7 ก.ย.2565 - เมื่อเวลา 14.30น . ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวถึงกรณีที่นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดพิเศษ เพื่อกำหนดแนวทางพิจารณากรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่หรือไม่
โดยนายเชาวนะ กล่าวว่า นับตั้งแต่ศาลได้มีการรับคำร้องกรณีเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลได้มีการพิจารณากระบวนพิจารณามาเป็นลำดับเป็นกระบวนการปกติ การที่ศาลนัดประชุมในวันที่ 8 ก.ย.นี้ ไม่ได้เป็นการเร่งเวลา หรือทำให้ช้าลง ยืนยันว่าเป็นไปตามขั้นตอนปกติ ถามว่าคดีนี้มีความสำคัญ หรือไม่ ก็เป็นคดีที่ศาลให้ความสำคัญ แต่ก็ดำเนินกระบวนพิจารณาตามปกติไม่ได้มีการลัดขั้นตอนแต่อย่างใด
"ที่มีข่าวว่าศาลจะประชุมพรุ่งนี้แล้วจะมีการลงมติและมีการระบุว่ามีเสียงข้างมากข้างน้อยเท่านั้นเท่านี้เรียนว่า ขั้นตอนขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น พรุ่งนี้เป็นเพียงการนำพยานหลักฐานที่ศาลได้รับมาพิจารณาว่าเพียงพอที่จะวินิจฉัยหรือไม่ ถ้าไม่พอจะต้องแสวงหาเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งตามที่วิธีที่กฎหมายกำหนดทำได้เช่น การให้บุคคลหรือหน่วยงานของรัฐชี้แจงก็ได้ หรือจะดำเนินกระบวนชนการไต่สวนก็ได้ ฉะนั้นที่มีข่าวทำนองว่าหลังจากการพิจารณาในวันพรุ่งนี้แล้ว ก็มีการนัดอ่านคำวินิจฉัยในอีก 15 วัน และมีการกำหนดว่าผลของการพิจารณาจะออกมาเป็นกี่เสียง ยืนยันว่ายังไม่มีเงื่อนไขของการกำหนดวัน และยังไม่ถึงขั้นลงมติ" เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญระบุ
นายเชาวนะ ยังกล่าวถึงกรณีหนังสือชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่หลุดในโลกโซเชียลว่าโดยไม่ยืนยันว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ แต่ยืนยันว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญ และกังวลใจเป็นอย่างมากเนื่องจากเนื้อหากระทบผู้ให้ความเห็น และพาดพิงไปถึงคู่ความจึงให้สำนักงานมีการติดตามว่าเอกสารมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อมีเอกสารรั่วไหลในชั้นธุรการก็จะกำชับให้พึงระมัดระวัง แต่เมื่อมีการรั่วไหล เราก็ต้องเพิ่มความรัดกุมให้มากขึ้น ทั้งนี้ในทางปฏิบัติจะพิจารณาว่ามาตรการของเรามีข้อบกพร่องเช่นไร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในกระบวนการพิจารณา เพิ่มความระมัดระวังให้เกิดความรอบคอบและรัดกุม
"ยืนยันว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ท่านห่วงใย และรู้สึกเสียใจ จึงให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญระมัดระวัง และดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งจะเอาผิดใครได้หรือไม่จะต้องรอดูผลการตรวจสอบก่อน ส่วนที่ขณะนี้เอกสารชี้แจงของนายกรัฐมนตรีหลุดในโซเชียลอีก ทางสำนักงานยังไม่ทราบ แต่จะพยายามอย่างเต็มที่ควบคุม เมื่อมีเหตุก็จะต้องเพิ่มมาตรการ เพราะท่านประธานห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก ส่วนตัวท่านไม่ได้หวั่นไหว และยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้เข้มแข็งมั่นคง" นายเชาวนะ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากคณะตุลาการเห็นว่าข้อเท็จจริงมีความเพียงพอให้วินิจฉัยแล้ว ตามข้อกฎหมายจะต้องมีการนัดวันวินิจฉัยภายในกี่วัน นายเชาวนะ กล่าวว่า ตามกฎหมายกำหนดไว้ในบางคดีบางเรื่องเช่น คดีที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะกำหนดเฉพาะเจาะจงว่าจะวินิจฉัยภายใน 15 วัน 30 วัน แต่คำร้องลักษณะกฎหมายไม่ได้กำหนด ขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะพิจารณา ซึ่งการที่ศาลจะกำหนดวันวินิจฉัย ตามข้อหมายได้กำหนดไว้เพียงปัจจัยเดียวคือ เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอต่อการพิจารณา และให้ความยุติธรรม ก็จะกำหนดประเด็นวินิจฉัย และจะนัดอ่านความเห็นของตุลาการแต่ละท่าน และนัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ซึ่งปกติคำร้องที่มีกรณีศาลจะลงมติช่วงเช้าและอ่านช่วงบ่าย และการที่ศาลจะนัดอ่านถ้าไม่ได้เป็นเรื่องที่มีการไต่สวนก็จะนัดวินิจฉัยหลังพยานหลักฐานครบถ้วนแล้วไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่ถ้าอยู่ระหว่างการไต่สวนและเห็นว่าคดีมีข้อมูลเพียงต่อการวินิจฉัย ก็จะนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัย แต่คดีนี้ยังไม่ได้มีการไต่สวน ฉะนั้นในคดีนี้ก็จะอยู่ในกรอบนัดวินิจฉัยไม่น้อยกว่า 7 วัน หลังจากศาลเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอวินิจฉัย
นายเชาวนะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนความเห็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งศาลก็รับฟัง แต่ไม่ได้เอามาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ศาลจะยึดสำนวนคดีเป็นหลัก ตุลาการทั้ง 9 คนล้วนเป็นอิสระ ไม่มีใครรู้ว่าใครจะวินิจฉัยอย่างไร และขณะนี้ยังไม่ได้เป็นที่ยุติว่าพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่ การที่บอกว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างนั้นอย่างนี้ จึงเป็นการด่วนสรุปที่เร็วเกินไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'อนุทิน' เช็กสัญญาณ ครม.อิ๊งค์ ปมศาลรธน.นัดถกรับ-ไม่รับคำร้อง คดีทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง
ที่ด่านพรมแดนบ้านผักกาด ตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี นายอนุชิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี ที่ในวันพรุ่งนี้(22 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้อง
'ชูศักดิ์' บอกรู้ตั้งแต่เห็นคำร้อง 'ธีรยุทธ' ไปไม่ได้ เหตุไม่เข้าเกณฑ์ล้มล้างปกครอง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณา
มองต่างมุม 'ดร.ณัฏฐ์' เชื่อศาลรธน.ตีตกคำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างฯ
สืบเนื่องจากกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น เพื่อวินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เลิกการก
ดร.เสรี หวังศาลเป็นที่พึ่งปชช. ลุ้น 22 พ.ย. รับไม่รับคำร้อง ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ ล้มล้างฯ
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ถูกสงสัยว่าป่วยทิพย์ ณ ห้อง VVIP ชั้น 14 โรงพ
'ธนกร' ชี้หลัง 22 พ.ย.ประเทศก็ยังเดินหน้าต่อ!
'ธนกร' มองทุกคดีศาล รธน.ยึดตามหลักกฎหมาย เชื่อการเมืองหลัง 22 พ.ย.นี้ประเทศต้องเดินหน้าต่อ ขอทุกฝ่ายอย่าคาดเดาจนอาจก้าวล่วงอำนาจ ฝากรัฐบาลเร่งทำผลงาน