปกรณ์ กล่าวและว่า ต้องยอมรับตรง ๆ ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องอ่อนไหว ซึ่งเราพยายามอดทนไม่ให้เป็นคดี ทั้งนี้ในการประชุมกกต.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการพิจารณาเรื่องคนที่ด่าเรา ว่าเรา แต่ที่ประชุมก็มีมติไม่ดำเนินคดี จะดำเนินคดีเฉพาะต้นตอ และเรื่องที่ไม่ความจริง ส่งผลต่อให้การเลือกตั้งไม่สุจริต และอดทนและใช้ช่องทางชี้แจง

นายปกรณ์ ยังกล่าวถึงเรื่องการปล่อยข่าวอย่างการเลือกตั้งปี 62 ที่มีการปล่อยข่าวเรื่องขนบัตรเลือกตั้งเถื่อนที่ลานจอดรถสำนักงานกกต. ที่สุดท้ายหลังการเลือกตั้งก็มาขอโทษ

“ยืนยันทำงานด้วยความสุจริต โดยผมได้รับการสรรหาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พร้อมด้วยนายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี แต่ก็ถูกมองว่ากกต.มาจากคสช. 4-5 ปีที่มาทำงาน ไม่เคยคุย หรือรับประทานอาหาร ร่วมกับนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ไม่เคยพูด คุย เคยเจอในงานพิธี ผมรู้จักเขา เขาไม่รู้จักผม จึงยืนยันได้ว่าผมไม่ได้มาจากใคร “

ด้านนายฐิติเชฎฐ์ เสริมว่า ไม่สมควร นำมาพูดอีกเพราะจะทำให้ประชาชนสับสน โดยเฉพาะเยาวชน วัย 18 ปี ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะเมื่อปี 62 เขาอาจจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และไม่ทราบคำวินิจฉัยของศาล จึงเป็นจุดเปราะบางที่อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน

นายฐิติเชฎฐ์ กล่าวถึงการตั้งศูนย์แก้ไขข่าว ว่าไม่ต้องการเพื่อมุ่งทำลายฝ่ายใด แต่ป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามเหมือนการเลือกตั้งปี 62 การดำเนินคดีผู้ไปแสดงความคิดเห็นไม่สามารถดำเนินคดีได้กับทุกคน เราจะดำเนินคดีกับต้นตอ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งที่แล้วหลังเลือกตั้งก็มาขอขมา เราจึงต้องตั้งศูนย์เพื่อมาปกป้ององค์กร ไม่ให้มาก้าวล่วง ไม่เป็นธรรมกับการทำงาน อะไรที่ไม่ทำให้การเลือกตั้ง เสี่ยงต่อการไม่สุจริตเราอาจจะปล่อยผ่าน แต่หากผิดซ้ำซาก กลุ่มคนเดิมๆ ต้องดำเนินคดีแน่ แต่ไม่ดำเนินการกับความคิดเห็นที่สุจริต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต. เร่งถกคำร้อง 614 เรื่อง คาดประกาศรับรอง สว.ชุดใหม่ สัปดาห์หน้า

ภายหลังการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา และมีผู้ได้รับเลือก เป็นสว. จำนวน 200 คน และสำรองอีก 100 คน ปรากฏว่าที่ผ่านมามีการเข้ามาร้องเรียน

เปิดภารกิจสำคัญ 'สว.ชุดใหม่' เลือกองค์กรอิสระ 12 ตำแหน่ง พ้นวาระปีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 200 คน และบัญชีสำรองอีก 100 คนนั้น ซึ่งตามอำนาจหน้าที่ของ สว. นอกจากการกลั่นกรองพิจารณากฎหมาย และการติดตามตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลแล้ว

โฆษกก้าวไกล ชี้บทพิสูจน์ผลงาน สว.ชุดใหม่ ออกแบบ ส.ส.ร. ต้องมาจากเลือกตั้ง 100%

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า ทุกอย่างเป็นผลลัพธ์กระบวนการเลือก สว.ในรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องสำคัญเฉพาะหน้าคือ ทำอย่างไรให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)