แฟ้มภาพ
"3 ป." ปิดห้องรับรองถกนานกว่าจะเริ่มประชุม ครม. เกือบ 10 โมง พบ รมต.เข้าๆ ออกๆ เพียบ บรรยากาศประชุม ครม.เงียบเหงา พิจารณาลากยาวม้วนเดียวจบ ไม่มีเบรก “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” หันหน้าคุยกันถี่ ด้าน “เฮ้ง” กลับก่อนเวลา “สามมิตร” มามาดนิ่ง รักษาระยะ 2 ลุง “ประยุทธ์” ลั่น จะทำให้ดีที่สุดส่งต่อรบ.ชุดหน้า
29 พ.ย.2565 - รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้เข้าไปนั่งพูดคุยกันในห้องรับรองเหมือนทุกสัปดาห์ โดยมีรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการ เดินทางเข้าเดินออกตลอด เพียงแต่ครั้งนี้ใช้เวลาในห้องรับรองนานกว่าทุกครั้ง กว่าจะเริ่มประชุม ครม.ได้เกือบ 10.00 น.ขณะที่บรรยากาศภายในห้องประชุม ครม. ค่อนข้างเงียบเหงา ไม่ครึกครื้นเหมือนปกติ บรรดารัฐมนตรีไม่ได้ลุกขึ้นจากเก้าอี้ไปพูดคุยกันเหมือนอย่างที่เคยทำ อีกทั้งยังเป็นการประชุมแบบรวดเดียวจบ ไม่มีการพักเบรก ใช้วิธีเสิร์ฟอาหารกลางวันให้เข้าไปรับประทานในห้องประชุม ครม.เลย แต่ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างการประชุม พล.อ.ประยุทธ์กับพล.อ.ประวิตรได้หันไปคุยกันบ่อยครั้งมาก
และเป็นที่น่าสังเกตอีกว่า ในช่วงก่อนและหลังการประชุม ครม. มีรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ได้เข้าไปพูดคุยเหมือนกับกำลังใจกับ พล.อ.ประวิตร อาทิ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม โดยทั้งสามคนยังได้เดินไปส่ง พล.อ.ประวิตรถึงรถยนต์เพื่อเดินทางกลับจากทำเนียบฯอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีอีกบางส่วนเข้าไปพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และอดีตผอ.พรรคพลังประชารัฐ ได้เข้าๆ ออกๆ ห้องประชุมหลายรอบ และเดินทางกลับก่อนการประชุม ครม.จะสิ้นสุดด้วย ส่วนท่าทีของรัฐมนตรีกลุ่มสามมิตร ค่อนข้างวางตัวเฉยอย่างเห็นได้ชัด ไม่ได้เข้าไปพูดคุยทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวท้ายการประชุมว่า “ขอบคุณที่อยู่กันมา 3 ปีกว่า ขอให้ทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำกันได้ ต่อไปก็เป็นเรื่องของรัฐบาลชุดต่อไป ไม่สร้างภาระ ปัญหาซึ่งกันและกัน”
รายงานข่าวจากที่ประชุมแจ้งว่า ในการประชุม ครม. นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานงานวิปรัฐบาล ได้รายงานวาระการประชุมสภา ซึ่งมีการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญกระจายอำนาจท้องถิ่น ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้าเป็นผู้เสนอ
โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า ท้องถิ่นจะมีปัญหาถ้าบริหารกันเอง เพราะรายได้อาจไม่เพียงพอ จึงต้องกระจายรายได้ให้เท่าเทียม ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ยังพูดถึงการขออนุมัติใช้งบกลางปี 66 ด้วยว่า งบกลางต้องใช้ให้ถึงสิ้นปีงบประมาณ ถ้าใช้หมดตอนนี้แล้ววันข้างหน้าใครเป็นรัฐบาลก็ฝากดูแลด้วยแล้วกัน
นอกจากนี้ ในระหว่างการพิจารณาวาระหลักการเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นผู้รายงานตั้งแต่ต้นจนจบนั้น นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แนะนำว่า ถ้าจะไปพูดเรื่องนี้จะต้องไปอธิบายให้ดีๆ เพราะมีคนสนใจอยู่ จะต้องระมัดระวังในการพูดอธิบายให้สังคมเข้าใจ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้ำขึ้นมาว่า จะต้องระมัดระวัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ณัฐวุฒิ’ แจงปมถูกตั้งเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ อาจทำ ‘อิ๊งค์‘ ตกเก้าอี้
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กว่า มีทั้งนักร้องและกลุ่ม
เอาแล้ว 'อิ๊งค์' มีสิทธิ์หลุดเก้าอี้นายกฯ เซ่นตั้ง 'เลี้ยบ' นั่งรองประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า “รัดแน่นกว่าเดิม”
'บิ๊กป้อม' ปัดตอบปม ครม. ผ่านหลักการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประขารัฐ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และแกนนำพรรค ตลอดจน สส. พรรคพลังประชารัฐ
ครม. ตั้ง 'ราเชน ศิลปะรายะ' ขึ้นเป็นอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ครม. เห็นชอบยกเลิกบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ครั้งที่ 1/2568 ให้คณะรัฐมนตรี
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 43)
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475