กรรมการกระจายอำนาจท้องถิ่นชุดวิษณุ บอร์ดใหญ่อปท. ขวางขึ้นเงินเดือนอบต.ทั่วประเทศ 5,300 แห่ง เตือนหากทำ ท้องถิ่นขนาดเล็กบักโกรก มีแต่งบเงินเดือน ไม่มีเงินพัฒนาพื้นที่
11 ก.พ.2566 - นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กล่าวถึงความเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการขึ้นเงินเดือน-ค่าตอบแทน ให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลหรืออบต.ทั่วประเทศว่าเรื่องนี้เป็นกระแสที่เข้าใจว่าฝ่ายการเมืองไปจุดพลุ โยนหินถามทาง จะหาเสียงมากกว่า เพราะการจะให้ขึ้นเงินเดือนค่าตอบแทนให้กับคนที่ทำงานให้กับภาครัฐ ซึ่งคนที่อยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มหนึ่ง มันต้องมองเทียบกับกลุ่มข้าราชการกลุ่มอื่นๆด้วยทั้งหมด มองแบบเทียบกระดาน รวมถึงปัจจัยอื่นเช่น อัตราเงินเฟ้อ เรื่องเกี่ยวกับการคลังของภาครัฐและท้องถิ่น รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศแต่ละช่วงด้วย ว่ามันมีโอกาส มันมีความเหมาะสมหรือไม่
หากดูจากข้อเท็จจริงวันนี้จะพบว่า ยังไม่เห็นเลยว่าอัตราเงินเดือนของท้องถิ่นมันต่ำจนกระทั่งอยู่ไม่ได้ อยู่ไม่ไหว เพราะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ ยังไม่เห็นสัญญาณแบบนั้น โดยเฉพาะหากเทียบกับคนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำงานในภาครัฐ ก็ยังมองว่าคนที่อยู่ภาคราชการ ยังไงก็ยังอยู่อย่างมั่นคง สบายกว่าเยอะ ยิ่งข้าราชการท้องถิ่น ก็ยังมีโบนัสด้วย แต่ข้าราชการประเภทอื่นเขาไม่มี
"องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในความเห็นผม ยังไม่มีข้อมูล ไม่มีหลักฐานอะไร ที่จะให้ขึ้นเงินเดือน แต่เท่าที่ได้ยินข่าวมาประปรายกลายเป็นว่าเป็นเรื่องการให้สัญญาทางการเมืองอะไรมากกว่า ที่ก็อาจไม่ได้ผลอะไรเพราะของแบบนี้มันต้องมองทั้งระบบ ที่สำคัญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ที่มีร่วม 7,800 แห่งทั่วประเทศ จะพบว่า ท้องถิ่นแต่ละแห่งจะมีความสามารถทางการเงินการคลังแตกต่างกัน การจะให้ไปขึ้นเงินเดือนค่าตอบแทนเขาแล้วแบบนี้ ท้องถิ่นเล็กๆ ที่ไม่ได้มีเงินงบประมาณเยอะ จะทำอย่างไร เพราะหากขึ้นเงินเดือน เขาก็ต้องนำเงินของท้องถิ่นมาจ่ายให้ หากทำท้องถิ่นจะเหลือเงินแต่ละปีสักเท่าไหร่ในการนำงบมาพัฒนาบ้านเมือง ถ้าเป็นอบต.ราชาเทวะ รวยจนซื้อเสาไฟฟ้ามาปักจนไม่รูัจะปักที่ไหนแล้ว แบบนั้นก็ขึ้นเงินเดือนกันได้ แต่หากเป็นอบต. ห้วยปูลิง ที่แม่ฮ่องสอน เงินยังไม่มีทำงบราดถนน ต้องราดทีละข้าง ปีนี้ราดข้างซ้าย ปีหน้าราดข้างขวา แล้วเขาจะเงินที่ไหนมาขึ้นเงินเดือนให้อบต. “นายชาติชายกล่าว
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา แม้จะมีเรื่องของวินัยการเงินการคลังของท้องถิ่นคือ เงินเดือนค่าจ้างของท้องถิ่นต้องไม่เกินร้อยละสี่สิบของงบประมาณในการจ่ายแต่ละปี แต่ปัจจุบัน ก็ใช้งบเกินกันอยู่โดยใช้วิธีนำไปแฝงไว้ในการจ้างลูกจ้างหรือพนักงานโครงการของท้องถิ่น เรื่องการขึ้นเงินเดือนที่พูดกัน เห็นว่า ต้องดูให้ดี ในความเห็นผม จึงเห็นว่ามันยังไม่ถึงเวลาต้องขึ้นเงินเดือนให้อบต. เพราะหากไปขึ้นเงินเดือนโดยไม่ดูให้รอบคอบ ต่อไปจะไม่มีงบทำงานกัน จะมีแต่เงินเดือนคอยจ่ายให้แต่ละเดือน
นายชาติชาย กล่าวด้วยว่า กระบวนการขึ้นเงินเดือนให้ท้องถิ่น หากจะทำมีขั้นตอนอีกเยอะ เพื่อรองรับการขึ้นเงินเดือนดังกล่าว ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะต้องมีการถามความเห็นกระทรวงการคลังด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่ รวมถึงท่าทีของฝ่ายรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน อัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนของนายก อบต. และสมาชิกสภา อบต.ทั่วประเทศ ที่มีร่วม 5,300 แห่ง โดยมีสมาชิกอบต.ทั่วประเทศร่วมสี่แสนคน พบว่าอัตราเงินเดือนดังกล่าว อยู่ใน ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 โดยมีการวางเกณฑ์ไว้โดยใช้ฐานเรื่องของรายได้ที่จัดเก็บได้แต่ละปีของอบต.แต่ละแห่งเป็นเกณฑ์
ทั้งนี้หากอบต.ที่มีรายได้เกิน 50 ล้านบาท นายกฯอบต.มีเงินเดือนและค่าประจำตำแหน่งรวม 26,080 บาทต่อเดือน สมาชิกอบต.มีเงินเดือน 7,920 บาท
อบต.ที่มีรายได้ระหว่าง25-50 ล้านบาท ตัวนายกฯอบต.ได้ เงินเดือนรวมค่าประจำตำแหน่ง เดือนละ 24,920 บาท ส่วนสมาชิกอบต.ได้ 7,560 บาทต่อเดือน
สำหรับ อบต. ที่มีรายได้น้อยสุดคือ มีรายได้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อปี ตัวนายกฯอบต.ได้เงินเดือน 21,860 บาท ส่วนสมาชิกอบต.ได้ 6,630 บาทต่อเดือน เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'วราวุธ' เมิน 'เด็จพี่' ดิ้นพล่าน ยันศึกชิงนายก อบจ.สุพรรณฯ ผู้ใหญ่คุยกันแล้ว
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงการเลือกตั้งนายก อบจ. สุพรรณบุรี ว่า ใครอยู่พรรค ชทพ.เราก็เชียร์
เลขาฯกกต. ลั่นสนามเลือกตั้ง อบจ. ไม่มีเจ้าพ่อ กติกาไม่ดีอย่าโทษกรรมการ ต้องไปแก้กฎหมาย
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวตอนหนึ่งของการเสวนา “ความสำคัญของการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด” ว่า กกต.มีหน้าที่ในการจัดการเลือดตั้งให้ออกมาดี
ส่องนโยบายท้องถิ่น 'ดร.ตี๋ ชาตรี' ผู้สมัคร นายกอบจ.จันทบุรี เบอร์ 5
จากที่นายวันชัย ศิริมา ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี ประกาศรายชื่อผู้สมัครนายก อบจ.จันทบุรี นั้น โดยมีผู้สมัครเป็นนักธุรกิจชื่อดัง ดร.ชาตรี ทิพยเจือจุน เป็นผู้สมัคร นายก อบจ. จันทบุรี หมายเลข 5 วันนี้ จึงได้ส่องนโยบาย
กกต.ประกาศรับรอง ผู้สมัครนายก อบจ.จันทบุรี 'ดร.ชาตรี เบอร์ 5' ขนทัพตลุยหาเสียงทั่วเมืองจันทบุรี
ตามที่นายวันไชย ศิริมา ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี ได้เผยแพร่ประกาศ เรื่องรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกอง
แม้วเดินสายโชว์บารมี อิ๊งค์ปราศรัยนครพนม
"ทักษิณ" ลุยหาเสียงผู้สมัครนายก อบจ. จ่อขึ้นเวทีเชียงราย 3 เวที "เทิง-เชียงของ-แม่จัน" ปราศรัยช่วย "สลักจฤฎดิ์-เมียยงยุทธ" ก่อนเดินสายลำปาง-นครพนม-บึงกาฬ-หนองคาย-มหาสารคาม-ศรีสะเกษ
‘พ่อ-ลูก’ แห่ช่วยหาเสียง หลายพื้นที่สอย ‘ผู้สมัคร’
“แพทองธาร” ลุยช่วยหาเสียง อบจ.นครพนม 12 ม.ค.นี้ ส่วนพ่อนายกฯ ลงซ้ำ 18 ม.ค.นี้ “อนุทิน” ไม่หวั่น ขอแค่ส่งใจช่วยเครือข่ายสีน้ำเงินรักษาเก้าอี้ภาคอีสาน