ชวนตีแล้ว! ฝ่ายค้านเห็นแย้งคำวินิจฉัย 8 ปีนายกฯ ลั่นต้องสังคายนาศาลรธน.

แฟ้มภาพ

30 ก.ย.2565 - เมื่อเวลา 16.00 น. ที่รัฐสภา พรรคร่วมฝ่ายค้านออกแถลงการณ์ เรื่อง ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ อ่านแถลงการณ์ว่า 1.การพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากจะต้องหาความหมายจากถ้อยคำตามลายลักษณ์อักษรแล้ว ต้องพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย โดยต้องพิจารณาในขณะเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ว่าได้มีการพิจารณาถึงสาระสำคัญหรือเหตุผลเบื้องหลังของแต่ละมาตราไว้อย่างไร เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงไปตามความคิดและความรู้สึกในแต่ละช่วงเวลาได้ เมื่อในชั้นร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ที่ห้ามการดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี โดยมิได้บัญญัติข้อยกเว้นใดๆ ไว้ ได้มีความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปรากฏชัดในบันทึกการประชุม อันเป็นหลักฐานที่ชัดเจนถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ว่าให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ดำรงอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย และมาตรา 264 ให้นับความเป็นนายกฯ ต่อเนื่อง จึงไม่อาจแปลความเป็นอย่างอื่นได้เลยว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์นั้น ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.57 เป็นต้นไปเท่านั้น

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า 2.การวินิจฉัยให้เริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.60 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีผลใช้บังคับนั้น จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ยังมีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังครบวาระในครั้งนี้แล้วอีก 2 ปีจนถึงปี 2568 น่าจะเป็นการตีความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว เพราะจะส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์สามารถดำรงตำแหน่งได้รวม 10 ปี ซึ่งเกินกว่า 4 ปี และเกินกว่า 2 วาระปกติของการดำรงตำแหน่งนายกฯ อันผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 และรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่ต้องการจำกัดวาระและระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ มิให้เกิน 2 วาระ หรือเกินกว่า 8 ปี และยังขัดต่อการรับรู้ทั่วไปของประชาชน และขัดต่อข้อเท็จจริงว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ มาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.57 ซึ่งการตีความในลักษณะนี้ จะมีผลแปลกประหลาดคือ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ในวันที่ 6 เม.ย.60 ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ระยะเวลา 8 ปีก่อนวันที่ 6 เม.ย.60 กลับไม่นำมานับ แต่หลังจากวันที่ 6 เม.ย.60 กลับนำมานับ ทั้งๆ ที่มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯ ฉบับเดียวกัน

“อนึ่ง ในชั้นเริ่มต้นของการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์เมื่อปี 2557 แม้พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ จากความเห็นชอบของสภาฯ ตามมาตรา 158 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี 2560 ตาม แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ได้บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่สภาฯ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้ให้ความเห็นชอบให้พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ กรณีนี้จึงถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ย่อมเป็นนายกฯ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264” นพ.ชลน่าน กล่าว

นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย กล่าวว่า 3.เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกอ้างความชอบธรรมจากผู้มีอำนาจบ่อยครั้ง ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงและผ่านการลงประชามติของประชาชน การตีความให้พล.อ.ประยุทธ์ได้อยู่ในตำแหน่งเป็น 8 ปีได้ นอกจากขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยด้วย ถือเป็นการทำลายรากฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการผูกขาดการใช้อำนาจ 4.เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่การวินิจฉัยที่ส่อว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง ย่อมเป็นการทำลายคุณค่าความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แม้ผลคำวินิจฉัยจะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ได้ประโยชน์ แต่ก็จะเป็นการทำลายบรรทัดฐานทางกฎหมาย และอาจนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งที่ใหญ่หลวงในสังคม และเกิดการไม่ยอมรับในผลของคำวินิจฉัยได้

ด้านนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า 5.พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมีการปฏิรูปกระบวนการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเสียใหม่ ให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่เหมาะสม เพื่อมิให้มีการอาศัยผลของคำวินิจฉัยที่ผูกพันทุกองค์กร ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมและไม่คำนึงถึงบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ถูกต้องได้ ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าแม้ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ มีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคงมิใช่เป็นการฟอกขาวให้แก่พล.อ.ประยุทธ์โดยประการใดๆ พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าภาพจำของประชาชนที่มีต่อตัวนายกฯ คือผู้ที่พยายามจะสืบทอดอำนาจทุกวิถีทางเท่าที่จะหาวิธีทำให้ได้ ผู้ที่ผิดสัญญากับประชาชนมาตั้งแต่ต้นที่ทำรัฐประหารว่าจะอยู่ไม่นาน ผู้ที่ผิดสัญญากับประชาชนในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ จนทำให้ประเทศไทยตกขบวนลดชั้นลงไปจากผู้นำในอาเซียน การที่จะอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้อยู่ในอำนาจได้ต่อไป จึงมีแต่ความว่างเปล่าในสายตาของประชาชน และขอให้พี่น้องประชาชนได้ให้บทเรียนกับพล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพของพล.อ.ประยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ พล.อ.ประยุทธ์ทำหน้าที่นายกฯ ต่อไป สามารถทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้นั้น บทบาทของพรรคร่วมฝ่ายค้านในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย ก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลต่อไป โดยช่วงนี้เป็นช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ และจะเปิดประชุมอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ย. และปิดสมัยประชุมอีกครั้งในวันที่ 28 ก.พ. ถ้ามีการเปิดสมัยประชุมเราจะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการบริหารราชการแผ่นดินให้เข้มข้นอย่างที่สุด ช่วงที่ปิดสมัยประชุม ก็จะมีกรรมาธิการฯ ที่ทำหน้าที่อยู่ หากมีอะไรที่จำเป็นจะต้องใช้บทบาทของกรรมาธิการฯ ฝ่ายค้านจะเสนอผ่านกรรมาธิการฯ ซึ่งเป็นกลไกของสภา ส่วนการให้ข้อเสนอแนะหรือให้ข้อท้วงติงต่างๆนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านมีวาระการประชุมร่วมกันเป็นประจำทุกสัปดาห์อยู่แล้ว เราจะนำประเด็นต่างๆ มาปรึกษาหารือกัน เพื่อนำเสนอไปยังรัฐบาลในสิ่งที่เราเห็นว่าประชาชนจะได้รับความเสียหายหรือเป็นพิษภัย ไม่เป็นประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมือง เราจะใช้กลไกที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่สำคัญเราเตรียมเสนอญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง เสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยเมื่อเปิดสมัยประชุม ก็จะยื่นต่อประธานสภาเพื่อขอเสนอญัตติดังกล่าวทันที

เมื่อถามต่อว่า สถานการณ์การเมืองหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เนื่องจากการชุมนุมเรียกร้อง นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์การเมืองหลังจากนี้ เราเป็นห่วงประเทศชาติบ้านเมือง เพราะสิ่งที่เราให้เหตุผลในคำร้องของเรา โดยเฉพาะเรื่องการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัด เมื่อคำวินิจฉัยออกมาแบบนี้สถานการณ์เหมือนพายุโนรูเข้าประเทศไทย แต่ประเทศเราไร้ทางออกเช่นกันแต่เป็นโนรูล (rule) ซึ่งเป็นข้อที่เราห่วงใยมาก อยากให้ฝ่ายบริหารโดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์รับฟังข้อเสนอของพี่น้องประชาชนภายใต้ความสงบเรียบร้อย โดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเรียกร้องชุมนุม ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงออกตามข้อเสนอของเขา ต้องให้สิทธิเสรีภาพที่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ต้องไม่สร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงหรือความขัดแย้งเกิดขึ้น ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ควรสละตำแหน่งเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง ทุกอย่างก็จบ

ถามอีกว่าการนับวาระของพล.อ.ประยุทธ์ หากได้เป็นนายกฯต่อในการเลือกตั้งตั้งหน้า จะทำหน้าที่ ได้อีกเพียง 2 ปี ว่า การจะอยู่ในวาระได้ต่อไป จะต้องเสนอตัวเข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง เช่น เป็นแคนดิเดตนายกฯพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ถ้าพรรคการเมืองนั้นได้รับการเลือกตั้งมากว่าร้อยละ 5 หรือ 25 เสียงขึ้นไปจึงจะมีสิทธิเสนอชื่อ

ถามถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการยุบสภาหลังจากนี้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะยุบสภาถึงร้อยละ 90 จากเดิมที่เคยประเมินไว้ร้อยละ 80 โดยมีสองปัจจัยที่จะทำให้เกิดการยุบสภา คือ หนึ่ง ผู้มีอำนาจเห็นว่าตัวเองได้ประโยชน์ เพราะเตรียมองคาพยไว้หมดแล้ว การจัดระบบทุกอย่างพร้อม รวมถึงเงื่อนไขของกฎหมาย ถ้าเกิดให้อยู่จนครบวาระ ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคภายใน 90 วัน และจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน แต่ถ้าเกิดมีการยุบสภาส.ส.ต้องสังกัดภายใน 30 วัน และจัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน ซึ่งจะเห็นว่ามีเวลาหาเสียงมากกว่าการปล่อยให้อยู่ครบวาระ ด้วยเหตุนี้ผู้มีอำนาจถ้าเลือกได้ก็จะไม่อยู่ครบวาระ

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า สอง ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นมากกว่าเดิม เพราะประชาชนนับเลขเป็น รับรู้ได้ อีกทั้งศาลยังใช้ช่องว่างทางการกฎหมายวินิจฉัย วันนี้จำเลยของสังคมนอกจากพล.อ.ประยุทธ์แล้ว สังคมต้องไปมองที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วย เรื่องเหล่านี้จะทำให้เกิดความไม่สงบ อันเนื่องมาจากความเรียกร้องให้ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน

“ทางที่ดีที่สุดเขาจะต้องคืนอำนาจให้ประชาชน ไม่น่าจะมายึดอำนาจไม่ใช่มาสร้างสถานการณ์ ข้อเรียกร้องของประชาชนไม่ได้มีอะไรมากมายไปกว่าการคืนอำนาจให้ประชาชนโดยการยุบสภา เขาไม่ได้เรียกร้องให้มายึดอำนาจ เพราะฉะนั้นกลไกที่จะทำให้เขามายึดอำนาจ ประชาชนเขาจะไม่ทำ ยกเว้นจะมีคนสร้างสถานการณ์ทำเหตุการณ์ให้สมอ้างกับการทำรัฐประหาร ซึ่งจะทำให้ประเทศล้าหลัง เป็นสิ่งที่ไม่ดีแน่นอน” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ

สาวกเพื่อไทย ยื่นศาลรธน.สอบ 'ธนพร' ละเมิดอำนาจศาล

ที่บริเวณ​หน้าศาลรัฐธรรมนูญ​ นายนิยม นพรัตน์ หรือเค สามถุยส์ และนายทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร เดินทางมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นหนังสือร้อง นายธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์

'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง

จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ

2 ตุลาการศาลรธน.เสียงข้างน้อย รับคำร้อง 'ทักษิณ' สั่งรัฐบาลเอื้อประโยชน์ฮุนเซน น่าจะเกิดผลใช้สิทธิล้มล้างปกครองฯ

จากกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2567 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูก

ศาลรธน.ยกคำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง เอกฉันท์ 5 ประเด็นเว้นประเด็น 2

จากกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย