รัฐบาล เคาะแล้วของขวัญปีใหม่ 2566


20 ธ.ค.2565 - ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการการดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้ 1.มาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 66” เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 ถึงวันที่ 15 ก.พ.2566 โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยแบ่งเป็น ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวน 30,000 บาทแรก ออกใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ และค่าซื้อสินค้าหรือบริการ อีกจำนวน 10,000 บาท ออกใบกำกับภาษีรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

นางสาวรัชดา กล่าวว่า สำหรับสินค้าที่เข้าร่วมมาตรการ เช่น ค่าซื้อสินค้า และค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการ ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าสินค้า OTOP แต่ไม่รวมถึงสินค้าและบริการ 10 ประการ ดังนี้ ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ค่าซื้อยาสูบ ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 66 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 66 และค่าเบี้ยประกันวินาศภัย ทั้งนี้ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากมาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 66” จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 56,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ มวลรวมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.16 และ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษี และสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

นางสาวรัชดา กล่าวว่า 2.มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 โดยลดภาษีให้ในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปีภาษี พ.ศ.2566
3.มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2566 โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม ร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1และมือ 2) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา

นางสาวรัชดา กล่าวว่า 4.มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานภายในประเทศ โดยลดอัตราภาษีตามปริมาณของน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้บินในประเทศ จากลิตรละ 4.726 บาท เหลือลิตรละ 0.20 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2566 เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและบริการให้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและบรรเทาผลกระทบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสายการบินภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19

5.มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ตาม พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ให้สิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 สำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์จะประกอบกิจการต่อเนื่อง ณ สถานประกอบการเดิม ประเภทใบอนุญาตเดิม ที่ยื่นคำขอระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2566 เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องภายหลังสถานการณ์โควิด19

นางสาวรัชดา กล่าวว่า ส่วนมาตรการและโครงการของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2566 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อาทิ 1.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เช่น โครงการชำระดีมีคืน ลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน มาตรการส่งเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟู 2.ธนาคารออมสิน เช่น โครงการวินัยดี มีเงิน 3.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เช่น ยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs 4.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ (ธพว.) เช่น ผ่อนดีมีคืน (บัตรกำนันสูงสุด 300 บาท) มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ยังมีมาตรการและโครงการของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2566 จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง 5 โครงการ ได้แก่ 1.มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2566 จากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 2.มาตรการของขวัญปีใหม่ปี 2566 ให้กับลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน/ผู้ค้ำประกัน จากบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (บสอ.) 3.โครงการเที่ยวปีใหม่สุขใจไปกับพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2566 ให้แก่ประชาชน จากกรมธนารักษ์

4.โครงการสนับสนุนตลาดทุนและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนลดภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อความสุขที่มั่นคงของทุกภาคส่วน จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทัพย์ (ก.ล.ต.)

5.โครงการส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี และมีภูมิคุ้มกัน ไม่ถูกหลอกลวง จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทัพย์ (ก.ล.ต.)

6.โครงการกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) สำหรับเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกบิธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และ7.โครงการ "ชม ชิม ช็อป ยาสูบเชียงราย" จากการยาสูบแห่งประเทศไทย

ด้าน น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 ธันวาคม 2565 มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอเพื่อให้ประชาชนมีบ้านอยู่อาศัยที่อบอุ่นและมีรายได้จากการสร้างอาชีพ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้1. ซ่อมบ้าน สร้างสุข จำนวน 50,000 หลัง ให้บ้านของเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และครอบครัวผู้มีรายได้น้อยมีความมั่นคงปลอดภัย มีมาตรฐาน มีสภาพแวดล้อมและระบบสาธารณูปโภคที่เหมาะสม ตามหลักการการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาสังคม โดยบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนในการดำเนินการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย2. บ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย 15,000 หน่วย โดยแบ่งออกเป็นโครงการบ้านเช่า 1,500 บาทต่อเดือน (50 บาทต่อวัน) จำนวน 5,000 หน่วยของการเคหะแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ดี สังคมที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และโครงการบ้านเช่าซื้อ จำนวน 10,000 หน่วย ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เข้าถึงแหล่งเงินเพื่อที่อยู่อาศัยได้อย่างเสมอภาค3. สร้างอาชีพ สร้างรายได้ จำนวน 15,300 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 โครงการ คือ3.1.สร้างผู้ดูแลเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางติดเตียง (Care Giver) จำนวน 10,000 คน โดยการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะในการดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางติดเตียง ให้แก่กลุ่มเป้าหมายใน 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรพื้นฐาน (18 ชั่วโมง) หลักสูตรระยะกลาง (70 ชั่วโมง) และหลักสูตรระยะยาว (420 ชั่วโมง) ที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในกลุ่ม 10,000 คนนี้นอกจากจะมีอาชีพและรายได้แล้วยังสามารถสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับกลุ่มเปราะบางที่ดูแลด้วย3.2.สร้างอาชีพธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและบริการ สำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยว กลุ่มเปราะบาง และผู้ว่างงาน จำนวน 5,000 คน โดยการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะในธุรกิจการท่องเที่ยว สถาบันเสริมความงาม ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม และร้านสปา พร้อมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้โดยส่งเสริมทักษะที่ครบวงจรในการประกอบอาชีพเพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน3.3.สร้างนักขายมือทอง จำนวน 300 คน โดยพัฒนาทักษะด้านการขายไปสู่การเป็นนักขายมืออาชีพให้แก่นักเรียน นักศึกษา และผู้ว่างงานที่สนใจได้เข้าร่วมแนะนำโครงการคหะแห่งชาติทั่วประเทศ โดยได้รับค่าตอบแทนเหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้ประชานมีรายได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นิกร' แนะรัฐถอดบทเรียน ยอดตายบนถนนพุ่ง 8% ชี้ประเด็นสำคัญ ขับเร็ว ไม่ใช่เมาแล้วขับ

นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนแห่งรัฐสภา และประธานคณะอนุกรรมการด้านประสานงาน บริหารจัดการ รณรงค์ และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุเ

นายกฯอิ๊งค์ เปิดทำเนียบฯ จัดงาน ‘วันเด็กแห่งชาติ’ ให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ในปีนี้น.ส.แพทองธาร มอบคำขวัญวันเด็กประจำปี 2568 ให้กับเด็ก ๆ เยาวชนไทย เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจว่า 'ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง'

5 วันอันตรายสังเวยแล้ว 215 ชีวิต 'กทม.-นนทบุรี' ครองแชมป์

ศปถ.กำชับด่านตรวจ จุดตรวจ จุดสกัด จุดบริการ รองรับการเดินทางกลับของประชาชน บังคับใช้กฎหมายกับผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง - ดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนอย่างต่อเนื่อง