ตั้งธงพัฒนาพื้นที่ “บ้านท่าจูด” อย่างเป็นระบบ ต่อยอดทุกกิจกรรมหนุนประสิทธิภาพชุมชน

การท่องเที่ยว ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจตั้งแต่ในระดับชาติ เรื่อยมาจนถึงในระดับสังคม ชุมชน และครัวเรือน ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือหลักที่มักถูกนำไปใช้ในการผลักดัน หรือใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจกันอย่างแพร่หลาย ยิ่งในระดับชุมชนเล็กๆ ด้วยนั้น การจะพัฒนาความเป็นอยู่ส่งเสริมรายได้ และต่อยอดอาชีพให้มั่นคง การท่องเที่ยวก็เป็นส่วนสำคัญ

แต่การท่องเที่ยวนั้น จะสามารถพัฒนาต่อไปได้ส่วนหนึ่งต้องมาจากศักยภาพพื้นที่ที่ดีก่อน รวมถึงการเอาจริงเอาจังของคนในชุมชนที่ตั้งใจจะร่วมมือกันผลักดันและพัฒนางานเพื่อให้การท่องเที่ยวนั้นคงอยู่ได้ ซึ่งผลดีที่จะตามมาก็คือความมั่งคั่งและความยั่งยืนของการเติบโตด้านเศรษฐกิจ จนสามารถสานต่อไปยังการพัฒนาอื่นๆ เช่นเดียวกับชุมชนบ้านท่าจูด อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ที่ถือว่าเป็นชุมชนต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผืนป่าเป็นส่วนหนึ่งในการรองรับการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

ชุมชนบ้านท่าจูดเป็นชุมชนที่มีพลวัตรในการพัฒนา มีระบบการบริหารงานแบบเครือข่ายจากระบบการจัดการที่ใช้การมีส่วนร่วม โปร่งใส และตรวจสอบได้ทำให้สามารถจัดการต่างๆ ได้ แต่กว่าจะสามารถจัดการทุกอย่างได้นั้น ชุมชนบ้านท่าจูด ก็เคยเป็นชุมชนที่มีปัญหามาก่อน จากหมู่บ้านกลางหุบเขาที่มีทั้งคลองน้ำจืด และคลองน้ำเค็มจากป่าชายเลน แถมยังมีป่าผืนใหญ่กว่า 3,000 ไร่ ที่มี 3 ลักษณะ คือ ป่าบก ป่าชายเลน และป่าพรุ และทำให้หมู่บ้านขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 776 คนแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยระบบนิเวศที่หลากหลาย

แต่ระหว่างปี 2506 - 2530 ชุมชนเผชิญกับการเปิดให้ทำสัมปทานเหมืองแร่ดีบุกในพื้นที่ จึงมีการนำเรือขุดแร่เข้ามา และจ้างคนในหมู่บ้านถางป่าโกงกางเพื่อเป็นที่พักจอดเรือขุดแร่ ทำให้ทรายไหลลงมาบริเวณรอบป่าพรุ ส่งผลให้คลองรอบพรุตื้นเขิน และเกิดน้ำเสียและน้ำทะเลหนุนสูง ต่อมาก็เกิดการบุกรุกเข้าไปทำสวนยางพารารอบพื้นที่ป่าพรุ และมีการทำสัมปทานป่าไม้ (ป่าบก) จนป่าเสื่อมโทรมลง รวมถึงการเปิดสัมปทาน “เตาถ่าน” ตัดไม้ในป่าชายเลนระหว่าง ปี 2511 - 2546 ส่งผลกระทบให้จำนวนไม้ลดลงรวดเร็ว ตามมาด้วยธุรกิจทำนากุ้งที่เข้ามาในชุมชนในช่วงปี 2542 - 2545 นอกจากส่งผลให้ป่าชายเลนเสื่อมโทรมแล้ว ชาวบ้านยังละอาชีพประมงพื้นบ้าน หันไปจับธุรกิจนากุ้งแทน

จากปัจจัยทั้งหมดทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องหันมาทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงนำไปสู่ “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้ชุมชนบ้านท่าจูดหันมาทำกิจกรรมอนุรักษ์โดยเริ่มต้นในปี 2535 เมื่อผู้นำชุมชน นายคำรณ คงเพ็ชร์ (อดีตผู้ใหญ่บ้าน) ปรึกษากับแกนนำหมู่บ้านเพื่อออกประกาศห้ามการเจาะน้ำมันยางบริเวณป่าคุ้งควนถ้ำ เพื่อแก้ปัญหาการรุกเข้าไปทำพืชเศรษฐกิจ อีกทั้งต้องการผลักดันให้พื้นที่ป่าคุ้งควนถ้ำเป็นป่าของชุมชน โดยมีพัฒนากรอำเภอตะกั่วป่าเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำการจัดการรูปแบบป่าชุมชนจนประสบความสำเร็จ

อันดับต่อไป คือการเดินหน้าฟื้นป่าชายเลนกว่า 100 ไร่ ซึ่งเริ่มในปี 2546 รวมทั้งปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อฟื้นฟูอาชีพ ประมงพื้นบ้าน ปัจจุบัน ชาวบ้านที่เคยมีอาชีพประมงส่วนใหญ่หันกลับไปสู่วิถีเดิม จนปัจจุบันได้ขยายการดูแลป่า ชายเลนพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ รวมทั้งฟื้นป่าพรุจำนวน 30 ไร่ (ที่ปรับตัวเป็นป่าเสม็ด เกิดผักกูด และลำเพ็ง ขึ้นมาแทนที่ กลายเป็นแหล่งอาหารของชุมชนในปัจจุบัน) รวมถึงการหันมาฟื้นฟูสวนสมรม ปรับสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันให้เป็นสวนผสมผสาน

ทั้งนี้ ได้ตั้งกติกาอนุรักษ์ป่าชุมชน ได้แก่ ห้ามทิ้งขยะ ห้ามตัดไม้ทำลายป่า รักษาความสะอาดบริเวณป่าชุมชน อนุรักษ์สัตว์น้ำและสัตว์ป่าบริเวณป่าชุมชน ไม่ก่อความเสียหายทรัพย์สินของบริเวณป่าชุมชน นอกจากนี้ยังให้สิทธิ์สมาชิกทุกคนเท่าเทียมกัน ในการเสนอความคิดหรือการมีส่วนร่วมในการดูแลจัดการป่าชุมชนแห่งนี้ มีการจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลป่าชุมชนให้กับสมาชิกได้ดูแลร่วมกันโดยมีการประเมินผลงานในทุกส่วนทุกวันที่ 4 ของทุกเดือน กำหนดหลักเกณฑ์ในการเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของป่าชุมชนอย่างมีระบบกำหนดข้อห้ามและข้ออนุญาตอย่างชัดเจน

เมื่อป่าสมบูรณ์ การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์เข้มแข็ง ทำให้ชุมชนนั้นมองไปถึงเรื่องการสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยมีการวางแผนงานในการจัดการป่าชุมชนแปลงใหม่ เพื่อเป็นจุดชมวิวของชุมชน และมีการสืบทอดผ่านกิจกรรมของชุมชน เช่น การท่องเที่ยวที่ครอบคลุมทุกระบบนิเวศได้ในอนาคต ปัจจุบัน ชุมชนใช้ป่าบกและป่าชายเลน แต่มีแผนในอนาคตที่เชื่อมโยงไปยังการท่องเที่ยวในป่าพรุ และป่าชุมชนแปลงใหม่ ตลอดจนการสร้างโรงเรียนป่าไม้ในอนาคต และจัดฝึกอบรมด้านภาษาให้กับคนพายเรือและอาสามัคคุเทศก์ เพื่อดำเนินกิจกรรมพายเรือแคนู ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนท่องเที่ยว

นอกจากนี้ คนในชุมชนยังมีการสืบทอด การจัดการบริหารทรัพย์สินส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับหมู่บ้าน (คณะกรรมการหมู่บ้าน) คณะกรรมการกองทุนต่างๆ ที่สะท้อนถึงบทบาทของหญิง ชาย คนรุ่นใหม่ อาวุโส ที่ทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีการขยายผลไปยังกลุ่มเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม และมีการขยายผลไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง โดยเป็นต้นแบบในการพัฒนาร่วมกันต่อไปในอนาคต

เห็นได้ชัดว่า เมื่อชุมชนมีประสิทธิภาพในการจัดการตั้งแต่ดูแลรักษาป่าไม้ จนนำไปสู่กิจกรรมทางชุมชนด้านอื่นๆ จึงก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนทั้งจากการท่องเที่ยว และจากการมีเงินทุนหมุนเวียน แน่นอนว่าเป็นการสร้างความได้เปรียบและการเติบโตของชุมชนได้อย่างเต็มที่

เพิ่มเพื่อน