เปิดหมัดเด็ด 'บิ๊กตู่' สู้ปม 8 ปีนายกฯ ความเห็นคกก.กฤษฎีกาคณะพิเศษ 7 อดีต กรธ.


7 ก.ย.2565 - จากกรณีมีการเผยแพร่เอกสารชี้แจงข้อกล่าวหาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพิจารณาคำร้องวาระ 8 ปีนายกรัฐมนตรี โดยเอกสารดังกล่าวมีชี้แจง 8 ข้อ จำนวนทั้งสิ้น 23 หน้า นั้น

จากการตรวจสอบพบว่ามี "ข้อมูลสำคัญ" ในคำชี้แจงข้อที่ 2 ที่ไม่เคยเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ คือเรื่องที่มีการตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ที่ตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 เพื่อพิจารณากรณีวาระ 8 ปีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ประกอบด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีตำแหน่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 7 คน ประกอบด้วย 1. นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย 2.นายนรชิต สิงหเสนี 3. นายปกรณ์ นิลประพันธ์ 4.นายประพันธ์ นัยโกวิท 5.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ 6. นายอัชพร จารุจินดา 7.นายอุดม รัฐอมฤต

โดยคำชี้แจง ของพล.อ.ประยุทธ์ มีรายละเอียดดังนี้ ๒.การกำหนดห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน ๘ ปี ตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิซึ่งต้องตีความอย่างแคบและโดยเคร่งครัด จะตีความอย่างกว้างให้หมายความรวมถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นโดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มิได้บัญญัติไว้เช่นนั้นโดยแจ้งชัดมิได้

การกำหนดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ห้ามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน ๘ ปีนั้นเป็นบทบัญญัติกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล ซึ่งโดยหลักกฎหมายและโดยหลักนิติธรรมจะต้องตีความบทบัญญัติกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลอย่างแคบและโดยเคร่งครัด เพื่อมิให้เสียประโยชน์หรือมีให้เป็นผลร้ายแก่ผู้ที่จะต้องถูกจำกัดสิทธินั้น ดังนั้น เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ที่ต้องตีความบทบัญญัติกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิอย่างแคบและโดยเคร่งครัดเช่นกรณีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ นี้แล้ว การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่จะเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขห้ามดำรงตำแหน่งเกิน ๘ ปี ของบทบัญญัติมาตราดังกล่าว จึงย่อมต้องหมายถึงความเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งหมายถึงความเป็นนายกรัฐมนตรีตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เท่านั้น มิได้หมายความถึงและไม่นับรวมถึงความเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นที่สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งหากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ มีเจตนารมณ์ที่จะให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีย้อนหลังรวมไปถึงความเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นที่สิ้นสุดลงไปด้วยแล้ว ก็ย่อมต้องมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ บัญญัติไว้เช่นนั้นโดยแจ้งชัด เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิของบุคคลดังที่กล่าวมา

โดยหลักการตีความรัฐธรรมนูญตามหลักกฎหมายนั้น หากรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเรื่องใดไว้โดยแจ้งชัด โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิหรือการเสียสิทธิของบุคคลแล้ว จะตีความรัฐธรรมนูญนั้นในทางจำกัดสิทธิหรือในสิ่งที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติไว้โดยแจ้งชัดตามความคิดความเข้าใจของบุคคลหนึ่งบุคคลใดเองย่อมกระทำมิได้ ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มิได้บัญญัติเรื่องใดไว้โดยแจ้งชัดเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิหรือการเสียสิทธิของบุคคล ก็ไม่อาจถือว่ามีบทบัญญัตินั้นหรือมีเจตนารมณ์นั้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้ เช่นเดียวกันกับกรณีมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่บัญญัติจำกัดสิทธิของบุคคลในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มิได้บัญญัติไว้โดยแจ้งชัดว่าให้หมายความรวมไปถึงการดำรงดำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ที่สิ้นสุดลงไปแล้วด้วย จึงไม่อาจขยายผลตีความบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่นั้นอย่างกว้างและโดยไม่เคร่งครัดเพื่อให้เกิดการจำกัดสิทธิบุคคลอย่างกว้างขวางได้

นอกจากนั้น โดยหลักกฎหมายแล้วบทบัญญัติกฎหมายในแต่ละวรรคของแต่ละมาตราย่อมจะต้องเป็นเรื่องเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกันหรือต้องมีความหมายไปในเรื่องเดียวกัน หากบทบัญญัติกฎหมายในมาตราใดหรือในวรรรคตอนใดของบทบัญญัติมาตราใด ประสงค์หรือมีเจตนารมณ์ให้หมายถึงหรือหมายความรวมถึงเรื่องอื่นหรือให้หมายถึงเรื่องที่แตกต่างจากเรื่องที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นหรือในวรรคก่อนหน้านั้น บทบัญญัติกฎหมายนั้นก็จะต้องใช้ถ้อยคำหรือข้อความที่ทำให้เข้าใจได้โดยแจ้งชัด ว่าประสงค์หรือมีเจตนารมณ์ให้หมายความถึงเรื่องอื่นใดที่มิใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องหรือมิใช่เรื่องเดียวกันกับเรื่องที่บัญญัติไว้ใบมาตรานั้นหรือในวรรคตอนก่อนหน้านั้น ดังนั้น เมื่อพิจารณาถ้อยคำในบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ทั้งสี่วรรครวมกันแล้วจะเห็นได้ว่า ไม่มีบทบัญญัติหรือข้อความของมาตรา ๑๕๘ หรือในช่วงตอนใดที่บัญญัติให้เข้าใจโดยแจ้งชัดว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีที่บัญญัติห้ามไว้ในมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่นั้น หมายความรวมถึงความเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอื่นที่สิ้นสุดลงไปก่อนหน้ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ด้วยเลย ในทางตรงกันข้าม หากพิจารณาถ้อยคำตามตัวอักษรของบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ ทั้งสี่วรรครวมกันแล้วจะยิ่งเห็นได้อย่างแจ้งชัดว่าเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ ทั้งมาตรานั้น หมายความเฉพาะถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐เท่านั้น ที่จะนำมานับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามหลักเกณฑ์ของมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่

ทั้งนี้มาตรา ๑๕๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ทั้งมาตรา(สี่วรรค) บัญญัติว่า "มาตรา ๑๕๘ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙

ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง"

จากบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ ทั้งสี่วรรคข้างต้น จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้น ย่อมหมายถึงการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕"๖๐ เท่านั้น ดังนั้น การที่บทบัญญัติในมาตรา ๑๕๘ วรรคสอง บัญญัติต่อมาจากบทบัญญัติในวรรคหนึ่งว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๔ ย่อมหมายถึงการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ซึ่งก็หมายถึงนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เท่านั้น และในบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ วรรคสาม ที่บัญญัติต่อมาจากบทบัญญัติในวรรคสองว่า ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ก็ย่อมหมายถึงนายกรัฐมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งอีกเช่นกัน ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ นั่นเอง ดังนั้นการที่บทบัญญัติในมาตรา ๑๕๘ รรคสี่ ที่บัญญัติต่อเนื่องมาจากบทบัญญัติในวรรคสามว่า

"นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพันจากตำแหน่ง"

ก็ย่อมต้องหมายความว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ นั้น คือนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เท่านั้นด้วย จะตีความบทบัญญัติมาตรา๑๕๘ วรรคสี่ อย่างกว้างและไม่เคร่งครัดให้ขยายหมายความรวมถึงนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นหรือตามที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นให้แตกต่างไปจากบทบัญญัติและเจตนารมณ์ในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสามมิได้ ทั้งนี้ หากมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ มีเจตนารมณ์หรือประสงค์จะให้หมายความรวมไปถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นด้วยแล้ว บทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ก็จะต้องบัญญัติไว้เช่นนั้นโดยแจ้งชัดเพื่อให้เข้าใจได้เช่นนั้นในทันที เช่น บัญญัติเพิ่มว่า "ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นด้วยหรือ "ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงการที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาก่อนด้วย" หรือหากจะเพิ่มบทบัญญัติอีกหนึ่งวรรคเป็นวรรคที่ห้าว่า "การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมบตรีตามวรรคให้นับรวมระยะเวลาที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนรัฐธรรมนูญบับนี้ด้วย" ก็สามารถกระทำได้ ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ กำหนดย้อนหลังให้บุคคลที่เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใด หรือเคยต้องคำพิพากษา เป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๘ (๒) (๗) (๘)(๙) (๑๐) (๑๑) และ (๑๘) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อบหบัญญัติมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ อันเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิของบุคคล มิได้บัญญัติไว้โดยแจ้งชัดว่าระยะเวลาการดำรตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่นั้น ให้หมายความรวมไปถึงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นที่สิ้นสุดลงไปแล้วด้วย จึงไม่อาจตีความบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่อย่างกว้างและอย่างไม่เคร่งครัดเพื่อจำกัดสิทธิบุคคลที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มิได้บัญญัติไว้มิได้

หลักเรื่องการที่ต้องตีความกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลที่ต้องตีความอย่างแคบและโดยเคร่งครัดนี้ ตรงกับแนวทางความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่แต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาในประเด็นการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ๘ ปี ตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ประกอบด้วยกรรมการกฤษฎีกาผู้ทรงคุณวุฒิ ๗ คนซึ่งมีส่วนร่วมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ด้วย ได้แก่

(๑) นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย
(๒) นายนรชิต สิงหเสนี
(๓) นายปกรณ์ นิลประพันธ์
(๔) นายประพันธ์ นัยโกวิท
(๕) นายมีชัย ฤชุพันธุ์
(๖) นายอัชพร จารุจินดา
(๗) นายอุดม รัฐอมฤต

(คำสั่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ ๑๙/๒๕๖๕ เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ลงวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕) 

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ดังกล่าวมีความเห็นตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลับมาก เรื่อง การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เรื่องเสร็จที่ ๑๕๐/๒๕๖๕ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ โดยมีความเห็นว่า หลักเกณฑ์การห้ามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน ๘ ปี ตามบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นการจำกัดสิทธิของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ดังนั้นในการตีความบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องใช้หลักการตีความกฎหมายโดยเคร่งครัดและเมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา ๑๕๘ และมาตรา ๑๕๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยเฉพาะช่วงท้ายของบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ที่บัญญัติระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ว่าห้ามดำรงตำแหน่งเกิน ๘ ปีนั้น ไม่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่คณะรัฐมนตรี (รวมทั้งนายกรัฐมนตรี)อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง ดังนั้นการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ห้ามเกิน ๘ ปี ตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ก็ย่อมหมายถึงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีที่เข้าดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เท่านั้น แต่ไม่รวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ ในช่วงเวลาก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ จะใช้บังคับ ทั้งนี้หากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ประสงค์จะนับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ใช้บังคับ ย่อมต้องมีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน ดังเช่นการกำหนดย้อนหลังให้บุคคลที่เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใดหรือเคยต้องคำพิพากษา เป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๘ (๒) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) และ (๑๘) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

ความหมายตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่กล่าวมา จึงหมายความว่า การตีความบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่เป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิบุคคลในการเป็นนายกรัฐมนตรีต้องตีความอย่างแคบและโดยเคร่งครัด และไม่มีผลย้อนหลังไปนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่สิ้นสุดลงแล้วมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ อีกทั้ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มิได้ประสงค์ให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีย้อนหลังไปถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นที่สิ้นสุดลงแล้ว มิฉะนั้นจะต้องมีบทบัญญัติกำหนดไว้เช่นนั้นโดยแจ้งชัดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ เช่น การกำหนดย้อนหลังให้บุคคลที่เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใด หรือเคยต้องคำพิพากษา เป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๘ (๒) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) และ (๑๘) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ดังที่กล่าวมาเป็นต้น

จากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ข้างต้นนี้ จึงเห็นได้ว่าผู้ร้องไม่อาจนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ของข้าพเจ้าย้อนหลังต่อเนื่องมาจากวันที่ข้าพเจ้าได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ มารวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้

ดังนั้น ปัจจุบันข้าพเจ้าจึงยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ไม่เกิน ๘ ปี ความเป็นนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าจึงยังไม่สิ้นสุดลงตามหลักเกณฑ์ของมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ตามที่ผู้ร้องกล่าวหา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

2 ตุลาการศาลรธน.เสียงข้างน้อย รับคำร้อง 'ทักษิณ' สั่งรัฐบาลเอื้อประโยชน์ฮุนเซน น่าจะเกิดผลใช้สิทธิล้มล้างปกครองฯ

จากกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2567 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูก

'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ

ศาลรธน.ยกคำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง เอกฉันท์ 5 ประเด็นเว้นประเด็น 2

จากกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

'จตุพร' ตอกย้ำศาลรธน.รับคำร้องคดีล้มล้าง เพื่อหยุดอหังการอำนาจ เริ่มจุดเปลี่ยนบ้านเมือง

ลุ้นศาล รธน.พิจารณาคำร้อง 'จตุพร' เชื่อรับไว้วินิจฉัยเพื่อหยุดอหังการอำนาจ ลั่นจะเริ่มจุดเปลี่ยนบ้านเมือง เปิดความหวังประเทศก้าวเดินสู่ผลประโยชน์ชาติ

ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง

คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ