สาหัส! กทม.ยกระดับสู้ฝน-น้ำท่วม 'ชัชชาติ' เร่งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

8 ก.ย.2565 - นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร และนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า)

นายวิศณุ กล่าวว่าจากสถานการณ์ช่วง 2 วัน ที่มีฝนตกหนัก ในแต่ละที่ปริมาณฝน 100 กว่า มม.รวมถึงที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ไว้ว่าจะมีฝนไปถึงวันที่ 12 กันยายนนี้ กทม.พยายามเตรียมความพร้อมเต็มที่ ตั้งแต่เริ่มต้นเข้ามาได้มีการขุดลอกคูคลอง เร่งระบายน้ำพร่องน้ำคลองสายหลัก และลอกท่อเส้นเลือดฝอย จากสถานการณ์ 2 วันที่ผ่านมา พฤติกรรมของฝนที่ตกในปีนี้เปลี่ยนไป มีการตกนานและมีปริมาณมากขึ้น ทำให้รับมือยาก ซึ่งจะต้องยกระดับการเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น

ด้าน นายณรงค์ ได้รายงานสถานการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า โดยปกติช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคมของทุกปี จะเป็นช่วงฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีปริมาณฝนมาก โดยในปีนี้ช่วงวันที่ 6 - 8 กันยายน ได้มีฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพเหนือ ที่เขตสายไหม ดอนเมือง หลักสี่ และบางเขน มีปริมาณฝนมาก วัดได้สูงสุด 178 มม.ที่เขตบางเขน

ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงนี้มีความกดอากาศจากประเทศจีนแผ่ลงมา ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านคลองคลุมภาคกลาง และมีลมตะวันตกเฉียงใต้พัดขึ้นมาจากทะเลอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยปริมาณฝนในปี 2565 นี้ ตั้งแต่มกราคมถึงปัจจุบัน มีฝนตกลงมาแล้ว 1,369 มม.เทียบกับปริมาณฝนของปี 2564 ตลอดทั้งปีมี 1,900 มม.และเมื่อเทียบสถิติย้อนหลัง 3 ปี มีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,689 มม.ซึ่งในปีนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามฝนในเดือนกันยายนและตุลาคม

ในส่วนของน้ำเหนือที่ผ่านมาเข้ามาในกรุงเทพฯ วัดที่จุดวัดบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 895 ลบ.ม./วินาที ยังไม่มีผลกระทบ ด้านน้ำทะเลหนุน วัดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา +2.04 เมตร เทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งระดับคันป้องกันน้ำท่วมของ กทม.อยู่ที่ 3 เมตร ยังรับได้ไม่ล้นตลิ่ง

ทั้งนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เน้นย้ำเตรียมความพร้อมในเรื่องฝนที่ตกลงมาปริมาณฝนสะสมมาก ซึ่งมีปัญหาในการระบายน้ำ ย้ำให้เขตและทุกหน่วยงานให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกประชาชนในการสัญจร และตามจุดเส้นเลือดฝอยในเขตต่างๆ พร้อมทั้งบูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งทหาร และสำนักป้องกันภัยในการดูแลประชาชน

ในส่วนของคลองสายหลัก ทั้งคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองประเวศบุรีรัมย์ และคลองบางนา ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำบางคลองเต็มคลอง ก็พยายามเร่งระบายน้ำ 24 ชม.โดยใช้เครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำให้น้ำไหลได้เร็วขึ้น จากต้นคลองลงมาปลายคลองเพื่อออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ฝนที่ตกลงมาอาจทำให้มีน้ำท่วมหรือเอ่อล้นคลองในบางจุด ซึ่ง กทม.พยายามเร่งระบายอย่างเต็มที่ ถ้าถึงวันที่ 12 กันยายน ฝนเบาบางลงหรือไม่มีฝนตกลงมาต่อเนื่อง ก็จะเร่งพร่องน้ำน้ำในคลองก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ

ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำและเตรียมพร้อมวางแผนการเดินทางล่วงหน้า หรือหากพบเหตุน้ำท่วมขังหรือต้องการความช่วยเหลือ แจ้งได้ที่ช่องทาง Traffy Fondue , สายด่วน 1555 , ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 0-2248-5115 (สำหรับถนนสายหลัก) พร้อมติดตามสถานการณ์ได้ที่เฟซบุ๊ก ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร และกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โฆษกศปช. เผยกรณี 'น้ำผุด' อ.เชียงดาว มอบหน่วยงานลงพื้นที่ศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศปช. ได้เคยประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย.ไปแล้วก่อนหน้านี้

อากาศเปลี่ยนแปลง ‘กทม.’ อุณหภูมิลดลง ‘เหนือ-อีสาน’ หนาวเย็น ‘ภาคใต้’ ฝนตก

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว

พยากรณ์ 10 วันล่วงหน้า ตั้งแต่ 18 พ.ย. อากาศเริ่มเย็นลงอีกครั้ง

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 15 -24 พ.ย. 67