'ไอติม-ปิยบุตร' ผิดหวังสภาคว่ำร่างรธน. ยันเดินหน้าต่อ ฝาก ส.ส.นำเป็นนโยบายหาเสียง

“ไอติม-ปิยบุตร” ผิดหวังสภาโหวตคว่ำร่างรธน. ยอมรับภารกิจยังไม่สำเร็จ ย้อน ส.ส.ซีกรบ.ไหนบอกเป็นเงื่อนไขร่วมพปชร. ยันเดินหน้ารณรงค์ต่อ ฝากส.ส.นำเป็นนโยบายรณรงค์หาเสียง “พริษฐ์”วอนอย่าติดกับดักส.ว.กล่าวหาร่าง รธน.ชูสภาเดี่ยวสุดโต่ง

17 พ.ย.2564 - ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน แถลงภายหลังที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในวาระที่ 1

นายพริษฐ์ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐสภามีมติในการโหวตไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ตนและประชาชน 135,147 รายชื่อ ยื่นพิจารณาวาระที่ 1 เป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง แต่ไม่ได้น่าผิดหวังในฐานะที่ เป็นคนเสนอแต่น่าผิดหวังตรงที่ข้อเสนอกลับไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติในสังคม อย่างที่ย้ำในการอภิปรายมาตลอดว่า ข้อเสนอของเราไม่ได้เป็นเรื่องสุดโต่งหรือพยายามที่จะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ เพียงแต่ต้องการสร้างระบบการเมืองที่ควรจะเป็น

นายพริษฐ์ กล่าวว่า คำว่า ควร สะกดด้วย ค. คือคืนศักดิ์ศรีให้สถาบันทางการเมือง ว. คือไว้ใจ ร่างของเราเป็นร่างที่ถูกคิดค้นบนพื้นฐานที่พยายามจะสร้างระบบการเมืองที่ไว้ใจประชาชน ให้เขามีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงในการกำหนดอนาคตของตัวเอง ร. คือระบบที่เป็นกลาง ที่ทำให้ทุกคนไม่ว่า จะมีความคิดทางการเมืองแบบไหนก็มีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่าเทียมกัน ในสนามเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาก็สามารถแข่งขันกันได้ภายใต้กติกาที่เป็นกลางและเป็นธรรม ในฐานะผู้ริเริ่มกฎหมายจะขอขอบคุณหลายๆ ส่วน ที่ได้แสดงเนื้อหา และอภิปรายในสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ กับประชาชน ท้ายที่สุดขอบคุณและขอโทษจากใจจริงกับประชาชน 1.3 แสนกว่าคนที่ร่วมเดินทางกับเรา ประชาชนที่ติดตามการอภิปราย คาดหวังอยากให้ร่างของเราผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 ซึ่งเราพยายามโน้มน้าวให้รัฐสภาเห็นด้วยกับเรา แต่ก็ต้องยอมรับว่าภารกิจนั้นยังไม่สำเร็จ

นายพริษฐ์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงต้องเดินหน้าต่อไป เชื่อว่าถ้าเรามีรัฐธรรมนูญที่มีที่มากระบวนการและเนื้อหาที่ไม่ชอบธรรมเช่นนี้ เราไม่สามารถที่จะแก้วิกฤตทางการเมืองได้ ผ่านมาเกือบจะ 3 ปี ตั้งแต่มีการเลือกตั้งปี 2562 มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด 3 รอบ หรือเปรียบเสมือน 3 ยก ร่างแก้ไขฉบับเดียวที่ผ่านเป็นการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญที่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ นี่หรือคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน นี่หรือคือเนื้อหาสาระสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคกล่าวไว้ตอนเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐว่าเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมบริหารประเทศกัน ซึ่งตนคิดว่าไม่ใช่เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากไม่แตะวุฒิสภา และกลไกสืบทอดอำนาจมันก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองปัจจุบันได้จริง

นายปิยบุตร กล่าวว่า ในส่วนของการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่เคยมี ที่รัฐสภาจะลงมติรับหลักการ ไม่เคยได้ผ่านเข้าไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ไม่เคยได้ผ่านไปถึงวาระที่ 3 เราคาดหวังว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะพิจารณาถึงความต้องการของพี่น้องประชาชนนอกสภาแล้ว เราก็หวังใจว่าสมาชิกรัฐสภาจะเงี่ยหูฟัง เสียงก่นร้องที่อยู่ข้างนอกสภาดัง ๆ บ้าง แต่แล้ววันนี้ผลการลงมติก็เป็นที่ชัดเจนว่าสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่เสียงข้างมากยังไม่ยินยอมเปิดประตู ให้กับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชน ยังไม่ยอมให้ผ่านไปในวาระที่ 1

นายปิยบุตร กล่าวว่า กระบวนการที่พูดมานั้น เราเรียกกันว่าเป็นการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เพราะประชาธิปไตยแบบผู้แทนแต่เพียงอย่างเดียวนั้น มันไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด เรามีโอกาสที่ผู้แทนประชาชนอาจจะไม่ทำตามเจตจำนงความต้องการของประชาชนก็ได้ เราอาจจะมีโอกาสที่ผู้แทนของประชาชนบิดผันบิดเบือนเจตจำนงของประชาชนก็ได้ นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราจึงต้องมีระบบการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้ามามีโอกาสใช้อำนาจโดยตรงของประชาชนมากขึ้น ๆ แต่วันนี้ช่องทางเหล่านี้ก็ถูกปิดลงไปอีกแล้ว ในส่วนของพี่น้องประชาชนที่เข้าชื่อกับเรากว่า 1.3 แสนคนนั้น รวมทั้งพี่น้องประชาชนที่สนับสนุนร่างเหล่านี้แต่อาจไม่ทันได้ลงชื่อ และพี่น้องประชาชนที่ฟังการอภิปราย 16 ชั่วโมง อย่าเพิ่งสิ้นหวัง พวกเรายังมีลมหายใจ พวกเรายังมีความคิด พวกเรายังมีกำลังที่จะรณรงค์ต่อไป

“ทุกท่านก็ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำได้ยากอย่างยิ่ง แต่ถ้าหากเราไม่เคลื่อนไหว ไม่รณรงค์ ไม่ผลักดันต่อไป พวกเขาก็จะอยู่กับรัฐธรรมนูญที่เขาออกแบบมาได้อย่างต่อเนื่องไปตลอดกาล จึงเป็นภารกิจของพวกเราประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตัวจริง เสียงจริง จำเป็นต้องรณรงค์ผลักดันเรื่องนี้ต่อไป แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะล้มเหลว หรือล้มลงกี่ครั้งก็ตามต้องลุกขึ้นยืนกันใหม่ และต่อสู้ผลักดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จให้จงได้”นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวว่า ในส่วนของระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนนั้น ในเมื่อประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมถูกปิดประตูไปในครั้งนี้ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าระบบประชาธิปไตยแบบผู้แทนจะทำงานตรงนี้ต่อ นั่นก็คือ ส.ส. ที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญของพวกเรา แม้จะเห็นด้วยไม่หมด หรือจะเห็นด้วยทั้งหมดก็ตาม ท่านมีโอกาสแม้วันนี้ท่านยังเป็นเสียงข้างน้อยในสภา แต่อีกไม่กี่เดือน อีกไม่กี่ปี เราคงจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ตามมา คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าฝากความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าส.ส.ที่สนับสนุนแนวคิดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้จะนำไปออกแบบเป็นนโยบายและรณรงค์ผ่านการหาเสียงเลือกตั้งต่อไป และพวกเราประชาชนที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ ก็จะได้ตัดสินใจลงคะแนนเลือกพวกท่านมาเป็น ส.ส. ได้เข้ามาเป็นเสียงข้างมาก แล้วมาช่วยกันแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จให้จงได้ต่อไป

เมื่อถามว่าแนวทางต่อไปจะมีการล่ารายชื่อในประเด็นที่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปได้หรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า ยังคงต้องกลับไปพิจารณากันในองค์กรที่ร่วมทำงาน ตอนนี้ยังไม่ได้พูดคุยกันเพราะเพิ่งเห็นมติออกมา ถ้าหากคิดกันตกผลึกเรียบร้อยจะผลักดันเรื่องใดต่อไป ก็จะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป ส่วนประเมินผลการลงมติครั้งนี้อย่างไรนั้น ตนประเมินไม่ได้ เพราะตนไม่ใช่ผู้กำกับ ตนไม่ใช่คนตัดสิน หรือควบคุม แต่เชื่อว่าสังคม หรือแม้กระทั่งสมาชิกรัฐสภาก็คงคาดได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมาหรือไม่อย่างไร เพราะว่าหลายเรื่องมันก็เป็นความต้องการของพี่น้องประชาชน หลายเรื่องการชุมนุมเขาก็เรียกร้องในเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญจนถึงวันนี้ผ่านมาหลายปีแล้ว สำเร็จหรือไม่ประชาชนคงเห็นได้ เราแก้เพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างระบบเลือกตั้งเท่านั้น

นายพริษฐ์ กล่าวเสริมอีกว่า ไม่อยากให้เราติดกับดักวาทกรรมที่ถูกใช้ในการอภิปรายเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมาว่าร่างของเรานั้นไม่ผ่านเพราะว่าเป็นร่างที่สุดโต่งไป ยืนยันว่าร่างของเราไม่ได้สุดโต่ง แต่เป็นเรื่องที่ปกติมากในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นรัฐเดี่ยว และเป็นระบบรัฐสภา แต่การที่ตนนั่งฟังวุฒิสภาหลายท่านที่พยายามจะสื่อสารออกมาว่าทำไมไม่เสนอข้อเสนออื่นที่ไม่สุดโต่งแบบนี้ แทนที่จะมายกเลิก ส.ว.แค่ตัดอำนาจเลือกนายก หรือปรับที่มาได้หรือไม่ ตนขอเรียนว่าตนทำการบ้าน และตรวจสอบว่า ส.ว.ที่อภิปรายเช่นนี้เคยโหวตอย่างไรบ้างกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ก็ค้นพบว่าทุกคนที่เคยเสนอแบบนี้ ตอนที่อภิปรายเรื่องตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ซึ่งเป็นข้อเสนอขั้นพื้นฐานที่สุด ท่านก็ไม่ได้โหวตรับอยู่ดี ดังนั้นตนไม่อยากให้สังคมมองการปัดตกครั้งนี้ว่าข้อเสนอของเราไปไกลหรือสุดโต่งเกินไปเหมือนที่ ส.ว.บางคนพยายามที่จะทำให้เราเข้าใจผิดเช่นนั้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น

รทสช.ขยับทันควัน! หลังสื่อทำเนียบตั้งฉายา ‘พีระพัง‘

จากกรณี ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ตั้งฉายารัฐบาล และรัฐมนตรีประจำปี ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่

เกิดขึ้นจริงๆ ‘วรงค์’ โชว์ป้ายเมื่อสามปีที่แล้ว ‘โจรปล้นชาติจะกลับมา’

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์รูปภาพและข้อความในเฟซบุ๊กว่า #ป้ายที่เกิดขึ้นเมื่อสามปีที่แล้ว

’พุทธะอิสระ‘ วางแล้ว! ไม่ร่วมขบวนทักท้วง ‘ทักษิณ-แพทองธาร’

นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ "พุทธะอิสระ" ผู้ก่อตั้งวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยมีรายละเอียดดังนี้