พลิกปูมประวัติศาสตร์การเมืองไทย 'ยุบสภาผู้แทนราษฎร'


20 มี.ค.2566 - การยุบสภาผู้แทนราษฎร พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่เป็นการทั่วไปต้องไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบ

ล่าสุดวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2566 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ และได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งนี้การยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 14 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ได้มีการยุบสภามาแล้ว 13 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 พันเอก พระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2481 เนื่องจากได้มีการเสนอญัตติขอแก้ไขข้อบังคับการประชุม และการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 68 เกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเพื่อพิจารณารับหลักการของนายถวิลอุดม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด โดยเสนอขอให้รัฐบาลจัดทรายละเอียดของงบประมาณประจำปีในเวลาเสนองบต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามได้ และรายละเอียดบางข้อก็ไม่อาจเปิดเผยได้ ปรากฏว่ารัฐบาลแพ้มติสภาฯนายกรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง แต่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เห็นว่าสถานการณ์โลกยังไม่มั่นคงและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลกำลังจะเสด็จนิวัติพระนคร รัฐบาลจึงควรอยู่ต่อไปนายกรัฐมนตรีจึงขอให้ออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 ใหม่

ครั้งที่ 2 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2488 เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ได้มีพระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งต่ออีก 2 ครั้ง ทั้งนี้เพราะไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งในระหว่างสงครามขณะนั้นได้ (สงครามโลก ครั้งที่ 2 ) ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งนานเกินควรย่อมเป็นเหตุให้จิตใจ และความคิดเห็นของสมาชิกส่วนมากเหินห่างจากเจตนา และความประสงค์อันแท้จริงของราษฎร ประกอบกับรัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ บรรดาสมาชิกได้อภิปรายอย่างรุนแรง และลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับหลักการบางมาตราของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

ครั้งที่ 3 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2519 เนื่องจากเกิดปัญหาความแตกแยกและขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมในขณะนั้นอย่างรุนแรงอันเป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินและส่งผลกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลประกอบกับจะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2519 นายกรัฐมนตรีจึงได้ดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร

ครั้งที่ 4 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 เนื่องจากเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่างมีความเห็นแตกต่างกันไปหากให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวิธีการใหม่ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรงทางการเมือง รวมถึงความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจ สังคม ความสามัคคีของคนในชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้

ครั้งที่ 5 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 เนื่องจากรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2529 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาฯ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ลงมติไม่รับพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองของพรรคการเมืองบางพรรคหากให้สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ทำหน้าที่ต่อไปอาจเกิดผลกระทบต่อนโยบายของรัฐบาลอย่างรุนแรง และกระทบถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

ครั้งที่ 6 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาลอันส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน และการพัฒนาประเทศ

ครั้งที่ 7 นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2535 การยุบสภาในครั้งนี้สืบเนื่องจากการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช. ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองอย่างรุนแรง จากเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 โดยมีการเรียกร้องให้ พลเอก สุจินดา คราประยูร ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดให้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อจะได้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ คืนอำนาจให้กับประชาชน ซึ่งในขณะนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งและจะจัดตั้งรัฐบาลนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมือง รัฐบาลจึงได้ดำเนินการยุบสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

ครั้งที่ 8 นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค แต่ไม่ปรากฎว่ามีพรรคการเมืองใดที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล แต่ปรากฏว่าเกิดความแตกแยกในหลายพรรคการเมืองและระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจนไม่สามารถจะดำเนินการในทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ ประกอบกับได้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีจากผลการปฏิบัติงานเรื่องการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าท าประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน(ส.ป.ก. 4-01) และมีการลาออกของพรรคการเมือง (พรรคพลังธรรม)ร่วมรัฐบาล ซึ่งทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน

ครั้งที่ 9 นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 เหตุผลการยุบสภาฯภายหลังมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน พ.ศ. 2539 โดยฝ่ายค้านเน้นอภิปรายที่ตัวนายบรรหาร ศิลปอาชา เรื่องประเด็นสัญชาติ เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลมีมติร่วมกันว่าจะขอให้นายบรรหาร ศิลปอาชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งนายบรรหาร ศิลปะอาชา ก็ประกาศผ่านสื่อว่าจะลาออกภายใน 7 วัน โดยระหว่างนั้นจะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ก่อนจะเปลี่ยนใจประกาศยุบสภาในท้ายที่สุด

ครั้งที่ 10 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ภายหลังเข้ามาปฏิบัติภารกิจสำคัญๆ หลายประการจนแล้วเสร็จหรือลุล่วงลง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 (เศรษฐกิจฟองสบู่) ซึ่งทำให้พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประกอบกับรัฐสภาให้ความเห็นชอบกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาแล้ว จึงเป็นสาเหตุที่นำมาสู่การยุบสภา

ครั้งที่ 11 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2549 ภายหลังเกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมือง และได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แม้รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการเปิดให้มีการอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาลได้สภาพดังกล่าวย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงตัดสินใจประกาศยุบสภา

ครั้งที่ 12 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หลังจากเข้ามาคลี่คลายปัญหาทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมโดยเฉพาะเรื่องการเมือง ประกอบกับรัฐสภาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2550 ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเรียบร้อยแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงตัดสินใจคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชน ด้วยการประกาศยุบสภา

ครั้งที่ 13 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมจากหลายภาคส่วนร่วมกันเดินขบวนกดดันเจ้าหน้าที่รัฐตามสถานที่ราชการต่าง ๆ คัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พ.ศ. 2556 โดยสถานการณ์การชุมนุมยังคงส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อ และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการเปิดโอกาสให้ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันแต่ก็ไม่เป็นผล ดังนั้น น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงตัดสินใจประกาศยุบสภาโดยให้เหตุผลว่าเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง และเป็นการคืนอำนาจให้พี่น้องประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจกับการเลือกตั้งครั้งใหม่

เรียบเรียง ข้อมูลจาก มนัส สามารถกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ กลุ่มประสานงานการเมือง 4 กองประสานงานการเมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 20)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'นิพิฏฐ์' จะเสียภาษีให้น้อยที่สุด หวั่นถูกนำไปสร้างความเข้มแข็งให้นักการเมือง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กว่า มีคำกล่าวว่า “หากต้องการรู้ว่าประชาชนเป็นอย่างไรให้เป็นนักการเมือง หากต้อง