น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงเป็นพระราชอนุชาร่วมพระราชบิดาและพระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๑ ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ทรงพระปรีชาสามารถหลายด้านตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเล่าเรียนศาสตร์และศิลป์ชั้นสูงในราชสำนักตามธรรมเนียมของเจ้านายในพระราชวงศ์ ทรงเป็นแบบอย่างของผู้ที่มีความอุตสาหะและใฝ่รู้ในเรื่องของการศึกษาจนเชี่ยวชาญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ บังคับบัญชากรมทหารแม่นปืนหน้า กรมทหารแม่นปืนหลัง  กองญวนอาสารบ และกองอาสาจาม ทรงเป็นผู้ที่มีความทันสมัย รอบรู้ภาษาอังกฤษ และสนพระทัยวิทยาศาสตร์และเครื่องยนต์กลไก โดยเฉพาะเรื่องการต่อเรือจากตะวันตก

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานบวรราชาภิเษกให้ดำรงพระอิสริยยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่สอง มีพระนามว่าสมเด็จพระปวเรนทราเมศร์ มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน พระปรีชาสามารถที่เด่นชัดในสายตาของชาวสยามและชาติตะวันตก คือ ทรงเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ และทรงรอบรู้ธรรมเนียมปฏิบัติอย่างตะวันตกเป็นอย่างดี ทรงริเริ่มนำนวัตกรรมจากตะวันตกมาปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมือง อาทิ ทรงต่อเรือรบแบบใช้เครื่องจักร ทรงต่อเรือกำปั่นแบบตะวันตกลำแรกของสยาม ทรงฝึกหัดทหารปืนใหญ่ ทรงพระราชนิพนธ์แปลตำราปืนใหญ่ขึ้นเป็นเล่มแรก

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหฤทัยรักในงานด้านศิลปะ ทั้งดนตรี กวีวรรณกรรม นาฏศิลป์และประณีตศิลป์ พระราชวังบวรสถานมงคลที่ประทับของพระองค์ จึงเป็นเสมือนศูนย์กลางในการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมหลากหลายสาขา ทรงมีความชำนาญด้านประพันธ์บทร้อยกรอง และทรงเป็นนักเล่นสักวาที่มีฝีพระโอษฐ์คมคาย ทรงพระราชนิพนธ์บทกล่อมและเพลงยาวต่างๆ ขึ้นหลายสำนวน ทรงริเริ่มประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็กขึ้น โดยมีการจัดเล่นประกอบกับระนาดแบบเดิม รวมเป็นเครื่องดนตรี ๔ ชนิด เรียกว่า "ปี่พาทย์เครื่องใหญ่"

เบื้องปลายพระชนม์ชีพ  พระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระราชวังบวรสถานมงคล ลักษณะเป็นตึก ๒ ชั้น แบบตะวันตก พัฒนารูปแบบมาจากสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคที่แพร่หลายอยู่ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาขณะนั้น หลังคาพระที่นั่งทรงจั่วชั้นเดียวไม่มีมุขลดหน้าจั่วทั้งสองด้านปั้นปูนประดับเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ คือ รูปปิ่นประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าอยู่ภายในช่อมาลาประกอบลายพันธุ์พฤกษา อันมีที่มาจากพระนามเดิมคือ “เจ้าฟ้าชายจุฑามณี” ชั้นล่างใช้เป็นที่อยู่ของพนักงาน ชั้นบนเป็นที่ประทับ ประกอบด้วย ห้องเสวย ห้องรับแขก ห้องพระบรรทม ห้องแต่งพระองค์พร้อมห้องสรง ห้องสมุดและห้องทรงพระอักษร พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับ ณ  พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ตลอดมา จนกระทั่งเสด็จสวรรคต ในวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๘

พระเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่ประจักษ์และตระหนักในมโนสำนึกของพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า อีกทั้งที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และบริเวณโรงละครแห่งชาติ เดิมเป็นพระราชวังบวรสถานมงคลอันเป็นที่ประทับของพระองค์ วันที่ ๗ มกราคม ของทุกปีกรมศิลปากรจึงร่วมกับชมรมกองทุนพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิธีถวายราชสักการะรำลึกถึงพระเกียรติคุณ ณ พระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณโรงละครแห่งชาติ และจัดให้มีพิธีบำเพ็ญกุศล ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครนอกจากนี้ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้จัดการบรรเลงปี่พาทย์เสภาที่วังหน้า ณ บริเวณลานหน้าพระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงละครแห่งชาติ เพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณ และพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระคุณูปการอย่างอเนกอนันต์ต่อบ้านเมืองและศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้เป็นที่ประจักษ์แพร่หลายสืบไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พระเจ้าตอง' กลับพะเยา หลังโดนขโมย 36 ปีก่อน ค้นพบที่สวิต กรมศิลป์พิสูจน์แล้วของจริง

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ประสานงานและติดตามนำ “พระเจ้าตอง” กลับจังหวัดพะเยา รับส่งมอบพระเจ้าตอง จากนางสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม 

ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ Night at The Museum

กลับมาอีกครั้งสำหรับบิ๊กอีเว้นท์ของคนรักพิพิธภัณฑ์ เมื่อกรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำหนดจัดกิจกรรม "ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ" Night at the Museum ในเทศกาลท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน

บูรณะวัดไชยวัฒนารามนำชีวิตชีวาสู่มรดกโลก

วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา งดงามทรงคุณค่า เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาอดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ วัดเก่าแก่แห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญของอยุธยา และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่โดย

'4วัด1วัง'เที่ยวมรดกโลกอยุธยายามราตรี

กระแสตอบรับดีสำหรับโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ยกระดับท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีเปิดโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง ประกอบด้วย