iLaw เผยแพร่ สรุปคำปราศรัย รุ้ง-ไมค์-อานนท์ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินล้มล้างการปกครองฯหรือไม่ ไมค์-ต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ในที่เหมาะสม อานนท์-กษัตริย์อยู่เหนือการเมืองและใต้รัฐธรรมนูญ รุ้ง-ไม่มีใครเกิดมาสูงกว่าใคร
10 พ.ย.2564 - iLaw ได้ เผยแพร่ สรุปคำปราศรัย รุ้ง-ไมค์-อานนท์ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญชี้เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่ โดยระบุว่า 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ ณฐพร โตประยูร ร้องขอให้วินิจฉัยว่าการชุมนุมและปราศรัยของผู้ชุมนุม 8 คน ได้แก่ อานนท์ นําภา ภาณุพงศ์ จาดนอก ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล พริษฐ์ ชิวารักษ์ จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ สิริพัชระ จึงธีรพานิช สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ อาทิตยา พรพรม เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญรับคําร้องเฉพาะการกระทําในการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ของทนายอานนท์, ไมค์ ภาณุพงศ์ และรุ้ง ปนัสยา ไว้พิจารณาวินิจฉัย
+++ผมต้องการให้พระมหากษัตริย์ อยู่ในที่เหมาะสม อยู่ร่วมกับคนไทยได้+++
สรุปคำปราศรัย ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก การชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" 10 สิงหาคม 2563
"หากเรากําลังจะสร้างถนนลาดยาง 1 เส้นเพื่อความเจริญงอกงามให้กับประเทศ แต่ดันบังเอิญมีต้นไม้ใหญ่ขวางอยู่ รู้ไหมต้นไม้ใหญ่ คือ ใคร หลายคนอาจคิดว่ามันไม่ยากเลยกับการสร้างถนนลาดยาง คือการสร้างให้มันเป็นวงเวียนใช่ไหมครับ แต่สําหรับผม ผมคิดว่าเราควรย้ายต้นไม้ให้ไปอยู่ในที่ที่สมควรอยู่ และสร้างถนนลาดยางที่แข็งแรงและสมบูรณ์
.
ผมกําาลังจะเปรียบเทียบว่าการที่เราพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ เป็นสิ่งที่เราสามารถพูดได้ เพราะเมื่อผมย้ายต้นไม้ หรือสร้างถนนให้เกิดความแข็งแรงสมบูรณ์ ต้นไม้จะอยู่ในที่ที่เหมาะสม และถนนก็ยังคงแข็งแรง เปรียบเสมือนกับว่าวันนี้เรากําลังจะสร้างประเทศให้เกิดความเจริญก้าวหน้าโดยให้กษัตริย์อยู่ในที่ที่เหมาะสม"
.
ภาณุพงศ์กล่าวว่า ตัวเขาเองไม่แน่ใจว่าการขึ้นปราศรัยในวันที่ 10 สิงหาคม จะเป็นเหตุให้เขาถูกถอนประกันในภายหลังหรือไม่ แต่เขาก็ไม่สนใจ เพราะคิดว่าการกระทําของเจ้าหน้าที่ คือพฤติกรรมของคนที่สนับสนุนเผด็จการทหาร
.
ภาณุพงศ์ระบุว่าก่อนที่เขาจะขึ้นปราศรัยในวันที่ 10 สิงหาคม เคยมีคนถามว่าสิ่งที่เขากำลังทำเหมือนเป็นการขุดดินด้วยมือเปล่า หรือเป็นความพยายามถอนรากต้นไม้ใหญ่ด้วยมือของคนเพียงคนเดียวหรือไม่ ซึ่งจำนวนคนที่มาร่วมชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 คือ สิ่งที่พิสูจน์ว่าเขาไม่ได้ทำเพียงลำพัง
.
สำหรับสิ่งที่เขาต้องการในการปราศรัยวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เขาเพียงหวังให้พระมหากษัตริย์อยู่ในที่ที่เหมาะสมร่วมกับประชาชน แต่สิ่งที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริง คือ ยังมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนืออำนาจอธิปไตย อยู่เหนือประชาชน เพราะประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์จะถูกจัดการด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เขาจึงหวังว่าพระมหากษัตริย์จะทรงปรับตัวเข้ากับประชาชนและกลับมาอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ประชาชน
.
ภาณุพงศ์ปราศรัยต่อว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ให้หยุดคุกคามประชาชน รัฐบาลก็ยังไม่ทำเพราะยังมีเจ้าหน้าที่ติดตามไปถ่ายรูป ไปหาข้อมูลส่วนบุคคล อยากฝากไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ ว่าขอให้ลาออกเพื่อประชาชน ไม่อย่างนั้นก็ให้ยุบสภาแล้วให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ ดูว่าประชาชนจะรักพล.อ.ประยุทธ์จริงหรือไม่ มาแข่งกับเขาที่เป็นคนธรรมดาก็ได้ ดูว่าประชาชนจะเลือกใครมากกว่ากัน
+++ข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัด กษัตริย์อยู่เหนือการเมืองและใต้รัฐธรรมนูญ+++
สรุปคำปราศรัย ทนายอานนท์ นำภา การชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน 10 สิงหาคม 2563
"สิ่งที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทําให้ผมลุกขึ้นมาพูดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ในชุดครุยของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็คือภาพของพี่น้อง นิสิตนักศึกษา นักเรียนมัธยมพากันชูป้ายตั้งคําถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อยู่ด้านล่าง แต่คนอยู่บนเวทีไม่กล้าที่จะพูด หลังจากนั้นน้องๆ นักเรียนมัธยม นิสิตนักศึกษา โดนคุกคามทุกคน นั่นเป็นฟางเส้นสุดท้าย
สังคมต้องยอมรับความจริง ป้ายที่นิสิตนักศึกษา นักเรียนมัธยม พี่ป้าน้าอาชู ว่าคนที่อยู่ในสถาบันนั้นหมายถึงใครไม่ได้ นอกจากจะหมายถึงพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องใช้สัญญะ การพูดอย่างตรงไปตรงมาเป็นประโยชน์มากกว่า"
.
ทนายอานนท์ระบุว่า หลังได้รับฟังผู้ปราศรัยคนก่อน เขาเชื่อว่าปรีดี พนมยงค์ น่าจะตายตาหลับ และผู้ลี้ภัยอย่างปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลน่าจะรู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น
.
การชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันที่10 สิงหาคม 2563 มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากกว่าหนึ่งหมื่นคน นี่ไม่ใช่ม็อบมุ้งมิ้ง แต่เป็นม็อบที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น สำหรับตัวเขาเองก่อนหน้าที่จะมาชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เคยปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และถูกรายงานสดผ่านสื่อช่องต่างๆ โดยที่บางช่องถูกสั่งให้ตัดการถ่ายทอดสด แต่การปราศรัยในวันนี้คงจะตัดไม่ทันแล้ว จึงขอฝากไปถึงสื่อมวลชน ขอให้นึกถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนรุ่นก่อนๆอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ อิศรา อมันตกุล และสื่อฝ่ายประชาธิปไตยคนอื่นๆ และขอให้ทำหน้าที่แบบเดียวกับพวกเขาเหล่านั้น
.
สำหรับการชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการชุมนุมเพื่อยืนยัน สามข้อเรียกร้อง จริงๆ แล้วในสามข้อเรียกร้องมันมีข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัดอยู่ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สำคัญที่สุด คือปัญหาการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ การชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ใช่การชุมนุมเพื่อล้มล้างสถาบัน หากแต่เป็นการชุมนุมที่นำปัญหาและความจริงในบ้านเมืองมาพูด
.
ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หมายถึงกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พระราชกรณียกิจอันใดที่ทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองจากนี้ไปจะต้องถูกตั้งคำถามโดยสาธารณะ สิ่งที่คนที่มาชุมนุมในที่นี้ต้องการเห็นคือสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ปรับตัวเข้าหาประชาชน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือการที่คณะรัฐประหาร 2557 นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ออกไป
.
ประเด็นปัญหาข้างต้น ตัวเขาเองเคยแสดงความคิดเห็นไว้หลายที่แล้ว ทั้งในเวทีวิชาการหรือเฟซบุ๊ก แต่สิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจนำประเด็นนี้มาพูดในพื้นที่การชุมนุมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ในการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย คือการที่เขาได้เห็นนักเรียน นิสิตนักศึกษาถือป้ายเขียนข้อความตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมทว่าผู้ปราศัยบนเวทีกลับไม่กล้าพูดถึงประเด็นดังกล่าว แล้วหลังจากนั้นคนถือป้ายก็ถูกติดตามคุกคาม
.
ตัวของอานนท์เห็นว่า ป้ายข้อความเหล่านั้นตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากจะหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ตัวเขาเชื่อว่าการพูดอย่างตรงไปตรงมา ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ต่อผู้ฟัง และต่อสถาบันพระมหากษัตริย์น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด เพราะหากปัญหาไม่ถูกนำมาพูดอย่างตรงไปตรงมา ปัญหาก็จะคาราคาซังไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนคนที่ถือป้ายก็ต้องแบกรับความเสี่ยงต่อไป
.
ข้อเสนอของตัวเขา และข้อเสนอของผู้ชุมนุม ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และเป็นข้อเสนอที่สามารถทำได้โดยกระบวนการปกติของรัฐสภา ขั้นแรกคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอาส.ว. รวมถึงเอาอำนาจในการเลือกนายกของส.ว. ออกไป
.
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็สามารถใช้รัฐสภาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการปกติ ให้สภาผู้แทนราษฎรแก้ไขกฎหมายทั้งที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ และการโอนอัตรากำลังพลไปให้สถาบันพระมหากษัตรย์ให้มีความเหมาะสมตามระบอบประชาธิปไตย
.
หากส.ส.เห็นหัวประชาชนและยึดมั่นในหลักการ ก็สามารถแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นได้ตามกลไกปกติ ส่วนส.ส.ที่ไม่เห็นหัวประชาชน ไม่ยึดมั่นในหลักการ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็อย่าไปเลือกเข้าสภา
.
ในอนาคตหากเผด็จการไม่รับข้อเสนอของประชาชน แต่ไปใช้วิธีการอื่น เช่น ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ก็ขอประชาชนอย่าให้การยอมรับ และหากมีการรัฐประหารก็ขอให้ประชาชนออกมาร่วมกันต่อสู้ และขอให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เคียงข้างกับประชาชนและประชาธิปไตย โดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยรับรองคณะรัฐประหาร
.
+++ไม่มีใครเกิดมาสูงกว่าใคร ทุกคนยืนอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกัน+++
สรุปคำปราศรัย รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล การชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน 10 สิงหาคม 2563
"ธรรมชาติไม่ได้สร้างให้ใครสูงส่งกว่าใคร มีแต่เราเองที่สร้างเรื่องสมมติเหล่านี้ขึ้นมาหรือบางทีคนสร้างไม่ใช่เรา แต่เป็นใครคะ เป็นพวกเขาเองที่สร้างมันขึ้นมา เพื่อกดขี่ข่มเหงและเสวยสุขบนความทุกข์ยากของประชาชน เราทุกคน มนุษย์ทุกคนมีเลือดสีแดงไม่ต่างกันไม่มีใครในโลกนี้เกิดมาพร้อมเลือดสีน้ําเงิน"
.
ปนัสยาระบุว่า เธอจะพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาในการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน (10 สิงหาคม 2563) พร้อมทั้งชี้ว่า เหตุการณ์ที่ทนายอานนท์ นำภาและไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกจับ(เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563) เป็นเพราะทนายอานนท์พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย
.
ปนัสยากล่าวถึงธรรมชาติของการเกิดว่า อาจเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีทารกสองคนเกิดมาในเวลาเดียวกัน และก็ยังคงเป็นไปได้ที่ทารกคนแรกจะเกิดมาพร้อมกับความโชคดีที่ได้เกิดมาอย่างเพียบพร้อม แต่การที่ทารกคนแรกจะเกิดมาเป็นผู้สูงศักดิ์ สูงส่งกว่าอีกคนนั้นไม่ควรเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กคนที่สองเมื่อเติบโตมาจะต้องก้มลงกราบเท้าเด็กคนแรก
.
ปนัสยากล่าวต่อไปว่า แท้จริงแล้วธรรมชาติไม่ได้สร้างให้ใครสูงหรือต่ำกว่าใคร การที่ใครจะสูงต่ำกว่าใครเป็นเรื่องที่คนสร้างกันขึ้นมาเอง หรือแท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่คนบางกลุ่มสร้างขึ้นมาเพื่อใช้กดขี่ข่มเหงและเสวยสุขอยู่บนความทุกข์ยากของประชาชน
.
ปนัสยากล่าวว่า ประเด็นที่สองที่เธออยากจะพูดถึงคือการการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่างทางการเมือง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ผู้เห็นต่างทางการเมืองคนแรกที่ถูกทำอันตราย ก่อนหน้านั้นผู้ที่ถูกรัฐไทยกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จะถูกถีบลงจากเฮลิคอปเตอร์ ถูกฆ่าและเผาในถังน้ำมัน ในปี 2561-2562 มีการพบศพสองศพลอยมาตามแม่น้ำโขง โดยลักษณะของศพมีการใส่กุญแจมือ คว้านท้อง ยัดด้วยเสาปูนแล้วถ่วงน้ำ เมื่อตรวจดีเอ็นเอจึงทราบว่าเป็นศพ ไกรเดช ลือเลิศ หรือกาสะลอง และ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือภูชนะ ผู้ลี้ภัยการเมืองที่ลี้ภัยไปอยู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวพร้อมกับสุรชัย แซ่ด่านซึ่งหลายคนตั้งข้อสันนิษฐานว่า น่าจะเสียชีวิตแล้วเช่นกัน
.
กรณีของวันเฉลิมนั้นพิเศษกว่ากรณีอื่นๆ ตรงที่มีข่าวลือว่า มีบุคคลที่อาจใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์อาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีการแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจเป็นการพาดพิงไปถึงพระมหากษัตริย์ แม้ไม่อาจยืนยันได้ว่าข่าวลือกรณีวันเฉลิมเป็นความจริงหรือไม่ แต่ความคลุมเครือเรื่องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องย่อมส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสี่ยมเสียพระเกียรติเพราะถูกติฉินนินทาโดยประชาชน
.
เพื่อรักษาพระเกียรติ สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ ทำความจริงให้ชัดเจนปราศจากความคลุมเครือ ปนัสยาระบุด้วยว่า มีเพียงหลักฐานเท่านั้นที่จะสามารถยุติการตั้งข้อสังเกตในลักษณะเชื่อมโยงกรณีของวันเฉลิมกับสถาบันฯ รัฐบาลต้องเข้าใจว่าความรักความศรัทธาไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการบังคับ แต่เกิดจากการพยายามรักษาศรัทธาของประชาชนต่อสถาบันกษัตริย์เพื่อให้สามารถตั้งอยู่คู่แผ่นดินไทยได้สืบไป
.
ปนัสยาทิ้งท้ายว่า ถึงเวลาแล้วที่การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยจะต้องทำได้โดยปกติ ประเทศไทยควรเป็นที่ๆ ทุกคนอยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องกลัวจะมีคนมาฆ่าหรือทำร้ายเพียงเพราะการพูดอะไรบางอย่าง สิ่งที่ทนายอานนท์ และไมค์ภาณุพงศ์ทำคือความพยายามเปิดทางให้ทุกคนสามารถพูดและสื่อความในใจออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะตามหลักการประชาธิปไตยทุกคนควรสามารถ พูดและแสดงความเห็นทางการเมืองตามที่ตัวเองเชื่อได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หัวหน้าเท้ง' มั่นใจสู้คดี 44 สส. ยื่นแก้ ม.112 แต่หากถูกตัดสิทธิยังมีดาวเด่นอีกหลายคน
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงความคืบหน้าในคดีจริยธรรมของ 44 สส. อดีตพรรคก้าวไกล ว่า ทีมกฎหมายได้เตรียมการไว้อย่างดี และตนยังอยากให้ทุกคนกลับมาย้อนคิดอีกครั้ง อยากให้ทุกคนย้อนกลับมาคิดอีกครั้งว่าที่มาที่ไปของปัญหานี้เกิดจาก ก
'จอน อึ้งภากรณ์' ผู้ก่อตั้งไอลอว์ ชี้ไทยเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ หาก 'อานนท์ นำภา' ยังติดคุก
นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเทศไทยจะยังเป็นประชาธิปไตยไม่
ศาลรธน. มีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้อง ปมจำกัดสิทธิสมัคร สว.
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัจฉัย กรณีที่ นายเสฐียร ศรีเมือง (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ดังนี้ 1.การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ประธานผู้ลี้ภัยโผล่เสนอชื่อ 'อานนท์' บุคคลแห่งปี 2567
นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
อย่าสับสน ปมศาลรธน.ยกคำร้องเรื่องป่วยทิพย์นักโทษชั้น 14
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน
ไม่ให้ราคา กกต.!ชูศักดิ์บอกส่งเอกสารแจงครอบงำพอขู่หลังปีใหม่รู้นักร้องคนไหนโดนเช็กบิล
'ชูศักดิ์' บอก นายกฯ ไม่จำเป็นต้องไปแจง กกต.เอง ปม 'ทักษิณ' ครอบงำ ชี้มีแต่เรื่องเก่าๆ เผยหลังปีใหม่รูัใครโดนเช็กบิลบ้าง