กระจ่าง! 'อัยการธนกฤต' เปิดข้อกฎหมาย-ขั้นตอน-ระยะเวลา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องวาระ 'ประยุทธ์' นั่งนายกฯ 8 ปี
22 ส.ค. 2565 - ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในประเด็นข้อกฎหมาย ขั้นตอนและระยะเวลาพิจารณาคำร้องปมวาระ 8 ปี นายกรัฐมนตรี ความว่า
ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ครบ 8 ปี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น มีกฎหมายและระเบียบที่กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาคำร้องดังกล่าว ซึ่งผมขอนำมาสรุปเป็นการให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ท่านผู้สนใจ โดยเป็นการให้ความรู้และความเห็นทางวิชาการด้านกฎหมายเป็นการส่วนตัว ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายพยานหลักฐานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รามคำแหง เกริก และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยไม่มีความเกี่ยวข้องและไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น ดังนี้
กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการบริหารจัดการคดี พ.ศ. 2563 และแนวทางการปฏิบัติงานด้านคดี โดยขอกล่าวโดยสรุปถึงขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาคำร้องปมระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดังนี้
1.ส่งคำร้องให้คณะตุลาการพิจารณา
ในปัจจุบันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้แต่งตั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ จำนวน 2 คณะ คือ คณะ 1 และคณะ 2 โดยแต่ละคณะจะประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 4 คน
เมื่อมีการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลจะส่งเรื่องให้คณะตุลาการคณะใดคณะหนึ่งเป็นผู้พิจารณาภายใน 2 วัน นับแต่วันที่หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลได้รับคำร้องตามข้อกำหนดศาลฯ โดยให้ถือว่าวันที่หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลรับเข้าสารบบคดีเป็นวันที่ได้รับคำร้อง
2.ระยะเวลาในการมีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่
2.1 กรณีคณะตุลาการมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย คณะตุลาการที่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย มีระยะเวลา 5 วัน ในการตรวจและมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาล (2+5 วัน)
2.2 กรณีคณะตุลาการมีความเห็นควรสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้คณะตุลาการเสนอศาลรัฐธรรมนูญหรือคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน พิจารณาภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาล และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 5 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะตุลาการ ว่าจะมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ (2+5+5 วัน)
3.คดีสำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น คดีคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกรัฐมนตรีนี้
ศาลรัฐธรรมนูญหรือคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน อาจจะเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ แทนที่จะเป็นคณะตุลาการคณะเล็กเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาและมีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ภายใน 5 วัน (2+5 วัน)
4.ระยะเวลาในการพิจารณาคดีหลังจากมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
คดีที่วินิจฉัยเรื่องความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 170 วรรคสอง หรือไม่ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาคดีไว้ ซึ่งจะแตกต่างจากคดีบางประเภทที่รัฐธรรมนูญกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาคดีไว้ เช่น คดีที่วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง (รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (9) ) คดีที่วินิจฉัยเรื่อง ส.ส. ส.ว. หรือกรรมาธิการ กระทำการเพื่อให้ตนมีส่วนโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย หรือไม่ ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็น (รัฐธรรมนูญ มาตรา 144) คดีที่วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเงื่อนไขการตราพระราชกำหนด ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง (รัฐธรรมนูญ มาตรา 173) เป็นต้น
คดีคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาคดีไว้ มีปัจจัยสำคัญหลายอย่างที่มีผลต่อระยะเวลาในการพิจารณาคดี ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะบางเรื่องที่เห็นว่าน่าสนใจ ดังนี้
3.1 คดีตามคำร้องนี้เป็นคดีที่มีคู่กรณี คือ ส.ส. พรรคการเมืองฝ่ายค้าน เป็นผู้ร้อง และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกร้อง จึงต้องมีการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้ถูกร้อง และเมื่อผู้ถูกร้องได้รับสำเนาคำร้อง จะมีระยะเวลาในการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งในคดีที่มีความสำคัญเร่งด่วน ศาลอาจจะกำหนดระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาให้น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้การพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้นก็ได้
3.2 การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน (พ.ร.ป. วิ.ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 27) ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจพิจารณาพยานหลักฐานได้อย่างกว้างขวาง และหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีโดยไม่ทำการไต่สวนก็ได้ (พ.ร.ป. วิ.ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 58)
ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ประเด็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวน ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนในกระบวนพิจารณาคดีหลายอย่างถูกตัดออกไป และส่งผลให้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีสั้นและรวดเร็วกว่าคดีที่ต้องมีการไต่สวนตามขั้นตอนปกติ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ
สาวกเพื่อไทย ยื่นศาลรธน.สอบ 'ธนพร' ละเมิดอำนาจศาล
ที่บริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ นายนิยม นพรัตน์ หรือเค สามถุยส์ และนายทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร เดินทางมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นหนังสือร้อง นายธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์
'ชูศักดิ์' เผย 'เพื่อไทย' ได้รับความเป็นธรรม ศาลรธน. ไม่รับคำร้องปมล้มล้างการปกครอง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายอิสระ ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย(พท.) ยุติการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองจะผูกพันไปยังกรณีที่มีการยื่นคำร้องเดียว
'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง
จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
2 ตุลาการศาลรธน.เสียงข้างน้อย รับคำร้อง 'ทักษิณ' สั่งรัฐบาลเอื้อประโยชน์ฮุนเซน น่าจะเกิดผลใช้สิทธิล้มล้างปกครองฯ
จากกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2567 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูก
'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.
หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ