54 ปี กฟผ. มุ่ง Go Green เพื่อ Green Growth

ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งเร้าให้ทั่วโลกเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น หน่วยงานวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงาน หรือ Ember พบว่า เมื่อปีที่แล้ว (2565) การผลิตไฟฟ้าทั่วโลกมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์รวมกันเกือบ 40% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 24% ส่วนพลังงานลมเพิ่มขึ้น 17%

แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะอยู่ระหว่าง ‘ยกเครื่อง’ แผนพลังงานชาติเพื่อเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) แต่ก็มีเป้าหมายชัดเจนในการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 50% ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์พลังงานสะอาดตามเทรนด์โลกเท่านั้น แต่ยังเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนระหว่างประเทศ ลดความกดดันทางการค้าจากมาตรการภาษีคาร์บอน เช่น CBAM ของสหภาพยุโรปที่คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในเดือนตุลาคมนี้ โดยในภาคพลังงานไฟฟ้ามีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เป็นแม่ทัพหลักในการขับเคลื่อนไฟฟ้าสีเขียวตั้งแต่ต้นน้ำของการผลิตไฟฟ้า การส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า ครอบคลุมไปจนถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นปลายน้ำด้วย

รุกขยายโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสาน

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ. หรือ โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ถือเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด ไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น และมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำเนื่องจากใช้ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมอย่างเต็มประสิทธิภาพ จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั่วโลกผ่านโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตไฟฟ้าประมาณ 47,000 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่าประมาณ 37,600 ไร่

ในปี 2566 กฟผ. ได้เร่งเดินหน้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ชุดที่ 1 กำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ ซึ่งจะกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปี โดยต่อยอดเพิ่มเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานให้ดียิ่งขึ้นด้วยการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กฟผ. มีศักยภาพดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนสูงถึง 10,000 เมกะวัตต์ โดยเตรียมเสนอโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าสีเขียวแบบเจาะจงแหล่งที่มาของภาคธุรกิจซึ่งสามารถยืนยันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและเป็นมาตรฐานสากล

ไม่หยุด...ศึกษาพลังงานทางเลือก

นอกจากโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแล้ว กฟผ. ยังศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด อาทิ การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) โดยนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้ามาแปรรูปเป็นเมทานอล นำร่องศึกษาใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง

นำร่องต้นแบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะด้วยสมาร์ทกริด

พลิกโฉม จ.แม่ฮ่องสอน สู่ต้นแบบเมืองสีเขียวด้วยโครงข่ายระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยนำเทคโนโลยีสมาร์ทกริดเข้ามาบริหารจัดการเชื่อมโยงระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์และโรงไฟฟ้าในพื้นที่ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างสมดุล รวมถึงติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานเพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรองจากไฟฟ้าสีเขียวอีกทางหนึ่ง ด้านการท่องเที่ยวได้ขยายสถานีชาร์จ EleX by EGAT และรถบัสไฟฟ้า (EV Bus) ไว้ให้บริการประชาชน พร้อมจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ กฟผ. แม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาดรองรับการท่องเที่ยวสีเขียวแบบครบวงจร

โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย

นอกจากเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวแล้ว ยังจำเป็นต้องพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) ควบคู่ไปด้วย เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าให้สามารถส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็น

  • โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ด้วยพลังน้ำที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำ สามารถปล่อยน้ำมาผลิตไฟฟ้าได้โดยใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที จึงรองรับความไม่เสถียรของไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างทันท่วงที ปัจจุบัน กฟผ. มีแผนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast Center) สามารถพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมงจนถึงอีก 7 วันข้างหน้า ทำให้สามารถบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย กฟผ. ตั้งเป้าจัดตั้ง RE Forecast Center 17 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นระดับภูมิภาค 6 แห่ง และระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนตามสถานีไฟฟ้าแรงสูงอีก 11 แห่ง คาดว่าเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการได้ในปี 2567
  • นำร่องปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงดิจิทัล(Digital Substation) เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมและส่งจ่ายไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงกันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงตราด จ.ตราด และอีก 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงสตูล จ.สตูล และสถานีไฟฟ้าแรงสูงแม่เมาะ 2 จ.ลำปาง คาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ในปีนี้

แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) ติดตั้งภายในสถานีไฟฟ้าแรงสูง

หนุนรับรอง REC สร้างแต้มต่อทางธุรกิจ

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยไฟฟ้าสีเขียวสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศจำเป็นต้องมีกลไกยืนยันการใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียวตามมาตรฐานสากล และการใช้ “ใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน” (Renewable Energy Certificate) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า REC เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าโรงงานหรือบริษัทนั้นใช้พลังงานสีเขียว จึงเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญและสามารถตอบโจทย์นักลงทุนได้ตามมาตรฐานสากล โดยปริมาณพลังงานไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์-ชั่วโมง มีค่าเท่ากับ 1 REC

The International REC Standard Foundation (I-REC) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มอบสิทธิ์ให้ กฟผ. เป็นผู้ออกใบรับรอง REC รายเดียวของประเทศไทย ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ออกใบรับรอง REC ให้แก่ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนของไทยแล้วกว่า 5.58 ล้าน REC โดยในปี 2565 การออกใบรับรอง REC ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 106% จากปี 2564 เพื่อสนับสนุนบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ของไทยในการเข้าถึงพลังงานสีเขียว เพิ่มแต้มต่อการแข่งในเวทีการค้าระดับโลก

เดินหน้าสู่สังคมสีเขียว เพิ่มพื้นที่-ลดคาร์บอน

การเติบโตสีเขียวอย่างยั่งยืน (Green Growth) ไม่เพียงมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคมซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทั้งด้านการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดย กฟผ. เปิดให้บริการสถานีชาร์จ EleX by EGAT และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้ว 120 แห่งทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าขยายสถานีให้ได้รวมกว่า 180 แห่ง ภายในปี 2566 รวมถึงขยายความร่วมมือจาก 5 หน่วยงานพันธมิตรเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีชาร์จอีวี เป็น 12 หน่วยงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้อีวีสามารถดูหมุดสถานีชาร์จข้ามค่ายได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ด้านการจัดการใช้พลังงาน (DSM) ที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 กฟผ. เตรียมยกระดับการใช้พลังงานของภาคประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้นและลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 โฉมใหม่ ที่นอกจากดาวยิ่งมากยิ่งประหยัดไฟแล้ว ยังสามารถแสดงค่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเครื่องใช้ไฟฟ้า กำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนนี้ รวมถึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัย โรงงานอุตสาหกรรมติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงาน ENZY Platform และระบบกักเก็บพลังงาน ENZY Wall เพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอาคาร และลดค่าไฟฟ้าได้ด้วย

ส่งเสริมเยาวชนเรียนรู้กิจกรรมลดใช้พลังงาน

ระบบบริหารจัดการพลังงาน ENZY Platform

สำหรับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวผ่านโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม ทั้งป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน และป่าชายเลน ในปี 2565 สามารถเพิ่มพื้นที่ปลูกป่ารวมกว่า 1.03 แสนไร่ ตั้งเป้าปลูกป่าในปี 2566 จำนวน 1 แสนไร่ โดยมีเป้าหมายปลูกป่าให้ครบ 1 ล้านไร่ในปี 2574 

การเดินหน้าสู่สังคมสีเขียวมิใช่เป็นเพียงกระแสนิยมเท่านั้น แต่เป็นความจำเป็นที่ทุกคนในสังคมต้องร่วมกันตระหนักและเปลี่ยนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า โดย กฟผ. พร้อมร่วมเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันเพื่อให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพัฒนาชีวิตของชุมชนให้อยู่ดีมีสุข เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศในอนาคต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

3 การไฟฟ้า ชูแนวคิด Green Energy & Reliability ในงานประชุมคณะกรรมการปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า ครั้งที่ 53

วันนี้ (2 กรกฎาคม 2567) MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ร่วมประชุมคณะกรรมการปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า 3 การไฟฟ้า ครั้งที่ 53 ภายใต้แนวคิด Green Energy & Reliability โดยมี นายพิพัฒน์ ชลอำไพ รองผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ในฐานะประธาน นายณัฐวุฒิ ผลประเสริฐ

กฟผ.เสริมศักยภาพท่องเที่ยวเกาะสมุย เตรียมขยายเคเบิลใต้น้ำเพิ่ม 1 เส้นรองรับฮับท่องเที่ยว

เกาะสมุยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและต่างชาติ เห็นได้จากหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย การท่องเที่ยวของเกาะสมุยกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

กฟผ. ลุยต่อโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ เขื่อนศรีนครินทร์ เปิดขายเอกสารประกวดราคา วันนี้ – 3 ก.ค. 67

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.

นักประดิษฐ์ กฟผ. คว้า 3 รางวัลใหญ่จากเวทีนานาชาติ “INTARG 2024” สาธารณรัฐโปแลนด์

“เรือสำรวจพร้อมระบบเก็บตัวอย่างน้ำแบบปลอดเชื้ออัตโนมัติ (สำหรับเก็บตัวอย่างน้ำทางจุลชีววิทยา)” ของนักประดิษฐ์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คว้า 3 รางวัลใหญ่

กฟผ. แจ้งเปลี่ยนกำหนดปิดการจราจรบนถนนมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 เพื่อขึงสายส่งไฟฟ้าเป็น 8 พ.ค. นี้

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปลี่ยนกำหนดดำเนินการขึงสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดข้ามถนน จากสถานีไฟฟ้าย่อยชลบุรี 2 ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยบ่อวิน จ.ชลบุรี

จอมพลังไทยฟอร์มเฉียบ EGATยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย 2567

นายไตรรัตน์ ชัยรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยนายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมพิธีปิดการแข่งขัน EGAT ยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2567 ณ โรงยิมเนเซียมเทศบาลเมืองทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช