ศาลรธน.วินิจฉัย ส.ว.ไม่เห็นชอบ 'รัชนันท์' นั่งตุลาการศาลปค.สูงสุด ไม่ขัด รธน.

12 ต.ค.2565 - เวลา 15.00 น. ตุลาการศาล​รัฐธรรมนูญ มีการประชุมลงมติ และออกนั่งบัลลังก์อ่านคําวินิจฉัยคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ นายรัชนันท์ ธนานันท์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ขัดต่อหลักความเสมอภาค และความเป็นอิสระของการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครอง เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ อันเป็นผลจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสาม ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และมาตรา 198 หรือไม่ โดยมีตัวแทนจากผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้แทนสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มาร่วมฟังการอ่านคำวินิจฉัย

โดยศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติให้ ก.ศป.เสนอชื่อผู้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือได้รับการคัดเลือกต่อนายกฯ และให้นายกฯเสนอขอความเห็นชอบต่อวุฒิสภาภายใน 15 วัน และให้นายกฯนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้ง ซึ่งข้อโต้แย้งที่ว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีความแตกต่างจากการแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ที่ไม่ต้องให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งขัดต่อหลักความเสมอภาคนั้น เห็นว่าศาลยุติธรรมและศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ การจัดตั้ง และการพิจารณาคดีที่แตกต่างกัน ผู้พิพากษาหรือตุลาการแต่ละศาลจึงต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจกฎหมาย และความเชี่ยวชาญในคดีแต่ละประเภทตามความเหมาะสมของแต่ละศาล มีที่มาที่แตกต่างกัน การแต่งตั้งและการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งย่อมแตกต่างกันด้วย จึงไม่อาจนำความแตกต่างนี้มาพิจารณาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติที่แตกต่างกันได้ และกระบวนการในการคัดเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุด ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย บังคับกับผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

ส่วนกรณีข้อโต้แย้งที่ว่า บทบัญญัติดังกล่าว แทรกแซงการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครอง และขัดต่อความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครองนั้น เห็นว่า วุฒิสภาถือเป็นองค์กรนิติบัญญัติที่จะให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 128 ทั้งนี้แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มิได้บัญญัติให้การแต่ตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุดต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา เหมือในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา แต่ยังคงหลักการเดิมในการคัดเลือกและแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุดในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายในระบอบพระราชบัญญัติที่บัญญัติรับรองไว้แล้วจึงไม่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอีก นอกจากนั้นการที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบของวุฒิสภาเป็นเพียงขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลัง ก.ศป.พิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดแล้ว โดยเป็นกระบวนการกลั่นกรองที่เกี่ยวกับความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ขั้นตอนดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับการคัดเลือกที่กระทำโดย ก.ศป. และองค์ประกอบของ ก.ศป. ไม่มีวุฒิสภาเข้าไปเกี่ยวข้อง การให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบของวุฒิสภาจึงไม่เป็นการใช้อำนาจขัดหรือแย้งกับ ก.ศป. และไม่กระทบต่อหลักความเป็นอิสระการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครองสูงสุด ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสาม ไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และมาตรา 198

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีวุฒิสภาลงมติด้วยวิธีลับกรณีการเสนอชื่อนายรัชนันท์ ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดนั้น เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้ง ระหว่างปี 2563-2564 โดยวุฒิสภาเสียงข้างมากมีมติไม่เห็นชอบให้นายรัชนันท์ ดำรงตำแหน่งตามที่เสนอ ซึ่งกรณีดังกล่าวมีรายงานข่าวจากวุฒิสภา แจ้งว่า สาเหตุที่ ส.ว.มีมติไม่เห็นชอบดังกล่าว เนื่องจากพบว่า นายรัชนันท์เคยถ่ายรูปและไปทักทายต้อนรับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สมัยที่ดำรงตำแหน่งเอกอัคราชทูตฟินแลนด์ เมื่อปี 2559 จึงเห็นว่ามีปัญหาเรื่องวุฒิภาวะที่ไปถ่ายรูปคู่กับนายทักษิณที่เป็นผู้ต้องหาหนีคดี และอาจมีปัญหาเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง ขัดกับการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ไม่ควรฝักใฝ่ฝ่ายใด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลรธน. แพร่ 'คำวินิจฉัยกลาง' พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง เรื่อง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.

'ภูมิธรรม' ยันศาลชี้ชะตา 'เศรษฐา' 14 ส.ค.เป็นไปตามกระบวนการ อย่าโยงภาพปฏิญญาเขาใหญ่

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน

'เศรษฐา' มองทักษิณ-อนุทิน ร่วมก๊วนกอล์ฟ เป็นเรื่องธรรมดา ไม่รู้ปฏิญญาเขาใหญ่คืออะไร

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมหลังศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัย ปม 40 ส.ว. ยื่นคำร้องการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี

'อนุทิน' ย้ำไม่เคยคิดแทนที่นายกฯ ลั่นทำวันนี้ให้ดีที่สุด

'อนุทิน' เผย ครม.ทุกคน ให้กำลังใจ 'เศรษฐา' ผ่านเหตุการณ์ 14 ส.ค. ด้วยดี หลังศาล รธน. นัดชี้ชะตา ขออย่ามองผลทางลบ บอกไม่เคยคิดมาแทนนายกฯ ย้ำทุกคนทำงานเข้ากันดี