เปิดโรดแมป หลังโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

เปิดโรดแมป หลังโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เตรียมแก้กฎหมายลูกสองฉบับ ยาวโลด 6 เดือน เสร็จหมดกลางปีหน้า เปิดทาง ‘บิ๊กตู่’ ยุบสภาฯ-เลือกตั้งในกติกาใหม่ บัตรสองใบ

22 พ.ย. 2564 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปหรือไทม์ไลน์การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2564 ที่มีการโปรดเกล้าฯและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ที่มีเนื้อหาหลักๆ คือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม (MMP) บัตร 1 ใบ เป็นระบบการเลือกตั้งแบบผสม (MMM) บัตร 2 ใบ อีกทั้ง มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องจำนวนของส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ใหม่ จากเดิมมีส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150คนรวมเป็น 500 คน ได้มีการแก้ไขเป็น ส.สระบบเขตให้มี 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อมี 100 คน รวมเป็น 500 คน

โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับคือ พ.รบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และพ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ฯ เพื่อให้สอดรับกับระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ใช้ระบบบัตรใบเดียวที่เคยใช้ตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่คิดคะแนนรวมทั้งคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขตและบัญชีรายชื่อเพื่อคำนวณหาจำนวนที่นั่งหรือสัดส่วนของ ส.ส.ในสภาฯ ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีในสภาฯ แต่หลังจากนี้จะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบแบบบัตรสองใบ แยกคะแนนออกจากกันระหว่างบัตรเลือกตั้งส.ส.เขตกับบัตรเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ

โดยการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จะมีการแก้ไขรายละเอียดต่างๆ เช่น วิธีการคำนวณคะแนนและหลักเกณฑ์วิธีการในการนับคะแนนเสียง – การรวมคะแนนเสียงและการประกาศผลการเลือกตั้ง รวมถึงการแก้ไขเรื่องกระบวนการขั้นตอนการรับสมัครเลือกตั้งส.ส. – การออกเสียงลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้ง

แต่ที่สำคัญที่สุดที่ถูกจับตาคือ ระบบวิธีคิดคะแนนผลการเลือกตั้ง ที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างพลังประชารัฐ และเพื่อไทย ต้องการให้ใช้ระบบแบบตอนเลือกตั้งปี 2544, 2548 และ 2554 ซึ่งเป็นการคำนวณคะแนนเฉพาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยนำคะแนนในบัตรลงคะแนนแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดของทุกพรรคการเมืองที่ส่งคนลงสมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ มาหารด้วย 100 โดยพรรคการเมืองก็จะได้ส.ส.พึงมีต่อ 1 คน จากนั้นก็ไปดูว่าพรรคการเมืองไหนที่ได้จำนวนคะแนนทั้งประเทศเท่าไร หากหารแล้วได้จำนวนเต็มหรือ 1% ขึ้นไป ก็จะได้ ส.ส. 1 คนขึ้นไป ซึ่งขึ้นอยู่กับคะแนน ซึ่งหากไม่ได้ 1% ก็จะไม่ได้ ส.ส. ส่วนในกรณีที่เหลือเศษ ก็จะดูว่าที่ได้ 1% ขึ้นไปนั้น พรรคไหนที่เหลือเศษมากที่สุดก็จะได้ ส.ส.เพิ่ม

ยกตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา มีผู้มาใช้สิทธิ์ประมาณ 34,000,000 ล้านคน ก็นำคะแนนรวมทั้งหมดดังกล่าว ไปหารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญคือ 100 เก้าอี้ จึงเท่ากับเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งเก้าอี้ จะต้องได้คะแนนเสียงขั้นต่ำ 340,000 คะแนน หากพรรคการเมืองใดได้คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำดังกล่าว ก็จะไม่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว

ซึ่งระบบวิธีคิดคำนวณเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ดังกล่าวที่จะต้องไปพิจารณาในตอนแก้ไข พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ พบว่า หลายพรรคการเมืองทั้งพรรคขนาดกลาง-ขนาดเล็กเช่น พรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วยกับสูตรนี้ โดยพยายามจะผลักดันให้ใช้ระบบคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP เพื่อให้ใช้การจัดสรรส.ส.แบบพึงมี ภายใต้ระบบเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ ที่จะทำให้พรรคขนาดเล็ก ยังมีโอกาสได้เก้าอี้ส.ส.บัญชีรายชื่อบ้าง ไม่เกิดการสูญพันธุ์อย่างที่มีการคาดการณ์ทางการเมืองในเวลานี้ จนเริ่มมีหลายพรรคการเมืองขนาดเล็กเดินตามรอย “ไพบูลย์โมเดล” คือเลิกพรรคการเมืองแล้วไปอยู่กับพรรคขนาดใหญ่ ที่มีให้เห็นมาแล้ว เช่นกรณี พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคประชานิยม – พิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก พรรคประชาธรรมไทย ได้เลิกพรรคและยุบรวมพรรคไปอยู่กับพลังประชารัฐเรียบร้อยแล้ว รวมถึงพรรคขนาดกลาง อย่างพรรคก้าวไกล ก็ถูกมองว่ามีโอกาสจะได้สัดส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้นกว่าที่จะใช้ระบบแบบที่พรรคพลังประชารัฐต้องการผลักดัน

สำหรับการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พบว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 131 บัญญัติให้ การเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป. จะทำได้สองทางคือ หนึ่ง เสนอร่างแก้ไขในนามคณะรัฐมนตรี โดยข้อเสนอแนะของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรณีดังกล่าวที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ทำให้ผู้จะต้องเสนอคือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอีกช่องทางคือ เสนอโดย ส.ส.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อกันเสนอแก้กฎหมาย

โดยขณะนี้มีรายงานว่า สำนักงาน กกต. ได้มีการหารือร่วมกับฝ่ายรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ในการที่จะเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ โดยผ่านการเสนอเข้าไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลก็มีความเห็นร่วมกันให้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ ในนามพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่าเริ่มมีการเตรียมยกร่างฯ เสนอต่อรัฐสภาแล้วเช่นกัน โดยคาดว่าทั้งหมดน่าจะยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภาได้ในช่วงเดือนธันวาคมนี้

ทั้งนี้ขั้นตอนการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะเสนอตรงไปยังรัฐสภาได้เลย ไม่ต้องเสนอผ่านสภาฯและวุฒิสภา และเมื่อเสนอแล้ว รัฐสภามีเวลาในการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 180 วัน หรือ 6 เดือน แต่หากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกรอบเวลาดังกล่าวให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอมา

และหลังจากนั้น ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ที่แก้ไขแล้ว ให้รัฐสภาส่งร่างที่แก้ไข ไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น โดยหากไม่มีข้อทักท้วงภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ก็เข้าสู่ขั้นตอนเรื่องการนำร่างที่แก้ไขและรัฐสภาเห็นชอบแล้ว ขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

เมื่อดูจากไทม์ไลน์ดังกล่าว จึงเท่ากับว่าหากมีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเดือนธันวาคมนี้ การพิจารณาหากใช้เวลาเต็มพิกัดคือภายในไม่เกิน 180 วัน หรือหกเดือน บวกกับขั้นตอนทางธุรการต่างๆ อีกประมาณ 15-20 วัน ทำให้คาดว่ากระบวนการทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปีหน้า คือช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 อย่างไรก็ตาม กรอบเวลาดังกล่าว ทางรัฐสภา สามารถเร่งรัดการพิจารณาให้เร็วกว่านั้นได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับท่าทีของฝ่ายรัฐบาลว่าต้องการจะแก้ไขกฎหมายลูกให้แล้วเสร็จโดยเร็วหรือไม่

ทั้งนี้ ช่วงกลางปีหน้าดังกล่าว เคยถูกคาดหมายทางการเมืองว่า หากสุดท้ายจะมีการยุบสภาเกิดขึ้น ก็น่าจะเกิดขึ้นช่วงดังกล่าว เพราะถึงตอนนั้น เท่ากับอายุของสภาฯ ที่นับจากมีนาคม 2562 ผ่านมาสามปีเศษแล้ว แต่ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรียืนกรานมาตลอดว่า จะอยู่ครบเทอม ไม่ยุบสภา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภา เรียก 4 หน่วยงาน แจงเงินช่วยเหลือแผ่นดินไหวซ่อมแซมบ้านร้าวน้อยเกินจริง

กรณีมีเสียงวิจารณ์เงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวกรณีซ่อมแซมบ้านเรือนหรืออาคารชุดมีจำนวนน้อย

'รทสช.' ย้ำจุดยืนไม่เอานิรโทษ 112 - คดีโกง หนุน พ.ร.บ.สร้างสังคมสันติสุข

'ธนกร' ยันชัด รทสช. ค้านร่างนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 - คดีโกง ลั่นไม่ยอมให้ใครล้างผิดพวกหมิ่นเบื้องสูง ชี้เห็นด้วยแค่คดีการเมือง-เหตุไม่รุนแรง พร้อมหนุน พ.ร.บ.สร้างสังคมสันติสุข

'ศิษย์เก่าอำนวยศิลป์' รุ่น 42 กระทุ้งรัฐบาล-สภา ยกเลิกออก 'กม.กาสิโน'

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องแถลงการณ์นักเรียนเก่าอำนวยศิลป์รุ่น 42

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'โครงการกาสิโนของรัฐบาล : ตัวตนและเค้ามูลที่ปรากฎ'

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการด้านกฎหมาย เขียนบทความในรูปถาม- ตอบ เรื่อง "โครงการกาสิโนของรัฐบาล : ตัวตนและเค้ามูลที่ปรากฎ" โดยมีเนื้อหา ดังนี้

อย่าโยงเป็นการเมือง! ‘ปธ.วิปรัฐบาล’ ลั่นลุย กม.นิรโทษฯวาระ1 ดันให้จบใน 10 เม.ย.

'วิปรัฐบาล' เผย พร้อมลุยวาระ 1 'กม.นิรโทษฯ' จ่อดันให้จบใน 10 เม.ย.นี้ ขอ 'ปชน.' อย่าโยงเป็นเรื่องการเมือง ยัน ไม่ได้จับไว้เป็นตัวประกัน แจง 'พท.' คงไม่เสนอร่างประกบเพิ่ม เหตุมีฉบับของพรรคร่วมอยู่แล้ว

'ชูศักดิ์' มั่นใจ กม. 'กาสิโน' ผ่านสภา ปัดรัฐบาลเร่ง อ้าง 8 เดือนกว่าจะคลอด

'ชูศักดิ์' มั่นใจ กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ผ่านสภาฉลุย อ้างรัฐบาลไม่ได้เร่ง กว่าจะคลอดไม่ต่ำกว่า 8 เดือน พร้อมแจงก่อนสร้างต้องชงเข้า ครม. ค่อยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา