'บิ๊กตู่' ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ก็ได้! อดีตคณบดีนิติฯ มธ. ชี้หลัก กม.มหาชน มีวิธีแก้

‘อดีตคณบดีนิติฯ มธ.’ ชี้ ‘บิ๊กตู่’ ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ ถึงถูกตัดสินให้หลุดจากตำแหน่งภายหลัง ไม่กระทบกับสิ่งที่ทำไว้ ย้ำครบแปดปี 24 ส.ค. ห่วงวิกฤติศรัทธา หากศาลรธน.เห็นต่างต้องมีเหตุผลหนักแน่น

22 ส.ค. 2565 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะไปที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งเอกสารคำร้องของ ส.ส. ฝ่ายค้าน ที่ยื่นผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแปดปีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำให้ต้องดูกันว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะส่งคำร้องให้ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันพุธที่ 24 สิงหาคมนี้หรือไม่

ด้าน รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีนี้ไว้วินิจฉัย แต่ไม่มีคำสั่งให้พลเอกประยุทธ์หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ จะเป็นอย่างไรหรือไม่ว่า ก็เป็นไปได้ที่ศาลอาจมีดุลยพินิจไม่สั่งให้พลเอกประยุทธ์หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี เพราะเป็นตำแหน่งสำคัญของประเทศและอาจมีผลกระทบค่อนข้างร้ายแรง ถ้าให้หยุดไประหว่างที่ศาลกำลังพิจารณาคำร้องอยู่ก็พอเข้าใจได้ แต่คนก็คงตั้งคำถามว่า ทำไมคำร้องคดีอื่นถึงให้หยุด แต่เหตุใดคำร้องคดีนี้ไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

เมื่อถามย้ำว่า จะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่หากไม่สั่งให้พลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วเกิดผ่านไปหนึ่งเดือนศาลวินิจฉัยว่าต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ รศ.ดร.มุนินทร์ ให้ความเห็นทางกฎหมายว่า ไม่มีปัญหา คือหลักกฎหมายมหาชน ถ้าสุดท้ายแล้วศาลวินิจฉัยว่าให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ก็จะไม่กระทบกับกิจการที่ทำไปแล้วคือเป็นการคุ้มครองความแน่นอนเรื่องภารกิจของรัฐ ไม่อย่างนั้นแล้วเกิดสมมติว่าอยู่ต่อไปหนึ่งเดือนหลังรับคำร้องอยู่เกินเวลาที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง เช่น อยู่ไปถึง 25 กันยายน แล้วศาลเกิดวินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ต้องพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่ 25 สิงหาคม จะมีปัญหาว่าทำให้การกระทำที่นายกฯ เซ็นอะไปในช่วงหนึ่งเดือนดังกล่าวเสียไปหมดเลย แล้วมันจะกระทบเป็นลูกโซ่เลย เพราะเป็นผู้บริหารสูงสุดของรัฐมันจะวุ่นวาย เพราะฉะนั้น หลักกฎหมายปกครองปกติโดยทั่วไปหากสุดท้ายแล้ว หากศาลวินิจฉัยออกมาแล้วคนนั้นไม่มีอำนาจในภายหลังสิ่งที่เขาทำไปในเวลาที่เขายังเชื่อว่าเขายังอยู่ในอำนาจเมื่อศาลตัดสินออกมา ก็ไม่กระทบก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ย้ำว่า แต่ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องชั่งน้ำหนักเหมือนกันว่าจะเอาอย่างไรดีจะให้หยุดก่อนดีไหม หรือจะไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คิดว่าทั้งสองทาง เอาจริงๆ แล้ว ไม่มีปัญหาอะไรอย่างหากไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยให้ทำหน้าที่นายกฯ ต่อไป มันก็พอเข้าใจได้อยู่เหมือนกัน มองว่ามีสองประเด็นที่ศาลต้องกังวลคือสิ่งที่มีคนกังวลว่า หากสุดท้ายถ้าพลเอกประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งสิ่งที่ได้ทำไปก่อนหน้านั้น ก็เหมือนไม่มีความชอบธรรม เพราะตัวเองไม่ควรจะอยู่แล้วแต่ก็ยังใช้อำนาจต่างๆ แต่ว่าหลักกฎหมายมหาชน ก็มีวิธีการแก้ มีหลักการแก้ปัญหาไว้อยู่แล้วว่าทำได้ ไม่กระทบ กับอีกประเด็นที่ตนกังวลมากกว่าคือเรื่องคำอธิบายว่าศาลปฏิบัติในแต่ละกรณี เหมือนกันหรือไม่เหมือนกันอย่างไร เช่น บางคดีให้หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ แต่ทำไมคดีนี้ไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นคำอธิบายที่ศาลต้องออกมาชี้แจงต่อประชาชน

“ศาลก็มีสองโจทย์ที่ต้องคิด เริ่มจาก เรื่องแรก จะให้พลเอกประยุทธ์หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่การเป็นนายกฯ หรือไม่ เพราะหากพลเอกประยุทธ์ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ แล้วต่อมาเกิดว่าต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ แต่ทำไมถึงปล่อยให้ตัดสินใจเรื่องสำคัญไปก่อนจะมีคำวินิจฉัยหรือควรให้หยุดพักไว้ก่อนจะดีกว่าหรือไม่ กับเรื่องที่สอง ก็คือเคสคำร้องอื่น ศาลเคยทำมาอย่างไร แล้วเคสนี้ก็ควรต้องทำให้เหมือนกันมันจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเคสอื่นให้หยุด แต่เคสนี้เป็นนายกฯบอกว่าไม่ให้หยุด แบบนี้ผมว่าอธิบายไม่ค่อยได้ เพราะหากหยุด ก็มีคนอื่นมารักษาการแทนได้ถ้าอธิบายไม่ได้” รศ.ดร.มุนินทร์ ระบุ

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้ำว่า คำร้องคดีดังกล่าว เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยเผชิญมาด้วยเหตุผลที่ว่า แนวทางการตีความรัฐธรรมนูญมันชัดเจนมากและผลการตีความ ถ้าใช้หลักการตีความโดยปกติทั่วไปที่นักกฎหมายเห็นว่าสมเหตุสมผลที่สุด พลเอกประยุทธ์ ไม่สามารถเป็นนายกฯได้ต่อไปหลัง 24 สิงหาคมนี้

“หากศาลเห็นต่าง และศาลไม่สามารถให้เหตุผลที่มันหนักแน่นกว่าได้ก็จะเกิดวิกฤตศรัทธา ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า ศาลกำลังช่วยพลเอกประยุทธ์อยู่ใช่หรือไม่ อะไรแบบนี้ คิดว่าเป็นความท้าทาย คืออันนี้ไม่ได้หมายความว่า ศาลต้องตัดสินเหมือนกับที่แสดงความเห็น คือ หากศาลวินิจฉัยที่แตกต่างศาลก็ต้องมีคำอธิบายที่มีน้ำหนักมาหักล้างได้ที่ก็ยังมองไม่ออกว่าจะมีเหตุผลอะไรที่ มันจะมีน้ำหนักไปกว่านี้เพราะมันชัดเจนมากมองไม่เห็นทางอื่นที่จะตีความไปทางอื่น”อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อึ้ง!ปดิพัทธ์บอกยุบ 'ก้าวไกล' แสดงว่าไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยส่งผลสภานานาชาติ

'ปดิพัทธ์' ยอมรับมีชื่อเป็น กก.บห.ก้าวไกล เสี่ยงพ้น สส. หากพรรคถูกยุบจริง แต่เชื่อมั่นว่าการสู้คดีมีน้ำหนัก ไม่เสียดายตำแหน่งรองประธานสภา ชี้งานที่หาเสียงไว้ทำได้หมดแล้ว

เลขาฯกกต. โต้ก้าวไกล ปมยื่นยุบพรรค

นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต และนายทะเบียนพรรคการเมือง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงอำนาจ และการปฏิบัติหน้าที่ของกกต. เลขาฯกกต.และนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อกรณีการยื่นยุบพรรคการเมือง

'ชัยธวัช' ลั่นทุกคนในพรรคนิ่ง ถ้ายุบจริงเราตกผลึกหมดแล้ว ไม่ต้องเตรียมตัวอะไร

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยไม่มีการไต่สวน

'รังสิมันต์' รับสภาพคงสู้คดียุบพรรคยากขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญขีดเส้นตาย

'โรม' รับคงสู้คดียากขึ้น หลังศาล รธน.นัดชี้ขาดยุบก้าวไกล 7 ส.ค.นี้ ย้ำความสำคัญอยู่ที่กระบวนการ ยกพยานปากสำคัญควรได้ขึ้นไต่สวน ยันพรรคไม่ได้ล้มล้างการปกครอง