นายกฯเผยผลการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหภาพยุโรป เสนอความร่วมมือหลัก 3 ด้าน

'ประยุทธ์' เผยผลการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหภาพยุโรป เสนอความร่วมมือหลัก 3 ด้าน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและยั่งยืน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ยกระดับมาตรฐานของอาเซียนไปสู่การค้าที่ยั่งยืน

14 ธ.ค.2565 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่าน แฟนเพจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha มีเนื้อหาดังนี้

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพรักทุกท่านครับ

ช่วงวันที่ 12-15 ธ.ค.65 ผมมีภารกิจสำคัญในต่างประเทศ คือ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - สหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งในทันทีที่เดินทางมาถึง ผมและคณะผู้แทนไทยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น สะท้อนถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดี ระหว่างประเทศไทยของเรา กับสหภาพยุโรป ทำให้คาดหวังได้ว่าการประชุมต่างๆ จะเป็นไปด้วยความราบรื่นครับ

โดยการประชุมแรก ในวันที่ 13 ธ.ค.65 เป็นการประชุมโต๊ะกลมผู้บริหารระดับสูง จัดโดยสภาธุรกิจสหภาพยุโรป - อาเซียน ที่มีประเด็นการหารือที่สำคัญๆ เกี่ยวกับ (1) การดำเนิน "ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก" ของสหภาพยุโรป ที่ยึดอาเซียนเป็นแกนกลาง (2) แนวทางส่งเสริมการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ของสหภาพยุโรป เข้ามาในภูมิภาคอาเซียน และ (3) การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสีเขียว และการเชื่อมโยงทางดิจิทัล ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นหลักนี้ จะมีผลอย่างมากในการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน อันจะเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ควบคู่กันในวันข้างหน้าอีกด้วย

ซึ่งในระหว่างการประชุมนี้ ผมได้หยิบยกแนวทางการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน สอดคล้องกับข้อริเริ่ม Global Gateway ของสหภาพยุโรป ที่มีการระดมทุนภายใต้องคาพยพทั้งมวลของสหภาพยุโรป มูลค่า 300,000 ล้านยูโร จนถึงปี 2570 สำหรับการลงทุนใน 5 ด้าน ได้แก่ พลังงานสะอาด ดิจิทัล คมนาคม สุขภาพ และการศึกษา-วิจัย

ในการประชุมครั้งนี้ ผมได้เสนอความร่วมมือหลัก 3 ด้าน ในนามประเทศไทย และอาเซียน ดังนี้

1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและยั่งยืน
(1) เชิญชวนให้องค์กรต่างๆ และธนาคารในสหภาพยุโรป ร่วมสนับสนุนเงินทุนให้แก่ "กองทุนการเงินสีเขียว" ของอาเซียน และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นในอาเซียน และในประเทศไทย
(2) การสร้างเครือข่ายพลังงาน คมนาคม และดิจิทัล ที่ทันสมัย สะอาด และยั่งยืน ที่จะช่วยเสริมสร้างคุณประโยชน์ต่อการค้า การลงทุน และการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนระหว่างกัน
(3) การสนับสนุนแนวคิดในการพัฒนาธุรกิจ ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance : ESG)

2. การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
(1) สนับสนุนให้ไทยและอาเซียน เป็นฐานการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนรถยนต์
(2) ขอให้สหภาพยุโรปพิจารณาอำนวยความสะดวก และลดภาษี สำหรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระหว่างกัน

3. การยกระดับมาตรฐานของอาเซียนไปสู่การค้าที่ยั่งยืน
(1) ส่งเสริมศักยภาพของอาเซียน ในด้านกฎระเบียบ สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน แรงงาน รวมทั้งทรัพย์สินทางปัญญา
(2) รื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ที่จะช่วยขยายผลไปสู่ FTA ระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรป ต่อไปในอนาคต ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ภาคธุรกิจและประชากรกว่า 1,100 ล้านคน ในทั้ง 2 ภูมิภาค

ประเด็นการหารือทั้ง 3 ประเด็นนี้ เป็นไปตามทิศทางการพัฒนาประเทศของเรา และของโลก ซึ่งผมและรัฐบาลได้ผลักดันและสร้างความเชื่อมโยงในเวทีทุกระดับ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในทุกๆ ครั้ง และหลายอย่างก็ได้เห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว

พรุ่งนี้ จะมีการหารือที่ถือเป็นไฮไลต์ของการเดินทางมาปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ ซึ่งผมจะได้นำมาเล่าให้ฟังอีกครั้งในโอกาสต่อไปนะครับ

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อุ๊งอิ๊ง' ดูไว้! นักการเมืองต้องรักษาสัจจะเหมือน 'อภิสิทธิ์' เคยหาเสียงไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์

เมื่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร กล่าวในงานอีเวนต์ ”10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10“ ว่า พรรคเพื่อไทยตัดสินใจถูกตั้งรัฐบาลผสม