ยิ่งกว่าชัด 'ดร.ไตรรงค์' : อำนาจและหน้าที่ของศาลรธน.วินิจฉัยปม 8 ปีนายกฯ

23 ส.ค.2565 - ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้

การทบทวนความถูกต้องทางกฎหมาย #JudicialReview

การทบทวนความถูกต้องทางกฎหมาย หรือ Judicial Review นี้ ถือว่าเป็นหน้าเป็นตาที่แสดงออกถึงความทันสมัยของรัฐธรรมนูญที่เป็นเสรีนิยมในปัจจุบัน สิ่งนี้หมายถึงการให้อำนาจแก่ศาลในการควบคุมการออกกฎหมายและการบริหารงานของรัฐบาลให้อยู่ในกรอบของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญซึ่งบ่อยครั้งที่อำนาจหน้าที่นี้จะได้รับการมอบหมายให้แก่ศาลพิเศษที่เรียกว่า ศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court) ในประเทศเยอรมันและอิตาลี ได้จัดให้มีศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่นี้หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองได้ยุติลง ที่ตามมาติดๆก็คือประเทศฝรั่งเศส (ค.ศ.1958) แต่ที่ทำก่อนประเทศเยอรมันก็คือประเทศออสเตรีย (ค.ศ.1920)

สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกานั้นแม้จะไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เริ่มแต่ศาลสูง (Supreme Court) ของสหรัฐก็ได้เป็นผู้สร้างอำนาจนี้ขึ้นมา ดังที่ปรากฏในคดี MARBURY V. MADISON เมื่อปี ค.ศ.1803 ซึ่งถือเป็นคำพิพากษาที่ได้สร้างการพัฒนาไปอีกระดับหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ (เพราะกลายเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯมาจนถึงปัจจุบัน) ดังปรากฏในเหตุผลของประธานศาลสูง (Chief Justice Marshall) ที่ได้กล่าวไว้ว่า “วัตถุประสงค์ของการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็เพื่อจะจำกัดอำนาจของสภานิติบัญญัติและฝ่ายอื่นๆของรัฐบาลซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ จะมีประโยชน์อะไรที่จะมีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้ารัฐสภายังสามารถออกกฎหมายที่เป็นการกระทำเกินขอบเขตที่เป็นอำนาจของตนที่ถูกจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญ.......จึงเป็นหน้าที่ของศาลต่างๆที่จะต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กับการออกกฎหมายของรัฐสภา เพราะหน้าที่ของศาลก็คือต้องทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดให้ได้.....ท่านผู้อ่านที่สนใจจะอ่านฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษ สามารถหาอ่านได้ในหนังสือชื่อ “มารยาททางการเมืองกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ” เขียนโดย ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี หน้า 108-109”

คำกล่าวข้างต้นนี้ เป็นการยืนยันความคิดที่เห็นว่า #บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต้องถือว่าเป็นกฎหมายที่ผูกพันทุกองค์กร และ #ศาลต้องมีหน้าที่ที่จะบังคับให้เป็นไปตามนั้น ไม่ใช่คิดเพียงว่า บทบัญญัติเหล่านั้นเป็นเพียงหลักการทางการเมืองที่ต้องปล่อยให้ (สมาชิก) สภานิติบัญญัติตีความกันเอาเองตามอำเภอใจ

ปัญหาเรื่องการนับวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จึงควรปล่อยให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาชี้ขาด #ไม่ควรที่ใครจะตีความกันเอาเองตามอำเภอใจ (หรือเพื่อเอาใจใคร) แล้วใช้ความเป็นอนาธิปไตย ก่อความวุ่นวายให้เกิดขึ้นกับบ้านเมือง

ประเทศได้รับความบอบช้ำมามากแล้วด้วยวิธีการดังกล่าว(ไม่ว่าจะจากฝ่ายไหนก็ตาม) ไม่คิดเมตตาปล่อยให้ประเทศได้มีความมั่นคง ไม่วุ่นวายจนไม่มีใครอยากมาลงทุน ไม่คิดจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศได้เดินหน้าสู่ความเจริญและมีการพัฒนาเหมือนอย่างประเทศอื่นที่ดีๆ ไม่มีความวุ่นวายไม่รู้จบไม่รู้สิ้นกันบ้างเลยหรือครับ เพราะประเทศจะมั่นคง ไม่วุ่นวายก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายยอมรับหลัก “นิติธรรม” กล่าวคือทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ที่บัญญัติในวรรค 2 ไว้ว่า

“รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม #เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม”

ถ้าทุกฝ่ายตามที่ระบุไว้ในมาตรา3วรรค2 ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักนิติธรรม (คือให้กฎหมายและธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน) แต่เกิดมีประชาชนบางส่วนไม่ยอมรับหลักนิติธรรมดังกล่าว กลับไปยึดหลักที่ให้ “อำนาจเป็นธรรม” มิใช่ “ธรรมเป็นอำนาจ” แล้วประเทศของเราจะสงบ มั่นคง และเจริญมั่งคั่งได้อย่างไรครับ อย่ายึดต่างชาติเป็นพ่อ อย่าเอาตัวอย่างเลวๆของประเทศตะวันตกมาใช้กับประเทศไทยซิครับ ก็ประเทศของพวกเขาภายใต้ระบบจอมปลอมของพวกเขาปัจจุบันนี้จึงมีแต่พวกไร้บ้าน (homeless) ยึดทางเท้าเป็นบ้านกันทั่วไปในเมืองใหญ่ๆของพวกเขากันหมดแล้ว

ไม่เชื่อ ก็ลองไปขอภาพถ่ายจากสถานทูตสหรัฐและแคนาดา มาดูเล่นบ้างก็ได้นะครับ เผื่อจะได้มีสติ คิดอะไรที่ดีๆขึ้นมาให้กับอนาคตของประเทศของตนเองได้บ้าง (ของฝากเสริมความรู้สำหรับแฟนคลับ ภาษาละตินอีกประโยคหนึ่ง กล่าวว่า NULLA PAENA SINE LEGE : บุคคลจะไม่ต้องรับโทษ หากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้)

ผมขอเรียนว่าความเห็นที่ลงในเฟซบุ๊กเป็น #ความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรคปชปแต่อย่างใด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลรธน.มติ 6 ต่อ 3 ชี้โทษอาญา ตาม พ.ร.บ.เช็คไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัย ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คปี 2534 มาตรา 4 วรรคสอง เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เผยคดียุบพรรคก้าวไกล-ถอดถอนเศรษฐา เสร็จสิ้นก่อน ก.ย.

ศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนกรณีการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 3 ก.ค.นี้ ว่ามีหลายเรื่องอาทิเรื่องกฎหมายเช็คขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรื่อง MOU

กิ้งกือยังตกท่อ! 'แกนนำคณะก้าวหน้า' ชี้ช่องฟ้องศาลปกครอง ห้ามแจกเงินดิจิทัล

นายชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำคณะก้าวหน้า และนักวิชาการด้านกฎหมายและการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การที่จะนำคดีเกี่ยวกับเงินดิจิตัล 10,000 บาท ไปศาลปกครอง

ผลงานรบ.ไม่ออก ผู้นำไม่เปรี้ยง ‘เศรษฐา’ เจอค่อนแคะสไตล์ทำงาน

ใกล้เคียงกับคำว่า สัปดาห์นรก สำหรับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับกับหลายๆ เรื่อง ทั้งนอกทั้งในรัฐบาล