จังหวัดชัยภูมิเมืองเกษตรกรรม ที่มีความสำคัญในแง่การปลูกพืชสมุนไพร เป็นแหล่งรวบรวมสมุนไพรพันธุ์ดีและพันธุ์พื้นบ้าน เกษตรกรใช้ภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา ปลูกพืชสมุนไพรกันมายาวนาน ขณะนี้เมืองชัยภูมิกำลังเดินหน้าขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองแห่งสมุนไพร เพื่อยกระดับพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชัยภูมิ
แนวคิดการพัฒนาเมืองสมุนไพรนี้ เริ่มขึ้นพร้อมกับการเดินหน้าส่งเสริมและทำงานในพื้นที่อย่างจริงจังของ”เครือข่ายสมุนไพรชัยภูมิ” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันดำเนินงานจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันวิชาการ และประชาชน เริ่มจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิสัมมาชีพและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ร่วมกับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 15 กลุ่ม ได้จับมือกันเข้าไปมีส่วนพัฒนาชุมชน พัฒนาเมืองชัยภูมิให้กลายเป็นแหล่งผลิตพืชสมุนไพร ที่สำคัญในภูมิภาคอีสาน
แนวคิดพื้นฐานแรกคือ การทำแปลงรวม เพื่อเตรียมความพร้อมและขยับสู่เมืองสมุนไพร คุณปิติมา ล่ามสมบัติ ประธานวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายสมุรไพรชัยภูมิ กล่าวว่า การทำแปลงรวมพันธุ์สมุนไพรนี้ มีแผนที่จะพัฒนาใน 7 อำเภอ แต่ตอนนี้เริ่มดำเนินการแล้ว 3 อำเภอ คือ คือ อ.ภูเขียว อ.จตุรัส และ อ.คอนสวรรค์ รวมพื้นที่ 15 ไร่ เน้นให้เป็นแปลงขยายพันธุ์สมุนไพรและสาธิตการเรียนรู้ให้กับสมาชิกกลุ่ม โดยมีแนวคิดสำคัญ ”สมุนไพรพื้นบ้าน อาหารเป็นยา” ผสานกับชุมชนรู้จักสมุนไพรใกล้ตัว เพราะพืชสมุนไพรเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของอาหารหลักของชาวอีสาน
“ แปลงรวมพันธุ์ในที่นี้ คือ การตั้งธนาคารพันธุ์ให้กับชุมชน แก้ปัญหาการกู้ยืมซื้อพันธุ์สมุนไพรจากบริษัทมาทำเกษตร เป็นหนี้เป็นสินและต้นทุนทำเกษตรก็สูง เราปรึกษาบริษัทไทยเบฟฯ และมูลนิธิสัมมาชีพ นำมาสู่ข้อเสนอการทำแปลงรวมพันธุ์ของแต่ละกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กล้าพันธุ์จากแปลงขายให้เครือข่าย ที่เหลือส่งขายผ่านช่องทางการตลาดอื่นๆ อย่างเช่น แปลงรวมอำเภอจตุรัสวางแผนจะปลูกพืชสมุนไพรเพื่อป้อนให้กับโรงพยาบาล ซึ่งมีโรงงานผลิตยาสมุนไพรไทย หรือแปลงรวมอำเภอภูเขียว เน้นตะไคร้ตัดใบ เกษตรกรจะมีรายได้ทุกเดือน ในขั้นตอนการตัดใบยังช่วยส่งเสริมให้คนในชุมชนได้ทำงานใกล้บ้านหลังเสร็จจากนา ไร่ มีรายได้มากขึ้น มีนักศึกษาจบปริญญาโทจาก ม.แม่โจ้มาทำสวนสมุนไพร เพราะรักเกษตรและช่วยแนะนำเสริมความเข้มแข็งให้สมาชิก เกิดคนรุ่นใหม่พัฒนาชุมชน“ ปิติมา บอก
การพัฒนาอาชีพกำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหญิงได้ย้ำให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น กินดี อยู่ดี มีสุข มีเงินเพิ่ม มีความมั่นคงทางอาหาร มีความมั่นคงทางยา มีความมั่นคงทางตลาด รวมถึงลดพื้นที่ใช้สารเคมีในชุมชน สมาชิกกลุ่มส่วนหนึ่งเป็นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีทางการเกษตร ชีวิตบอบช้ำมามาก จึงถอยและมาตั้งหลักใหม่ทำเกษตรอินทรีย์ คิดว่าตอนนี้การพัฒนาเดินมาได้ 70% แล้ว อีก 30% ต้องฝ่าฟันด้วยความตั้งใจของสมาชิก แต่ละกลุ่มสมาชิกยังสามารถขยายพื้นที่ปลูกสมุนไพรได้อีก ไม่จำเป็นต้องหาสมาชิกใหม่ แต่พัฒนาพื้นที่เครือข่ายสู่พื้นที่ต้นแบบ ทั้งนี้ จะพัฒนาต่อไปเพื่อเตรียมพร้อมให้ชัยภูมิเป็นเมืองสมุนไพร เมืองแห่งความสุข รวมถึงเน้นการพัฒนาความรู้และปราชญ์สมุนไพรให้ขยายเต็มพื้นที่ชัยภูมิ
สำหรับการสร้างชัยภูมิเมืองสมุนไพรนั้น นายพงศธร กลางแท่น เจ้าหน้าที่ชำนาญการโครงการพัฒนาชุมชน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนเมืองสมุนไพรชัยภูมิเริ่มจากการรวบรวมเครือข่ายสมุนไพรชัยภูมิ ซึ่งรวมทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา เกษตรกรใน 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ภูเขียว อ.เมือง อ.จตุรัส อ.แก่งคร้อ อ.คอนสวรรค์ อ.บำเหน็จณรงค์ และ อ.หนองบัวระเหว จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายสมุนไพรชัยภูมิ เมื่อปี 2565 เป้าหมายสำคัญเป็นศูนย์กลางรับซื้อสมุนไพรจากกลุ่มและเกษตรกรในพื้นที่ พัฒนาองค์ความรู้ด้านสมุนไพร ตลอดจนพัฒนาและขยายช่องทางการตลาด ปัจจุบัน 7 อำเภอ มีพื้นที่ปลูกสมุนไพรรวม 147 ไร่ และกำลังขยายพื้นที่ปลูกอีก 135 ไร่ รวมทั้งหมด 282 ไร่
เกษตรกรชัยภูมิมีทักษะการปลูกพืชสมุนไพร แต่ขาดองค์ความรู้ในการพัฒนาสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน GAP เป้าหมายของเครือข่ายมุ่งสู่เกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านสู่เกษตรอินทรีย์ ซึ่งการพัฒนาระบบการผลิตภาคการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้บริโภค จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นมีความยั่งยืนในภาคเกษตรชัยภูมิ เน้นพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้สามารถผลิตพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพและส่งเสริมการรวมกลุ่มผู้ผลิตพืชสมุนไพร
“ แต่เดิมชุมชนจะปลูกแปลงใครแปลงมัน เมื่อชุมชนดีมีรอยยิ้มชัยภูมิเข้ามาร่วมดำเนินงาน จึงพัฒนาสู่แปลงรวมพันธุ์สมุนไพรในพื้นที่นำร่อง 3 อำเภอ คือ อ.ภูเขียว อ.จตุรัส และ อ.คอนสวรรค์ พื้นที่ 15 ไร่ ซึ่งคัดเลือกจากความพร้อมด้านแหล่งน้ำ สมาชิก มีระบบบริหารจัดการและการตลาดที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับผลผลิตที่จะออกมา โดยจะเริ่มเพาะปลูกสมุนไพรเดือนมีนาคม 2566 นี้ ส่วนพันธุ์สมุนไพรขึ้นกับความถนัดของเกษตรกรและสภาพพื้นที่ แปลงรวมนำร่องนี้จะเป็นแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่สำคัญ“ นายพงศธร กล่าว
แผนระยะยาวของการขับเคลื่อนชัยภูมิเมืองสมุนไพรต้นแบบ มีแนวคิดจะขยายเครือข่ายสมุนไพรชัยภูมิให้ครบทุกอำเภอ ซึ่งภาคีเครือข่าย ไทยเบฟ พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ให้เกิดการขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) สู่การเป็นพื้นที่ต้นแบบ ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชน
นอกจากนี้ มีแผนการส่งเสริมสินค้าแปรรูปที่มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และผลักดันให้การเดินหน้าสู่เมืองสมุนไพรเป็นนโยบายหลักของจังหวัดชัยภูมิ ส่วนแนวทางการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์พืขสมุนไพรตั้งเป้าหมายภายในปี 2570 เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ดูแลปกป้องสุขภาพเกษตรกร รวมถึงสร้างสุขภาวะที่ดี ปัจจุบันยังมีปัญหาและอุปสรรคพื้นที่เกษตรโดยรอบสมาชิกเครือข่ายสมุนไพรเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวใช้สารเคมี ส่งผลให้มุ่งสู่เกษตรอินทรีย์ไม่ได้ทั้งหมด
“ รอยยิ้มและความสุขของชุมชนในชัยภูมิวันนี้ คือ การมีพื้นที่พูดคุย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความร่วมมือร่วมใจทำงานเป็นเครือข่าย เกิดมิตรภาพระหว่างอำเภอ ได้พบเจอเพื่อนใหม่ ปราชญ์ชุมชนได้ส่งต่อภูมิปัญญา ช่วยกันสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สร้างเศรษฐกิจชุมชน พึ่งพาตนเองได้ “ นายพงศธร กล่าวทิ้งท้ายถึงความสุขที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมและเป็นต้นแบบการพัฒนาอย่างแท้จริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ซึ้งใจมาหาถึงบ้าน” คาราวาน “ผ้าห่มผืนเขียว” เดินทางข้ามหุบเขา มอบไออุ่นถึงมือพี่น้องชาวพิษณุโลก
หากเอ่ยถึงจังหวัดภาคเหนือนตอนล่าง พิษณุโลกเป็นจังหวัด ที่มีลักษณะเป็นเทือกเขาและที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะตำบลบ่อภาค เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เข้าถึงยาก
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน'ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร นครนายก'
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังเขื่อนขุนด่านปราการชล อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ทรงเปิด “ศูนย์ฝึกอบรมสุดาเดือนเพ็ญและที่พักของมูลนิธิชัยพัฒนา” และงาน “ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร จังหวั
เตรียมปักหมุดสัมผัสลมหนาวใกล้เมืองกรุง ในงาน “ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร จังหวัดนครนายก” 12-15 ธันวาคม นี้
เตรียมปักหมุดเดินทางท่องเที่ยวสัมผัสลมหนาวใกล้เมืองกรุงฯ กันได้ในงาน “ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร จังหวัดนครนายก” ที่จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 12 -15 ธันวาคม นี้ ณ เขื่อนขุนด่านปราการชล
คาราวาน “ผ้าห่มผืนเขียว” ปีที่ 25 เดินทางสู้หนาว มอบรอยยิ้ม และไออุ่นถึงมือพี่น้องชาวหนองคาย
นับเป็นเวลา 25 ปี ที่คาราวาน "ผ้าห่มผืนเขียว" ในโครงการ “ไทยเบฟ..รวมใจต้านภัยหนาว" ได้ออกเดินทางส่งมอบรอยยิ้ม และความอบอุ่นไปยังพี่น้องผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ห่างไกล