เปิดคำวินิจฉัยฉบับเต็ม ล้มเจ้าพังทั้งขบวนการ!

อ่านชัดๆคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม ข้อเรียกร้องยกเลิกรธน.มาตรา 6 มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดแจ้ง การกระทำของ 'อานนท์-ภาณุพงศ์-ปนัสยา-เครือข่าย' เป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อ้างแต่สิทธิเสรีภาพเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้คำนึงถึงหลักความเสมอภาค ภราดรภาพ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง สั่งหยุดการกระทำที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

10 พ.ย.64 - ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ชุมนุมปราศรัยวันที่ 10 ส.ค.63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ซึ่งมีการเสนอข้อเรียกร้อง10 ข้อในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเครือข่าย เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งจึงมีคำสั่งให้เลิกการกระทำ โดยศาลให้เหตุผลดังนี้

ศาลได้พิจารณาคำร้องคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเอกสารชี้แจงจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่าคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจงพยานหลักฐานต่างๆรวมทั้งบันทึกเสียงคำปราศรัยของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ฟังเป็นที่ยุติว่าผู้ถูกร้องทั้ง 3 ปราศรัยในที่สาธารณะหลายครั้งหลายหลายสถานที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.63 เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 ผู้ถูกร้องทั้งอภิปรายเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยข้อเรียกร้อง10 ข้อ

กรณีมีข้อโต้แย้งที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่าคำร้อง คลุมเครือไม่ชัดเจนครบองค์ประกอบตามมาตรา 49 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำร้องเป็นการอ้างถึงการที่ผู้ถูกร้องปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.63 ในเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต มีเนื้อหาบิดเบือนจับจ้วง ล้อเลียน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยที่เอกสารต่างๆรวมทั้งถอดคลิปเสียงที่แสดงถึงการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 กับพวกประกอบมาท้ายคำร้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำร้อง

เช่นนี้คำร้องจึงมีความชัดเจนและเพียงพอที่จะทำให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 เข้าใจสภาพของการกระทำที่เป็นข้อกล่าวหาสามารถต่อสู้คดีได้ ข้อโต้แย้งนี้ของผู้ถูกร้องทั้ง 3 จึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการใช้สิทธิ์หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

พิจารณาเห็นว่าหลักการตามรัฐธรรมนูญรากฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คุณค่าทางรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นแก่นของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขประกอบด้วยคุณค่าสำคัญได้แก่ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญหมวด 3 ทั้งนี้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มีการบัญญัติเรื่อยมาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 25 วรรคหนึ่งบัญญัติว่าสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะใน รัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่ไม่ได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้ และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญตราบเท่าที่การใช้สิทธิและเสรีภาพเช่นว่านั้น ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักประกันเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน สามารถแยกได้เป็น 2 ส่วน คือส่วนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ และส่วนที่รัฐธรรมนูญหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นไม่ได้มีการบัญญัติห้ามไว้ ปวงชนชาวไทยซึ่งมีสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวทั้งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงให้การคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพทุกกรณีทั้งที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ และที่ไม่ได้มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นห้ามหรือจำกัดไว้ โดยมีเงื่อนไขว่าการใช้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองต้องไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น เมื่อบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาด้วย

หน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองปรากฏชัดในรัฐธรรมนูญหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทยมาตรา 50(1)(3)(6)ที่กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติศาสนาพระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นและไม่กระทำการใดที่จะก่อให้เกิดการแบ่งแยกหรือเกลียดชังของสังคม

มาตรา 49 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ วรรค 2 บัญญัติว่าผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่งย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

วรรคสามบัญญัติว่า ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอหรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ และวรรคสี่บัญญัติว่าการดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาของผู้กระทำการของผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง

มาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศที่เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ข้อกำหนดให้ผู้ที่ทราบว่ามีการกระทำอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขร้องต่ออัยการสูงสุดและกรณีที่อัยการสูงสุดไม่รับดำเนินการตามคำร้องขอภายใน 15 วันสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้

นอกจากนี้ยังกำหนดให้การดำเนินการตามมาตราดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นรัฐธรรมนูญมาตรา 49 มุ่งหมายให้ปวงชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการทำหน้าที่ตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49

โดยหลักการตามมาตรา 49 วรรคหนึ่งบัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495มาตรา 35 และบัญญัติในทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับเป็นการวางหลักการเพื่อปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากภัยคุกคามอันเกิดจากการกระทำซึ่งเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ในลักษณะมุ่งหมายให้กลับกลาย คุณค่าของรัฐธรรมนูญที่รองรับการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป

หลักการตามหลักรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง ปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 63 และบัญญัติในทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์กำหนดว่าเมื่อมีผู้ทราบถึงการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขบุคคลผู้นั้นย่อมมีสิทธิ์ร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติเพิ่มเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นว่าถ้าอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำร้องตามที่ร้องขอภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการรับรองสิทธิของพลเมืองในการปกป้องรัฐธรรมนูญจากการกระทำของบุคคล หรือกลุ่มบุุคคลที่ใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในประการที่นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดังนั้นการใช้สิทธิ์ปกป้องรัฐธรรมนูญถือเป็นกลไกหนึ่งของระบบยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญโดยบุคคลที่ใช้สิทธิในการปกป้องรัฐธรรมนูญ จะต้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำร้อง ก่อนเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอหรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ รัฐธรรมนูญก็รับรองสิทธิของผู้ร้องในการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เอง การรับรองสิทธิของผู้ร้องในกรณีดังกล่าวเป็นการสร้างหลักประกันการธำรงไว้ซึ่งหลักการอันเป็นสาระสำคัญแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อใดที่ปรากฏการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำในลักษณะดังกล่าวย่อมถูกกล่าวหาเป็นคดีในศาลรัฐธรรมนูญได้

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้องคำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานต่างๆที่สำนักงานอัยการสูงสุดร่วมกับสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จ.ปทุมธานี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่าเมื่อวันที่ 10 ส.ค.63 ผู้ถูกร้องทั้ง 3 จัดชุมนุมปราศรัย เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต

การปราศรัยของนายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1 ปราศรัยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า "ที่เรามาชุมนุมกันในวันนี้ เพื่อยืนยันว่านอกจากข้อเสนอ 3 ข้อที่เราพูดกันอยู่ทุกเวที ความจริงมีข้อเสนอระหว่างบรรทัดที่เป็นข้อเสนอสำคัญที่สุดคือการแก้ปัญหาการขยายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และผมขอยืนยันอีกครั้งว่านี่ไม่ใช่ม็อบล้มเจ้า ไม่ใช่ม็อบจาบจ้วง แต่เป็นม็อบที่พูดความจริงเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง

ประเด็นสำคัญที่ผมจะพูดวันนี้คือข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัดของพวกเราระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น หมายถึงกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมือง และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญพระราชกรณียกิจอันใดที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองต่อไปนี้ ต้องถูกตั้งคำถามดังๆต่อสาธารณะ เราอยากเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์ปรับตัวเข้าหาประชาชนไม่ใช่ให้เราปรับตัวเข้าหาสถาบันพระมหากษัตริย์ การอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเป็นสาระสำคัญของการปกครองที่พวกเรามีอยู่ แต่ปัญหามันเกิดขึ้นเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์พยายามใช้อำนาจผ่านการรัฐประหารปี 2557 พระมหากษัตริย์ ถ้ายังเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องไม่เซ็นรับรองการรัฐประหาร หากการรัฐประหารเกิดขึ้นพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น"

ส่วนนายภาณุพงศ์ จอดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า "นับแต่คณะราษฎรนำโดยท่านปรีดีพนมยงค์และท่านพระยาพหลพลพยุหเสนาได้มีการปฏิวัติสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยและให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปัจจุบันผมคิดว่าการใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังใช้ยาวมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน เพราะกษัตริย์อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจอำนาจตุลาการ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ ถามว่าทำไมต้องพูดแบบนี้

ท่านเคยรู้หรือไม่ครับว่าหมวดที่ 2 ของรัฐธรรมนูญมาตรา 6 วรรคสอง บอกไว้ว่าผู้ใดไม่สามารถฟ้องร้องกษัตริย์ได้ เช่นนี้แล้วแสดงว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของ เจตนาการพูดของผมในครั้งนี้ต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ในที่ที่เหมาะสม ร่วมกับประชาชนคนไทยได้ และที่บอกว่าอยู่เหนืออำนาจอธิปไตย คือการอยู่เหนืออำนาจของประชาชนโดยที่ประชาชนไม่สามารถแตะต้องได้ เพราะถ้าใครแต่ต้องคนนั้นต้องโดนมาตรา 112"

และ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมฉบับที่ 1 มีสาระสำคัญสรุปว่า "นับแต่คณะราษฎรเกิดการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยหวังว่าประเทศจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่เหนือระบอบการเมืองอย่างแท้จริง แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระมหากษัตริย์ยังคงทรงอำนาจแทรกแซงเหนือการเมือง เมื่อเกิดรัฐประหารพระมหากษัตริย์ ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งหัวหน้ารัฐประหาร รวมทั้งถ่ายโอนงบประมาณแผ่นดินเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรงใช้พระราชอำนาจนอกกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ และให้สามารถเสด็จไปประทับนอกราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐบาลเผด็จการยอมสยบอยู่ภายใต้มือของพระมหากษัตริย์ ด้วยอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขา

เห็นได้ว่าพวกเขาเหล่านี้สมประโยชน์กันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่ากษัตริย์ประเทศไทยนี้ไม่ได้ทรงอยู่เหนือการเมือง หากแต่เป็นรากเหง้าของปัญหาการเมืองตลอดมา นอกจากจะทรงละเลยหน้าที่การเป็นประมุขยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน แล้วยังเสด็จไปเสวยสุขประทับอยู่ต่างแดน โดยใช้เงินภาษีของราษฎรทั้งที่ราษฎรประสบความยากลำบาก

อีกทั้งยังมีสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มกบฏผู้ก่อการรัฐประหาร กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อ"

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีบทลักษณะการห้ามใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขปรากฏในรัฐธรรมนูญ 40 มาตรา 63 รัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 68 และรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 49 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่18-22/2555 คําวินิจฉัยศาลรัฐนูญที่ 3/2562 ได้วางหลักคำว่าล้มล้างว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญที่สุดวิสัย จะแก้ไขให้กลับคืนได้

นอกจากนั้นเป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญ สูญสลาย หมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่หรือมีอยู่อีกต่อไป การใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมือง ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่าพระมหากษัตริย์ ทรงกระทำผิดมิได้และให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ห้ามผู้ใดล่วงละเมิดหมิ่นประมาทพระบรมเดชานุภาพ สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพ สักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วน และความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินความพอเหมาะพอควร โดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

พระมหากษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่คู่กัน นับแต่อดีตถึงปัจจุบันและจะดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคตประเทศไทย มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ปวงชนชาวไทยยังเห็นพ้องร่วมกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นสถาบันหลักคู่ชาติไทยและถวายความเคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทั้งนี้เพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ดังปรากฏในพ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475 โดยมาตรา 1 บัญญัติว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย

มาตรา 2 บัญญัติว่า เมื่อมีบุคคลและคณะบุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังที่จะกล่าวต่อไปในรัฐธรรมนูญคือ 1. กษัตริย์ 2. สภาผู้แทนราษฎร 3. คณะกรรมการราษฎร 4. ศาล มาตรา 3 บัญญัติว่ากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศพระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่นๆซึ่งจะมีกฎหมายบัญญัติเป็นการเฉพาะก็ดีจะต้องกระทำในนามกษัตริย์ ต่อมาเมื่อมีการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวบททั่วไปมาตรา 2 บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนี้หมวด 1 พระมหากษัตริย์หมวด 3 บัญญัติว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

มาตรา 5 ระบุว่าพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม

มาตรา 6 บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา 7 บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี

มาตรา 8 บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจตุลาการทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย

จากบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับดังกล่าว เห็นได้ว่าประวัติศาสตร์การปกครองของไทยนั้น อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดนับแต่ยุคสุโขทัย อยุธยาตลอดจนรัตนโกสินทร์พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นประมุขของไทยมีพระราชภารกิจที่สำคัญยิ่งเพื่อรักษาความอยู่รอดของบ้านเมืองและประชาชน โดยจะต้องดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยเพื่อนำกองทัพต่อสู้ปกป้องและขยายอาณาจักรตลอดเวลาในยุคก่อนที่ผ่านมา

ประกอบกับพระมหากษัตริย์ไทยทรงถือหลักการปกครองโดยยึดหลักธรรมของพุทธศาสนาและยึดถือทศพิธราชธรรมเป็นหลักในการปกครองประเทศ พระมหากษัตริย์ของไทยจึงเป็นที่เคารพและศรัทธา เป็นศูนย์รวมจิตใจความเป็นหนึ่งเดียวกันของปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดเป็นเวลามาหลายร้อยปี

ดังนั้นแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยเมื่อปี 2475 คณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลง และประชาชนชาวไทยจึงเห็นพ้องกันในการอัญเชิญสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นทรงสถาบันหลักจะต้องคงอยู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวโดยเรียกรูปแบบการปกครองนี้ ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และราชอาณาจักรไทยได้คงไว้ซึ่งการปกครองนี้ต่อเนื่องมาโดยตลอดทำนองเดียวกับประเทศต่างๆที่มีความเป็นมาของชาติและเอกราชแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันประการหนึ่งคือเอกรัฐ หรือสัญลักษณ์ของชาติ รวมถึงทรัพย์สมบัติของชาติจะมีกฎหมายห้ามกระทำการอันเป็นมลทินที่ทำให้เสื่อมสภาพ เสียหายหรือชำรุด

ข้อเรียกร้องที่ขอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐ ที่ผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้นั้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดแจ้ง การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่างได้ด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นทำตาม

ยิ่งกว่านั้นการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายและการปราศรัยของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เมื่อวันที่ 10 ส.ค.63 ณ เวทีธรรมศาสตร์ จะไม่ทนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตจะผ่านไปแล้ว ภายหลังจากที่นายณฐพร โตประยูร ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ยังปรากฏว่าผู้ถูกร้องทั้ง 3 ยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มต่างๆโดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนแปลงผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์แบบไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน การเคลื่อนเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องทั้ง 3 และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีลักษณะเป็นขบวนการเดียวกัน มีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก ถูกผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีพฤติการณ์กระทำซ้ำและกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยมีการกระทำกันเป็นขบวนการซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดม ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ มีลักษณะก่อให้เกิดความวุ่นวายและความรุนแรงในสังคม

ระบอบประชาธิปไตยมีหลักการสำคัญ 3 ประการ 1. เสรีภาพหมายถึงทุกคนมีสิทธิ์คิด พูดและทำอะไรก็ตามที่ไม่มีกฎหมายห้าม 2. เสมอภาคคือทุกคนมีความเท่าเทียมกัน 3.ภราดรภาพหมายถึงคนทั้งหลายมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันฉันท์พี่น้อง มีความสามัคคีกัน การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ด้วยความผูกพันของปวงชนชาวไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีมาหลายร้อยปีพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุขจึงได้รับความยินยอมจากปวงชนชาวไทยให้ทรงใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล

สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเป็นเสาหลักสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นการกระทำใดๆที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีการพูด เขียนหรือการกระทำต่างๆเพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่าหรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ การใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้งสามไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการอ้างสิทธิเสรีภาพเพียง อย่างเดียว ไม่ได้คำนึงถึงหลักความเสมอภาค ภราดรภาพ ผู้ถูกร้องทั้ง 3 ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากบุคคลรวมทั้งล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่นที่เห็นต่างด้วยด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่น ด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือนจากความเป็นจริง

ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะเป็นองค์กรเครือข่าย มีการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง บางเหตุการณ์ผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีส่วนในการจุดประกายในการอภิปรายปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมืองทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติอันเป็นการทำลายหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ ผลการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจากนี้ยังปรากฏว่าการชุมนุมหลายครั้งมีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีของพระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์

ข้อเรียกร้อง 10 ข้อของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เช่นการยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ การยกเลิกการรับบริจาคโดยพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจ และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันตลอดมา

ทั้งพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจว่าผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีเจตนาซ่อนเร้น เพื่อล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมายมีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง

แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้วแต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสองให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ด้วย

เหตุดังกล่าวจึงวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 รวมทั้งองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยตามมาตรา 49 วรรคสอง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิด 11 ชื่อผู้สมัคร 'ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ' ปลัด ก.เกษตรฯ มาวันสุดท้าย

ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน ระหว่างวันที่ 11-25 พฤศจิกายน 2567

'ทักษิณ-พท.' อย่าเพิ่งตีปีก! ชั้น 14 ป.ป.ช. ใกล้งวด คดีครอบงำยิ่งชัด รอ กกต. เคาะ

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หน้าแตกกันไปตามๆ กัน เมื่อได้ทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่รับวินิจฉัยคำร้อง

'ดร.ณัฏฐ์' ชี้กรณี 'ทักษิณ-พท.' รอดคดีล้มล้างฯ ไม่ตัดอำนาจ 'กกต.' ไต่สวนยุบพรรคได้

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นการ

'วิสุทธิ์' เผยฝ่ายกฎหมายเพื่อไทย ร่างคําฟ้องเช็กบิล 'ธีรยุทธ' แล้ว

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการฟ้องร้องผู้ยื่นคําร้องกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครอง ว่า ตนได้คุยกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี