มีแนวโน้มว่า คอร์รัปชันของนักการเมือง คอร์รัปชันเชิงนโยบาย และคอร์รัปชันในเมกะโปรเจค ยังสูงมากเช่นเดียวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่คอร์รัปชันในระบบราชการยังวิกฤต อาจลดลงบ้างอันเป็นผลมาจากข้าราชการรุ่นใหม่ ระบบราชการ กฎหมาย แรงต้านจากสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป
6 ธ.ค.2565- ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เผยแพร่บความ การประเมินสถานการณ์คอร์รัปชันไทย
การระบุว่า “สถานการณ์คอร์รัปชันประเทศไทยดีขึ้นหรือเลวลง” ผู้เขียนประเมินจากปัจจัยที่เกิดขึ้น 3 ประการคือ 1. พฤติกรรมคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงที่ผ่านมา 2. การเปลี่ยนแปลงของ ภาครัฐ และ 3. ความตื่นตัวของประชาชนต่อปัญหาคอร์รัปชัน
- พฤติกรรมคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงที่ผ่านมา
การประเมินประเด็นนี้มีข้อจำกัดของข้อมูลจากหน่วยราชการหรืองานวิจัยมาสนับสนุน มีเพียงงานของ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์และคณะ (2557) เรื่อง “คอร์รัปชันในระบบราชการไทย การสำรวจทัศนคติและประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน” ที่ระบุว่า การจ่ายสินบนเมื่อไปติดต่อหน่วยราชการของหัวหน้าครัวเรือนลดลง เมื่อเทียบกับผลการสำรวจในปี 2547
การสำรวจอื่นๆ มักเป็นข้อมูลเชิงภาพลักษณ์ (Perception) ซึ่งมีโอกาสเบี่ยงเบนสูง เช่น Corruption Perception Index และ Global Corruption Barometer ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ และ Control of Corruption ของธนาคารโลก
ส่วนงานที่จับต้องได้มากกว่าเพราะสัมภาษณ์คนไทยและผู้ประกอบการโดยตรง เช่น Corruption Situation Index ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผลการศึกษาของสถาบัน IOD รวมทั้งผลงานของบริษัท PwC ที่ชี้ว่า คอร์รัปชันยังวิกฤตอยู่
อย่างไรก็ตามผู้เขียนมีข้อมูลสำคัญบางประการ ที่ควรพิจารณา คือ
ก. มีแนวโน้มว่า คอร์รัปชันของนักการเมือง คอร์รัปชันเชิงนโยบาย และคอร์รัปชันในเมกะโปรเจค ยังสูงมากเช่นเดียวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่คอร์รัปชันในระบบราชการยังวิกฤต อาจลดลงบ้างอันเป็นผลมาจากข้าราชการรุ่นใหม่ ระบบราชการ กฎหมาย แรงต้านจากสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป
แต่ยังลดลงช้าและน้อยมากเพราะการขาดความใส่ใจของผู้นำในระดับต่างๆ ผสมกับวัฒนธรรมของคนในองค์กร เช่น ความเกรงใจ ธุระไม่ใช่ ระบบอุปถัมภ์ การไกล่เกลี่ยภายในหน่วยงานให้เรื่องเงียบ ขาดการเปิดเผยอย่างโปร่งใส อำนาจนิยม ฯลฯ
ข. มีรายงานระบุว่า ในแต่ละปีมีการโอนเงินเข้าออกประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายจำนวนมาก เป็นการโอนเงินออกราว 4 แสนล้านบาทและโอนเข้าราว 2 แสนล้าน แน่นอนว่าจำนวนหนึ่งเป็นเงินจากพวกโกงชาติ ปล้นประชาชน
ค. การดำเนินคดีล่าช้าและการลงโทษคนโกงยังมีข้อจำกัดมาก มีหลายคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ปล่อยให้ ป.ป.ช. ฟ้องเอง ศาลตัดสินว่าทำผิดจริงแต่ให้รอลงอาญา คนผิดติดคุกเดี๋ยวเดียวก็ได้ลดโทษอภัยโทษ ยังไม่นับรวมปัญหาการช่วยเหลือปกป้องกันเองของเครือข่ายผู้มีอำนาจ และปัญหาขาดมาตรการปกป้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ
ง. ในปี 2565 ป.ป.ง. ประเมินให้การทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นความผิดที่มีความเสี่ยงในการฟอกเงินสูงอันดับ 1 และมีแนวโน้มพัวพันกับความผิดที่เสี่ยงรองลงมา ได้แก่ การค้ายาเสพติด บ่อนและการพนัน จากการที่มีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมรู้เห็นกับการกระทำผิด
จ. จากการศึกษา ผู้เขียนพบว่านักการเมืองรุ่นใหม่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีแนวโน้มการทำงานอย่างมีธรรมาภิบาลมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ
ก. เทคโนโลยีกับข้อมูลข่าวสาร ที่ผ่านมาภาครัฐได้ลงทุนเพื่อจัดตั้งและพัฒนาหน่วยงานด้านเทคโนโลยีหลายแห่ง เช่น สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDI) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เป็นต้น
ทำให้เกิดนวัตกรรมที่ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) อย่างหลากหลายมากขึ้น เช่น เว็บไซต์ “ภาษีไปไหน” ของ DGA เว็บไซต์ “ไทยมี” ของสภาพัฒน์ ระบบ e – GP และ GF – MIS ของกรมบัญชีกลาง และอีกหลายแอปพลิเคชันของหลายหน่วยงาน ส่งผลให้ไทยถูกจัดอันดับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่ดี อันดับ 2 ของอาเซียนเป็นรองแค่สิงคโปร์ อันดับโลกที่ 21 จาก 65 ประเทศในปี 2563
ความก้าวหน้าเช่นนี้ทำให้เชื่อว่า ในวันข้างหน้า หาก “เจ้าหน้าที่รัฐยอมปรับเปลี่ยนทัศนคติและพัฒนาตัวเองมากขึ้น” แล้วยอมเชื่อมโยงฐานข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลต่างๆ อย่างโปร่งใส เมื่อถึงวันนั้นความพร้อมทางเทคโนโลยีและข้อมูลที่ถูกเก็บกระจัดกระจายอยู่จำนวนมาก จะถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้เป็นอย่างดี
ข. กฎหมายและมาตรการของรัฐ ที่สำคัญคือ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ เพื่อจัดระเบียบสร้างมาตรฐานในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฯ กฎหมายนี้ส่งผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐและภาคเอกชนเป็นหลัก
ส่วนที่มีผลต่อประชาชนและภาคธุรกิจทั่วไปคือ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ และ พรฎ. การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายฯ ที่มุ่งหวังให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิรูปการบริการประชาชนให้สะดวกรวดเร็ว ลดภาระและลดเงื่อนไขการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของราชการอย่างมาก อาทิ เปิดบริการ E-Service แล้วกว่า 350 งานบริการ พัฒนาระบบ E-License และระบบ Digital ID ฯลฯ
เครื่องมือเพื่อยกระดับธรรมาภิบาลภาครัฐที่สำคัญคือ การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA) และ Anti-Corruption Toolbox ของ ป.ป.ช. นอกจากนี้ ศอตช. ได้สำรวจพบว่า ผลจากแผนปฏิรูปประเทศฯ นโยบายของรัฐบาล และผลกระทบจากการระบาดของโควิด ทำให้หน่วยงานต่างๆ จำเป็นต้องเร่งสร้างเครื่องมือบริการประชาชนลดขั้นตอนการทำงานภาครัฐและสร้างความโปร่งใส ไม่น้อยกว่า 1,430 เครื่องมือ
จุดอ่อนคือ เครื่องมือเหล่านี้ยังขาดการยืนยันว่าใช้งานได้จริงหรือไม่ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะแอบสร้างเงื่อนไขซ่อนไว้อีกหรือไม่
ยังมีปัญหาขาดความใส่ใจของผู้นำที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง เกิดภาวะเมินเฉยและจำยอมของเจ้าหน้าที่ต่อสภาพแวดล้อม รวมถึงวัฒนธรรมการทำงานไม่โปร่งใส ความเกรงใจและระบบอุปถัมภ์ในองค์กร
ที่ต้องชื่นชมไม่แพ้กันคือ การปรับตัวให้กระชับ ทำงานเชิงรุกและมีประสิทธิภาพมากขึ้นของ ป.ป.ช. สตง. ป.ป.ท. ศาลคอร์รัปชัน และ สนง. อัยการ
- ความตื่นตัวของประชาชน และภาคเอกชน
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราได้เห็นความพยายามแก้ปัญหาในภาคเอกชนกันเองหลากหลายมากขึ้น ทั้งภาคการค้า อุตสาหกรรม สมาคมวิชาชีพ ธนาคารและตลาดทุน มีการรวมตัวเป็นแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) กำหนดแนวปฏิบัติเพื่อสร้างธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบร่วมกัน
เช่น การทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (ESG-C) มาตรฐานจรรยาบรรณดีเด่น หอการค้าไทย (BEST) การผลักดันมาตรการตรวจสอบบัญชีใหม่ (NOCLAR) เป็นต้น
เราได้เห็นการเพิ่มขึ้นของตำราประกอบการเรียนการสอนหลักสูตรเกี่ยวกับคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลตั้งแต่โรงเรียนถึงมหาวิทยาลัย รวมถึงงานวิจัยและบทความทางวิชาการ ความตื่นตัวของสื่อมวลชนในการทำข่าวลึก ข่าวเจาะ คอลัมน์รายการที่เกี่ยวกับคอร์รัปชัน
ที่น่าจับตาคือ การรวมตัวเป็นองค์กร กองทุนระดมเงินสนับสนุนและเครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชนเกิดขึ้นแล้วมากกว่า 50 องค์กร ในปัจจุบัน พลังต่อต้านคอร์รัปชันของคนไทยวันนี้จึงเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ทักท้วงและเรียกให้พรรคพวกออกมาช่วยกันลงมือแก้ไขปัญหาบ้านเมือง
เพื่อช่วยให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพสามารถร่วมติดตาม ตรวจสอบการใช้งบประมาณและใช้อำนาจในการบริหารบ้านเมืองได้ง่ายและแม่นยำ ผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตและคอมพิวเตอร์
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนจำนวนมากสร้างนวัตกรรมจับโกงด้วยเทคโนโลยี เช่น ACT Ai เว็บไซต์ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, ACT Covid Ai เว็บไซต์ตรวจสอบการใช้งบโควิด, Build better life by CoST โครงก่อสร้างขนาดใหญ่ภาครัฐที่ใกล้ตัวประชาชน, ACT Ai Corrupt Zero คลังข้อมูลนักการเมือง, ACT Ai Connection ระบบตรวจจับสายสัมพันธ์คนโกง, Corruption Watch ประชาชนรายงานคอร์รัปชันเรื่องใกล้ตัว เป็นต้น
จุดอ่อนของข้อนี้คือ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการติดต่อหรือใช้บริการของรัฐขาดความเป็นธรรมอยู่มาก การแสดงความคิดเห็นของประชาชนยังขาดเสรีภาพและการปกป้องอย่างเหมาะสมจากรัฐ
ไม่เข้าใจหรือมองแต่ผลประโยชน์
เราเคยเข้าใจกันว่า การมีกฎหมายที่เข้มงวดจำนวนมากจะทำให้คอร์รัปชันลดลง แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? ลองทบทวนดูเรื่องการจ่าย “สินบนและรางวัลนำจับ” แก่เจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กรณีผู้กำกับโจ้นายตำรวจที่จัดฉากชี้เบาะแสให้จับรถหรูที่ถูกลักลอบนำเข้า แต่ตนและพวกคือผู้รับสินบน/รางวัลนำจับ แล้วตามไปซื้อรถเหล่านั้นจากการขายทอดตลาด ทำเงินหลายต่อสบายๆ สรุปว่า กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือของคนโกง วันนี้กฎหมายที่ยอมให้มีการจ่ายสินบนนำจับทั้ง 147 รายการ ยังคงถูกใช้กันต่อไป
ตรงกันข้าม กฎหมายสำคัญที่ทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์กลับถูกเตะถ่วงในบ้านเรา เป็นต้นว่า พ.ร.บ. ป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ตั้งแต่ปี 2550 พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ตั้งแต่ปี 2557 มาตรการควบคุมเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่น มาตรการทางภาษีและมาตรการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน หรือแม้แต่ “มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ” ตามมติ ครม. เมื่อ 27 มีนาคม 2561 และ 28 ม.ค. 2563 ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติ
บทสรุป
เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นสองปัจจัยคือ “ความตื่นตัวภาคประชาชนและการเปลี่ยนแปลงระบบราชการ” ซึ่งเป็นพลังบวกในการต่อต้านคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นจริง แต่ยังน้อยไปและไม่เข้มแข็งพอจะต่อกรกับเหล่าคนโกง ดังนั้น เพื่ออนาคตของสังคมไทย เราทุกคนต้องมองไปข้างหน้า ช่วยกันผลักดันต่อไปให้ภาครัฐมีประสิทธิภาพสูงขึ้นไม่เป็นภาระกับสังคม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉ10โกงทำประเทศจน เอกชนสมคบกับจนท.รัฐ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแฉ 10 กรณีทุจริตแห่งปี 2567 ที่ทำคนไทย “เจ็บ” และ “จน" หลายเรื่องราวยังไม่จบ
ACT เปิด '10 ทุจริต อบจ.' เสียหาย 377 ล้าน เฉพาะอุบลฯ โกงถึง 42 คดี
ACT เปิดข้อมูล '10 ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง' อบจ. ตั้งคำถาม 'ป.ป.ช.' ทำไมคดีน้อยแค่หลักสิบ สวนความเชื่อประชาชน งบท้องถิ่นโกงกันอื้อ
'ชวน' เผยหมดยุคเป็นผู้แทนบาทเดียวไม่ต้องจ่ายแล้ว
นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่ากับผู้สื่อข่าวหลังเยี่ยมเยียนชาวบ้านที่ประภัยคลื่นซัดบ้าน
'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' ยำใหญ่! แก้รธน.เปิดช่องหมาลอด ให้คนโกงมาเป็นรัฐมนตรี
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ต้องแก้ให้ได้" มีรายละเอียดดังนี้
'ดร.มานะ' แฉต่างชาติมองไทย ผ่าน 5 เรื่องคอร์รัปชั่น นักโทษชายชั้น 14 โจ่งแจ้ง
ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ ต่างชาติมองไทย ผ่าน 5 เรื่อง
จ้องงาบ 'เมกะโปรเจกต์' มีหนาว! สตง. เปิดสำนักใหม่สอบโครงการยักษ์
คิดงาบ 'เมกะโปรเจกต์' หนาวแน่! 'สตง.' ติดเขี้ยวเล็บ เปิดสำนักตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ ประเดิมรถไฟฟ้าสายสีส้ม-ดิจิทัลวอลเล็ต