'บิ๊กตู่' หารือทวิภาคี 'มาครง' สุดชื่นมื่น

นายกฯ หารือทวิภาคีประธานาธิบดีฝรั่งเศส ชื่นชมพลวัตในความสัมพันธ์ 2 ประเทศ พร้อมกระชับความร่วมมือระหว่างกัน นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

17 พ.ย.2565 - ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีกับนายเอมานูว์แอล มาครง (H.E. Mr. Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ในฐานะแขกพิเศษของเจ้าภาพ (Guest of the Chair)

โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบหารือกับประธานาธิบดีฝรั่งเศสอีกครั้ง ชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่มีพลวัตอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าการเยือนครั้งนี้ จะช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นและเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม และในโอกาสการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ไทยขอรับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสในฐานะสมาชิก G7 และ G20 ในการขับเคลื่อนวาระสำคัญของไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้หารือร่วมกันในช่วงการประชุมฯ ด้วย

ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พร้อมทั้งชื่นชมความร่วมมือระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่มีความคืบหน้าในหลาย ๆ ด้าน แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะความร่วมมือด้านอวกาศ ในการพัฒนาดาวเทียมธีออส 2 โอกาสนี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสชื่นชมนายกรัฐมนตรีและประเทศไทยในโอกาสการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 โดยประเด็นความร่วมมือของ APEC ในแง่การค้าและการลงทุน การรักษาสันติภาพ และสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่สอดคล้องกับสิ่งที่ฝรั่งเศสต้องการผลักดัน ยืนยันสนับสนุนประเด็นที่ไทยต้องการผลักดัน

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน คือการจัดทำความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการไทย - ฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีขอให้ฝรั่งเศสเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าวให้มีความคืบหน้า ซึ่งจะช่วยให้การเดินหน้าความสัมพันธ์เป็นไปด้วยความสะดวก โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมเร่งรัดการดำเนินการคาดว่าภายในเดือนมกราคม 2566 จะมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรียินดีกับความร่วมมือทางการทหารที่ใกล้ชิด บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นและไว้วางใจ ตลอดจนยินดีที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก รวมถึงไทย โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมเร่งรัดการจัดตั้งกลไกการหารือ 2+2 dialogue ไทย - ฝรั่งเศส เพื่อหารือในประเด็นท้าทายด้านความมั่นคง ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสเห็นว่า ไทยกับฝรั่งเศสมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการส่งเสริมความเชื่อใจและความใกล้ชิดระหว่างทหารของทั้งสองฝ่าย การสร้างฐานอุตสาหกรรมในประเทศไทย การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัยทางทะเล เป็นต้น

ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และเห็นพ้องกันว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกมาก โดยรัฐบาลไทยได้ปรับนโยบายที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าสิ่งแวดล้อมและการลงทุนในธุรกิจสีเขียว ไทยร่วมกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมจำนวน 54 รายการ นายกรัฐมนตรีจึงเชิญชวนให้ฝรั่งเศสใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมมีความร่วมมือกับไทยในด้านการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม ตลอดจนพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนา EEC

ด้านการศึกษาและวิชาการ ไทยกับฝรั่งเศสมีความร่วมมือในด้านการศึกษามาอย่างยาวนาน โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัยระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งในปีหน้าคาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามในความตกลงด้านการศึกษาระหว่างกันได้ ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือของทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

สำหรับการสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต ของไทย นายกรัฐมนตรีขอรับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสสำหรับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งการจัดงาน Expo 2028 – Phuket Thailand ในเดือนมิถุนายน 2566 ระหว่างช่วงการประชุมสมัชชาใหญ่ (BIE General Assembly) ครั้งที่ 172 ที่กรุงปารีส โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมให้การสนับสนุนไทยในประเด็นนี้

สำหรับความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคและภูมิภาค นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยพร้อมสนับสนุนฝรั่งเศสในการมีส่วนร่วมและมีบทบาทที่สร้างสรรค์ ทั้งในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) อาเซียน – ฝรั่งเศส และอาเซียน – EU รวมถึงการขับเคลื่อนวาระสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิก และมุมมองอาเซียนต่ออินโด – แปซิฟิก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ฝรั่งเศสสนับสนุนการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย - EU ด้วยเช่นกัน ซึ่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมสนับสนุนนโยบายระหว่างไทยกับ EU และพร้อมผลักดันการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย – EU อย่างแข็งขัน

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีมอบเอกสารแถลงการณ์แสดงเจตจำนงเข้าร่วมข้อริเริ่ม PREventing Zoonotic Disease Emergence (PREZODE) เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาและป้องกันโดยโรคติดต่อระหว่างสัตว์กับคน (zoonotic disease) หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พีระพันธุ์' ยัน รทสช.หนุนแคนดิเดตจากเพื่อไทยแต่ต้องไม่มีเรื่อง 112

'รทสช.' ยันจุดยืนหนุนแคนดิเดตเพื่อไทยเป็นนายกฯต่อ แต่ต้องไม่แก้ ม.112 ยังไม่เคาะชื่อ 'ชัยเกษม นิติสิริ' หลังถามเรื่องสุขภาพ ลั่นไม่มีข้อตกลงบ้านจันทร์ส่องหล้า ด้านนโยบายเงินหมื่นรอ 'พท.' ชี้แจง

ประมวลภาพ 'พล.อ.ประยุทธ์-ทักษิณ' ร่วมงานพระราชทานเพลิงศพมารดาเศรษฐา

บรรยากาศงานพระราชทานเพลิงศพนางชดช้อย ทวีสิน มารดาของนายกรัฐมนตรี นายทักษิณได้เดินไปทักทาย พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ทั้งคู่ได้ยกมือไหว้ทักทาย และพูดคุยกันเล็กน้อย

'ดร.นิว' เหน็บ 'ปิยบุตร' ประชาธิปไตยบ้านพ่อ (ตา) ป่าเถื่อนสุดๆ

ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

‘เศรษฐา’ ถึงกรุงโรมเตรียมคุยนักธุรกิจ ก่อนเข้าพบนายกฯอิตาลี หารือทวิภาคี

ภายหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เสร็จสิ้นภารกิจที่เมืองมิลาน ได้เดินทางถึงท่าอากาศยานลีโอนาร์โด ดาวินชี ฟิอูมิชิโน  โดยมีนายเก-ราโด อมาดุซซี (Gherardo Amaduzzi) รองอธิบดีกรมพิธีการฑูต สาธารณรัฐอิตาลี พร้อมด้วยบุคคลฝ่ายไทยให้การต้อนรับ