เห็นภาพชัด! 'ดร.ธรณ์' อธิบายกรณีตามหาผู้สูญหาย เรือหลวงสุโขทัยล่ม บ่งชี้กระแสน้ำอ่าวไทย

22 ธ.ค.2565 - ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า ผมอยากอธิบายกรณีตามหาผู้สูญหายจากเรือสุโขทัย โดยอาศัยข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์/วิทยาศาสตร์ทางทะเล ฐานข้อมูลที่ใช้มาจากแบบจำลองกระแสน้ำและทุ่นกระแสสมุทรที่กำลังลอยอยู่ในทะเลตอนนี้ ด้วยความร่วมมือของปตท.สผ./คณะประมง/สสน.

ภาพซ้ายมือคือแบบจำลองกระแสน้ำในช่วงนี้ของอ่าวไทย จุดแดงคือจุดสมมติบริเวณเรืออับปาง ต้องบอกว่าผมลงจุดเอง อาจคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ใช้เพื่อประกอบแบบจำลองเท่านั้น

จากภาพเราจะเห็นลูกศรจำนวนมาก บอกทิศทางของกระแสน้ำ ยิ่งลูกศรซ้อนกันเยอะ หมายถึงความแรงของกระแสน้ำค่อนข้างมาก หัวลูกศรคือทิศทางที่น้ำไหลไป

สังเกตบริเวณจุดแดง จะเห็นกระแสน้ำไหลแรงลงใต้ หมายถึงการค้นหาควรเน้นในบริเวณนั้น ซึ่งการค้นหาในปัจจุบันก็ทำสอดคล้องกับข้อมูลอยู่แล้ว เช่นชายฝั่งชุมพร บริเวณเกาะต่างๆ เช่น เกาะเต่า ฯลฯ

ภาพที่สองหรือภาพขวามือคือเส้นทางของทุ่นกระแสสมุทร ที่ผมเคยเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังหลายครั้ง ทุ่นที่ลอยอยู่ในทะเลตอนนี้คือลูกที่ 5 ปล่อยลงทะเลจากแท่นผลิตปิโตรเลียม ปตท.สผ. ในบ่ายวันที่ 15 เดือนนี้

ทุ่นดังกล่าวติด GPS รายงานผ่านดาวเทียมให้ทราบเส้นทางตลอดเวลา เป็นทุ่นลอยผิวน้ำ บอกทิศทางการเคลื่อนที่

จุดสีแดงคือตำแหน่งทุ่นปัจจุบัน เห็นเส้นสีน้ำเงินคือจุดต่างๆ ที่ลอยผ่านมา ทิศทางของทุ่นลอยไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ หมายถึงน้ำไหลเข้าอ่าวไทย
แม้ตำแหน่งทุ่นจะไม่ได้อยู่ในบริเวณเกิดเหตุหรือการค้นหา

แต่ข้อมูลนี้บอกเราได้ว่า โอกาสที่ผู้สูญหายจะลอยออกไปจากอ่าวเป็นไปได้น้อย เพราะน้ำไหลเข้าอ่าว
เมื่อนำข้อมูลทั้ง 2 ส่วนมาประกอบกัน คงพอให้เพื่อนธรณ์เห็นภาพว่าทุกฝ่ายกำลังพยายามเต็มที่และสอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการ

อีกส่วนหนึ่งที่ทุ่นบันทึกได้คืออุณหภูมิน้ำทะเล เมื่อเทียบกับช่วงกลางปี น้ำเย็นลงชัดเจน จาก 29.5 เหลือ 28.3 องศา การให้ความอบอุ่นอย่างรวดเร็วหากพบผู้ประสบภัยเป็นอีกเรื่องที่พอบอกได้
น่าเสียดายที่เราไม่มีทุ่นลอยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง รวมถึงยังขาดข้อมูลอื่นๆ

ผมเคยเสนอให้คณะกรรมการต่างๆ ที่ผมมีส่วนร่วมว่า ข้อมูลสมุทรศาสตร์พวกนี้สำคัญมาก เราควรมีสถานีถาวรสำหรับตรวจวัดสมุทรศาสตร์ในด้านต่างๆ อย่างน้อย 3 สถานีในอ่าวไทย ปัจจุบันมีเพียง 1 แห่งที่สถานีวิจัยคณะประมง ศรีราชา มันน้อยเกินไปที่จะทำงานให้แม่นยำครอบคลุมพื้นที่กว้าง

จุดหนึ่งที่เคยเสนอและเกือบผ่านคือสถานีในชายฝั่งตะวันตก (เพชรบุรี/ประจวบ) แต่อาจไม่มีงบ ทำให้เรื่องเงียบไป ยังรวมถึงการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มขึ้น การใช้ทุ่นกระแสสมุทรตามจุดต่างๆ ครอบคลุมพื้นที่ให้มากกว่านี้ เพื่อเพิ่มความแม่นยำของแบบจำลอง และช่วยได้ในสถานการณ์จริง

เท่าที่คณะประมง/ปตท.สผ./สสน. ทำขึ้นมาก็คงเห็นประโยชน์ชัดเจน ไม่ใช่เฉพาะโลกร้อนหรือปัญหาผลกระทบจากมนุษย์ การศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำและระบบนิเวศ ยังรวมถึงการนำข้อมูลไปใช้ในกรณีภัยพิบัติ งานทะเลไม่สามารถทำได้เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ต้องทำไปพร้อมกัน และฐานข้อมูลทะเลมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และต้องลงทุนเพื่อให้ได้มา

สุดท้าย ผมอยากส่งกำลังใจให้ทุกท่าที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะครอบครัวทหารผู้กล้า

ผมยังคงหวังในปาฏิหาริย์ครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โลกร้อนส่งผล ยอดฟูจิ ไม่มีหิมะ ดร.ธรณ์ ชี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล โพสต์ว่า  มาถึงวันนี้ ฟูจิซังก็ยังไม่มีหิมะ ไม่ใช่แค่ครั้งแรกในรอบ 130 ปี ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ

ดร.ธรณ์ แจ้งพายุ ‘จ่ามี’ อีสานล่างโดนแล้ว ‘อุบลฯ’ มาแต่เช้า เคลื่อนเข้า ‘โคราช-ขอนแก่น’

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม

'โลกร้อน-โลกเดือด'! กระทบ 'พะยูน' เข้าใกล้จุดสูญพันธุ์

เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า พะยูนเป็นสัตว์ทะเลหายาก มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันยิ่งทำให้พะยูน ก้าวข้าม

'ดร.ธรณ์' ดึงสติ ไม่ต้องตื่นตระหนกพายุลูกใหญ่ถล่ม หากมาจริงจะแจ้งล่วงหน้า

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

สส.พรรคส้ม โวยหนัก ทร. ให้เอกสารแค่ชิ้นเดียว กังขาผลสอบเรือหลวงสุโขทัยล่ม

นายชยพล สท้อนดี ส.ส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร แถลงความคืบหน้าการติดตามกรณีเรือหลวงสุโขทัยล่มว่า ภายหลังมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องดังกล่าว กองทัพเรือได้ย้ำมาตลอด