แฟ้มภาพ
เลขาธิการคณะก้าวหน้า จับตาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จะปิดประตูปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ขนลุก!ยกวลี 'ปากกาอยู่ที่มัน-ประธานศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา' เขียนคำพิพากษาจนพาประเทศสหรัฐไปสู่สงครามกลางเมือง
10 พ.ย.2564 - นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงกรณี ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบคณะราษฎร 63 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
โดยโพสต์ข้อนายปิยบุตรมีเนื้อหาดังนี้
จับตาวันนี้ 10 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญจะ “ปิดประตู” ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไม่?
15.00 วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ ณฐพร โตประยูร ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, พริษฐ์ ชิวารักษ์, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, สิริพัชระ จึงธีรพานิช, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และอาทิตยา พรพรม เลิกการกระทำอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 โดยณฐพร โตประยูร ได้อ้างว่า การปราศรัยของอานนท์ นำภา และพวกที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์รวม 6 ครั้ง นั้นเป็นการใช้เสรีภาพอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
คดีนี้มีความสำคัญ เป็นหมุดหมายในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ส่งผลทางการเมืองอย่างมหาศาล และชี้ชะตาสังคมไทย
หากผมเป็น “คนใส่ชุดครุยนั่งบนบัลลังก์กระทำการในนามศาลรัฐธรรมนูญ” ผมจะวินิจฉัยว่า การใช้เสรีภาพในการแสดงออกของอานนท์ นำภา และพวก ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
แต่ในเมื่อผมไม่ได้เป็น ก็จะขอลองวิเคราะห์คาดการณ์ความเป็นไปได้ของคำวินิจฉัยในวันนี้กัน โดยผมพิจารณาจากแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเกี่ยวกับมาตรานี้มาในคดีก่อน ประกอบกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้ออกเป็นสามแนวทาง ดังนี้
แนวทางแรก ยกคำร้อง
ยืนยันว่าการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของอานนท์ นำภา และพวก ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
แนวทางที่สอง ยกคำร้อง แต่วางกรอบเงื่อนไขการใช้เสรีภาพในการแสดงออกไว้
ตามบทบัญญัติมาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งได้เพียงสองทางเท่านั้น คือ ถ้าเห็นว่าการกระทำของอานนท์และพวกไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็ต้องยกคำร้อง แต่ถ้าเห็นว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็ต้องสั่งห้ามการกระทำดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ “อาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการในการบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ ตามความจำเป็นหรือสมควรตามความเป็นธรรมแห่งกรณี” และตามแนวศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา พบว่า ในหลายคดี ศาลรัฐธรรมนูญมักกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ร้องหรือผู้ถูกร้องกระทำการใดๆเพิ่มเติมตามมา ยกตัวอย่างเช่น ในคดีที่ณฐพร โตประยูร ร้องยุบพรรคอนาคตใหม่ หรือที่รู้จักกันเล่นๆว่า “คดีอิลลูมินาติ” นั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ยกคำร้อง แต่สั่งเพิ่มเติมลงไปว่าให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งการให้พรรคอนาคตใหม่ดำเนินการแก้ไขข้อบังคับพรรค โดยต้องเติมคำว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เข้าไปด้วย เป็นต้น
.
ดังนั้น จึงมีโอกาสเป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยว่าอานนท์ นำภา และพวก ไม่ได้กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่หากกระทำการเช่นว่าต่อไปในอนาคต ก็ต้องอยู่ในกรอบเงื่อนไขที่ศาลวางไว้
หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินตามแนวทางนี้ ผมเชื่อว่า บรรดา “นักร้อง” บรรดาเจ้าหน้าที่หรือองค์กรของรัฐ และบรรดาฝ่ายตรงกันข้ามของ “ราษฎร” จะนำมาแนวคำวินิจฉัยนี้มาใช้อ้างเพื่อ “ตีกรอบ” การใช้เสรีภาพในการรณรงค์เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างแน่นอน
แนวทางที่สาม สั่งห้ามการกระทำของอานนท์ นำภาพ และพวก
โดยยืนยันว่าการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของอานนท์ นำภา และพวก เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินตามแนวทางนี้ ก็เท่ากับว่า อานนท์ นำภา และพวก ผู้ถูกร้องในคดีนี้ จะไม่สามารถกระทำการอันเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้ ปัญหาที่ต้องมาขบคิดต่อ ก็คือ เราไม่รู้ว่าสุดท้ายที่ว่าห้ามการกระทำนั้น ศาลจะสั่งห้ามกระทำอะไรบ้าง? ห้ามกระทำภายในระยะเวลาเท่าไรหรือห้ามตลอดชีวิต? เป็นแนวทางที่จะห้ามบุคคลอื่นๆนอกจากอานนท์และพวก หรือไม่? “นักร้อง” และองค์กรอื่นๆของรัฐจะใช้แนวคำวินิจฉัยนี้ไป “ปิดปาก” ฝ่ายรณรงค์ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือยกเลิก ป.อาญา มาตรา 112 หรือไม่?
Dred Scott แต่งงานกับ Harriet Robinson ทั้งสองคนเป็นทาส ต่อมามีลูก ตามกฎหมายของมลรัฐกำหนดให้ลูกของทาสต้องเป็นไท ปรากฏว่า John Emerson และ Elisa Stanford คู่สามีภรรยาผู้เป็นนายทาส ปฏิเสธไม่ยอมให้ครอบครัวของ Dred Scott เป็นไท เมื่อ Emerson ตาย Dred Scott ได้ฟ้อง Stanford ต่อศาลเพื่อวินิจฉัยว่าการกระทำของ John Emerson และ Elisa Stanford ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆของมลรัฐที่ห้ามมีทาสในเขตเหนือ ปรากฏว่ามีประเด็นปัญหากฎหมายขัดกันว่าจะใช้กฎหมายของมลรัฐใด เพราะ Stanford อ้างว่าตนเป็นประชากรของนิวยอร์ค เรื่องขึ้นไปถึงศาลสูงสุด
ในปี 1857 ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาตัดสินคดี Dred Scott v. Stanford ด้วยมติ 7 ต่อ 2 ชี้ขาดว่าทาสไม่มีสิทธิพลเมือง ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องร้องคดีในศาล และยังชี้ต่อไปอีกว่ากฎหมาย “การประนีประนอมแห่งมิสซูรี” ที่ห้ามการมีทาสในมลรัฐตอนเหนือนั้นขัดรัฐธรรมนูญ
“พวกนิโกรเป็นพวกที่ถูกถือว่าเป็นมนุษย์ในอันดับที่ต่ำต้อยกว่ามาเป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ จึงไม่เป็นการเหมาะสมในทางใดที่จะนำพวกเขามาเปรียบเทียบกับคนผิวขาว ไม่ว่าจะในทางความสัมพันธ์ทางสังคมหรือในทางการเมือง และต่ำต้อยกว่าอย่างมากจนถึงขนาดที่ว่า คนพวกนี้ไม่มีสิทธิใดๆที่คนผิวขาวต้องเคารพ พวกนิโกรย่อมถูกลงเป็นทาสได้เพื่อประโยชน์ของคนขาว โดยยุติธรรมและชอบด้วยกฎหมาย” นี่คือส่วนหนึ่งของคำพิพากษา
ผลของคำพิพากษานี้นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างมลรัฐตอนเหนือที่สนับสนุนการเลิกทาสและมลรัฐตอนใต้ที่สนับสนุนการมีทาส จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองในปี 1865
ทหาร ประชาชน ทั้งสองฝ่ายตายมากกว่าล้านคน
Dred Scott เป็นทาสต่อไป และเสียชีวิตในสองปีถัดมา ก่อนสงครามกลางเมืองจะระเบิดขึ้น
Roger Brooke Taney ประธานศาลสูงสุดในคดีนี้ ดำรงชีวิตอย่างยากลำบาก ที่ดินถูกเผา ยึด เนื่องจากภัยสงครามกลางเมือง เขาเสียชีวิตในวัย 84 ปี
สุดท้าย สหรัฐอเมริกาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ “ลบ” หลักการของคำพิพากษาในคดีนี้
ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกวางอยู่บนโต๊ะเรียบร้อย “ช้างที่อยู่ในห้อง” ที่เราแกล้งมองไม่เห็นมันมาหลายทศวรรษถูกเปิดเผยหมดแล้ว และมีเยาวรุ่นและประชาชนจำนวนมากมองสถาบันกษัตริย์ไม่เหมือนคนรุ่นก่อน ไม่เหมือนเดิมที่เคยเป็นมา
การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทยหรือไม่?
การรณรงค์เข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือการรณรงค์เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 2 จะดำเนินได้ต่อไปหรือไม่?
ทั้งหมดนี้อยู่ใน “กำมือ” ของศาลรัฐธรรมนูญ
หากประตู “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ถูกปิดลง ก็เท่ากับว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่ยังรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ ให้กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือ constitutional monarchy ก็ถูกปิดลงไปด้วย
หากเป็นเช่นนี้ สังคมไทยก็จะเดินมาสู่ทางเลือกเพียงสองทางที่หลงเหลืออยู่
หนึ่ง อยู่กันไปแบบนี้ กับระบอบการปกครองแบบที่เป็นอยู่ที่มีลักษณะโน้มเอียงไปทางสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงมากขึ้นนับแต่ คสช.ก่อรัฐประหาร
หรือ
สอง ระบอบอื่น
คงเป็นเรื่องยอกย้อนชวนหัวในทางประวัติศาสตร์ที่สุด ถ้าการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบในประเทศไทย ไม่ได้เกิดจากการเรียกร้อง “ข้อ 3 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ของ “ราษฎร” แบบที่หวาดระแวงกัน
แต่มันกลับเกิดจากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ !!!
อาจารย์สถิต ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกาเคยเขียนเรื่องเล่าชื่อว่า “ปากกาอยู่ที่มัน” เพื่อชี้ให้เห็นว่าผลแห่งคดีต่างๆขึ้นกับการขีดเขียนของผู้พิพากษา
Roger Brooke Taney ประธานศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา เขียนคำพิพากษาจนพาประเทศสหรัฐอเมริกาไปสู่สงครามกลางเมือง
บ่ายสามของวันพุธที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ คือ ผู้ชี้ชะตา !!!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิด 11 ชื่อผู้สมัคร 'ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ' ปลัด ก.เกษตรฯ มาวันสุดท้าย
ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน ระหว่างวันที่ 11-25 พฤศจิกายน 2567
'ทักษิณ-พท.' อย่าเพิ่งตีปีก! ชั้น 14 ป.ป.ช. ใกล้งวด คดีครอบงำยิ่งชัด รอ กกต. เคาะ
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หน้าแตกกันไปตามๆ กัน เมื่อได้ทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่รับวินิจฉัยคำร้อง
'ชูศักดิ์' โล่ง ปลอดชนักล้มล้างการปกครอง
'ชูศักดิ์' มองเป็นสัญญาณดี ปม 'ศาล รธน.' ไม่รับคำร้อง 'พท.' ล้มล้างการปกครอง ชี้ รัฐบาลเดินหน้าทำงานได้แบบไม่กังวล
'ดร.ณัฏฐ์' ชี้กรณี 'ทักษิณ-พท.' รอดคดีล้มล้างฯ ไม่ตัดอำนาจ 'กกต.' ไต่สวนยุบพรรคได้
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นการ
'วิสุทธิ์' เผยฝ่ายกฎหมายเพื่อไทย ร่างคําฟ้องเช็กบิล 'ธีรยุทธ' แล้ว
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการฟ้องร้องผู้ยื่นคําร้องกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครอง ว่า ตนได้คุยกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
'นิพิฏฐ์' ติดใจปมรพ.ชั้น 14 พร้อมให้กำลัง 'ธีรยุทธ'
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส. จังหวัดพัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กว่า เห่าหอนไปวันๆ