22 ก.ย.2565 - ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศไทม์ไลน์การเลือกตั้ง ถือว่าเร็วหรือไม่ ว่าการประกาศของ กกต.ดังกล่าวถือว่าไม่เร็ว เพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องประกาศ 180 วัน ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลง ดังนั้นวันนี้ทาง กกต.ได้ทำเป็นฉากทัศน์สองแบบ โดยแบบที่หนึ่งถ้ารัฐบาลอยู่ไปจนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566 เขาจะต้องเตรียมการว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร เป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลรู้ ในบางอย่างรัฐบาลต้องทำ บางอย่างกกต.ทำเอง แต่หากมีการยุบสภาฯก่อน ซึ่งการจะยุบเมื่อไหร่กกต.ไม่เกี่ยว มันเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่ถ้ารัฐบาลตัดสินใจยุบสภาเมื่อไหร่ก็ตาม รัฐบาลต้องรู้ว่าจะต้องทำอะไร และกกต.จะได้รับลูกไปทำอะไรต่อ หากยุบสภาฯจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วันไม่เกิน 60 วัน แต่ถ้าสภาฯอยู่จนครบวาระ ก็ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน จึงได้มีการกำหนด ถ้าอยู่จนครบเทอมในวันที่ 23 มีนาคม 2566 จะเลือกตั้งได้ในประมาณวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นการกำหนดมาทุกรูปแบบ ไม่ใช้เรื่องใหญ่โตอะไร ในอดีตทุกครั้งที่ผ่านมาเขาก็ทำอย่างนี้
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่มีการออกข่าวเตือนว่าเหลืออีก 180 วัน ที่จะถึงวันที่ 23 มีนาคม2566 แต่ละพรรคจะต้องเตรียมอะไร อย่างไร เป็นความรอบคอบที่เขาจะต้องเตือน ที่แล้วมาไม่จำเป็นต้องเตือน เพราะมีกฎหมายเลือกตั้งอยู่ ทุกคนต้องว่าไปตามกฎหมายเลือกตั้ง แต่เนื่องจากขณะนี้กฎหมายเลือกตั้งอยู่ระหว่างแก้ไข มันยังต้องใช้กฎหมายฉบับเดิม ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้ว ก็ต้องใช้กฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ จึงอยู่ระหว่างเก่ากับใหม่ กกต.ต้องออกคู่มือเตือนไว้ก่อน ทั้งเรื่องการแจกเงิน การหาเสียง ตนได้ประสาน กกต.ให้ส่งประกาศดังกล่าวมา เพื่อรัฐบาลจะลงในราชกิจจานุเบกษา ตอนนี้เป็นการเตือน แต่ประกาศยังไม่ออก ตนเข้าใจว่าวันที่ 22กันยายนทาง กกต.จะส่งมาได้ เพราะต้องมีผลก่อนวันที่ 24 กันยายนนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังประกาศกกต.ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว รัฐมนตรีต้องปฏิบัติตัวอย่างไรนายวิษณุ กล่าวว่า ต้องเตรียมการ ถ้าจะไปทำอะไรในฐานะพรรคการเมือง แต่ถ้าในฐานะคณะรัฐมนตรีถือเป็นหน้าที่จะต้องทำ แต่ถ้าคนเดียวสวมหมวกสองใบซ้อนกันก็ต้องระมัดระวังหน่อยก็แล้วกัน ให้คนดู ให้ชาวบ้าน ให้กกต.แยกออก ทั้งนี้ตนได้เห็นร่างประกาศคร่าวๆแล้วว่าแจกเงินอะไรต่ออะไรไม่ได้ แต่เป็นการห้ามผู้สมัครและพรรคการเมือง ถ้าเป็นรัฐมนตรีไม่เป็นไร แต่ถ้ารัฐมนตรีที่จะไปเป็นผู้สมัครต้องระวัง เพราะเดี๋ยวแยกไม่ออกจะมีการฟ้องร้องกัน หาก กกต.ส่งประกาศมาวันนี้ก็จะนำแจ้งครม.ในการประชุมครม.วันอังคารที่ 27 กันยายนนี้
เมื่อถามว่า เมื่อกกต.ประกาศไทม์ไลน์ดังกล่าว ในซีกของรัฐบาลจะต้องดำเนินการอะไรบ้างนายวิษณุ กล่าวว่า เกือบจะไม่ค่อยมี ถ้าหากอยู่จนครบเทอม รัฐบาลเกือบจะไม่ต้องทำอะไร กกต.จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง ไม่ใช่รัฐบาล และกำหนดวันรับสมัคร วันร้องคัดค้าน แต่ถ้าเป็นการยุบสภารัฐบาลทำอย่างเดียวคือการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา ซึ่งในนั้นจะไม่บอกวันเลือกตั้ง บอกแต่ให้ยุบ สมัยก่อนตอนที่ไม่มีกกต.ในพระราชกฤษฎีกายุบสภา มาตรา1 พระราชกฤษฎีกานี้ หนึ่งชื่ออะไรสองใช้บังคับเมื่อไหร่ สามยุบสภา สี่ให้เลือกตั้งเมื่อไหร่ แต่คราวนี้ไม่ได้แล้ว เพราะการเลือกตั้งเมื่อไหร่เป็นเรื่องของ กกต. ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลประกาศยุบสภา กกต.จะไปกำหนดประกาศวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน เพื่อให้รู้ว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีหากพูดว่าอาจจะยุบสภาฯเมื่อนั้น เมื่อนี้ จะพูดได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า สื่อถามกันมากๆท่านก็พูดไปว่าเอาไว้หลังการประชุมเอเปค มันคืออย่างนั้น แต่ไม่ใช่ว่าจะยุบหลังประชุมเอเปค ซึ่งสามารถพูดได้ เพราะมีอำนาจที่จะยุบ แต่ไม่ได้เป็นเรื่องจับให้มั่นคั้นให้ตายเมื่อถามกันมากๆก็บอกให้ไปว่ากันหลังเอเปค ตอนนี้ไม่มีอะไร ความหมายมันคืออย่างนั้น
เมื่อถามว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยวาระ 8ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากไปต่อไม่ได้ อาจารย์ยืนยันว่านายกฯสามารถรักษาการ และยุบสภาได้ใช้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในทางทฤษฎีได้ แต่ในทางปฏิบัติบอกแล้วว่าไม่ควร สาเหตุที่ใช้คำว่าทฤษฎีก็ต้องไปเปิดดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 เขียนไว้ว่าในกรณีที่นายกรัฐมนตรีพ้นไปจะรักษาการไม่ได้ ถ้า 1-2-3-4 แต่เรื่อง 8 ปี ไม่ได้อยู่ในข้อที่ 4 ก็หมายความว่ารักษาการได้ ซึ่งเป็นเรื่องทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติมันไม่สมควร
"ผมเชื่อว่าความควร ไม่ควร ทุกคนก็รู้อยู่" นายวิษณุ กล่าว เมื่อถามย้ำว่า หมายความว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเองใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า"ใช่ครับ" เมื่อถามต่อว่า มีกระแสว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะชี้เฉพาะคำร้องที่ฝ่ายค้านถามมาเท่านั้นคือครบหรือไม่ครบ 8ปีเท่านั้น ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ จะไปเดาได้อย่างไร โดยตามหลักเขาต้องตอบตามที่ฝ่ายค้านถาม หลักมีอยู่แล้ว เขาไม่ตัดสินเกินคำฟ้อง หรือเกินคำขอ
เมื่อถามอีกว่า อนาคตถ้ามีปัญหาค่อยร้องเพิ่มเติมใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แม้แต่ตามคำขอเขาก็อาจจะบอกอะไรมาได้มากพอพสมควรแล้ว
เมื่อถามว่า ในฐานะที่อยู่การเมืองมานาน ร่วมคณะรัฐมนตรีมาหลายสมัย มองบรรยากาศการเมืองช่วงนี้เป็นอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีอะไรแตกต่าง บ้านเมืองเปียก ฝนตกน้ำท่วม รถติด แต่จากประสบการณ์เห็นว่าไม่มีอะไรแตกต่าง เมื่อถามอีกว่า ได้กลิ่นในทางการเมืองอย่างไรบ้างนายวิษณุ กล่าวว่า "ไม่ได้กลิ่น บังเอิญใส่หน้ากากอยู่” เมื่อถามว่า ได้กลิ่นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี ไม่ได้กลิ่นอะไร
ถามต่อไปว่า ถ้านายกฯตัดสินใจยุบสภา จะต้องแจ้งล่วงหน้าหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การคิดไว้ก่อนอาจต้องคิด และคิดไว้ทุกรูปแบบ แต่การบอกล่วงหน้าตนคิดว่าไม่มี ซึ่งในอดีตมีสองแบบทั้งนายกฯยุบสภาโดยไม่บอกใครเลย บอกคนเดียวคือเลขาธิการครม. แต่บางครั้งก็มีการหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเป็นการภายใน ไม่ใช่ประชุมครม.แล้วพูดกัน ตอนนี้อย่าไปคาดการณ์อะไรเลย เหลืออาทิตย์เดียวก็รู้เรื่องแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ
'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง
จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.
หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476