19 ส.ค.2565 - เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.เลียบทางรถไฟ ย่านตลิ่งชัน ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีร่วมกันฟอกเงิน หมายเลขดำอท.214/2561ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวิชัย กฤษดาธานนท์ อายุ 83 ปี อดีตผู้บริหารกฤษดามหานคร ที่ 1 นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ อายุ 56 ปี บุตรชายของ นายวิชัย อดีตกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท โบนัส บอร์น จำกัด ที่ 2 นายบัญชา ยินดี อายุ 63 ปี อดีตกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด และ บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี่ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.กฤษดามหานคร ที่ 3 น.ส.เพชรรัตน์ เทพสัมฤทธิ์พร อายุ 51 ปี อดีตเลขานุการของนายรัชฎา ที่ 4 นายปภพ สโรมา อายุ 69 ปี ผู้มีชื่อเป็นกรรมการใน 3 บริษัท ประกอบด้วย บจก.อาร์เคฯ, บจก.โกลเด้นฯ, บริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด และ นายธีรโชติ พรมคุณ อายุ 58 ปี พนักงานของ บมจ.กฤษดามหานคร ที่ 6 ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2547 มาตรา 4, 5, 9, 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91
โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องพฤติการณ์ความผิดจำเลยทั้ง หมด สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 11 ก.ย.2546 -ธ.ค.2547 หลังจากที่มีการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของ ธนาคารกรุงไทยฯ ผู้เสียหายให้กับ บมจ.กฤษดามหานคร และบริษัทในเครือโดยมิชอบแล้ว จำเลยทั้ง 6 คน กับพวกอีกหลายคนสมคบกันฟอกเงินที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ จำนวน 10,400,000,000 บาท โดยมีการนำบริษัทนิติบุคคลที่จำเลยที่ 1-3 มีอำนาจกระทำการแทน มาใช้ในการโอนและรับโอนเงิน โดย น.ส.เพชรรัตน์ จำเลยที่ 4 เลขานุการ ของนายรัชฎา จำเลยที่ 2 ได้ทำหน้าที่จัดหาบัญชีธนาคารพาณิชย์ และบัญชีซื้อขายของบุคคลอื่น เพื่อให้จำเลยที่ 1 กับพวกนำเงินที่ได้จากการกระทำผิดไปใช้ซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยมี นายปภพ จำเลยที่ 5 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คจากบัญชีธนาคารของ บจก.โกลเด้นฯ ที่รับโอนเงินจากการกระทำผิดไปเข้าบัญชี บจก.แกรนด์ คอมพิวเตอร์ฯ แล้วนำมาชำระหนี้ค่าซื้อหุ้นแปลงสภาพ บมจ.กฤษดามหานคร
ขณะที่ นายธีรโชติ จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นพนักงานขับรถประจำตัวนายวิชัย อดีตผู้บริหาร บมจ.กฤษดามหานคร ได้ทำหน้าที่เปิดบัญชีธนาคารพาณิชย์เพื่อให้นายวิชัย จำเลยที่ 1 โอนเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดแล้วทำหน้าที่นำเช็คของธนาคาร ที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายไปเบิกถอนเป็นเงินสด ตามคำสั่งของนายวิชัย จำเลยที่ 1 ขณะที่เมื่อ บจก.อาร์เคฯ และ บจก.โกลเด้นฯ ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจาก ธนาคาร กรุงไทย แล้วก็ไม่ได้นำไปปรับโครงสร้างหนี้และจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติม ตามเหตุผลการขอสินเชื่อ แต่นายบัญชา จำเลยที่ 3 อดีตกก.บริษัททั้งสอง กลับร่วมกับพวกนำเงินนั้นไปออกเช็คแล้วฝากเข้าบัญชีบุคคลต่างๆ ก่อนจะเบิกถอนเงินสดไปซื้อขายหุ้นและที่ดิน โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยทั้งหกกับพวก และไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ยื่นขอกู้ไว้ นอกจากนี้ระหว่างนั้นพวกจำเลยยังร่วมกันออกเช็คในนามบริษัทนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าบัญชีธนาคารของพวกจำเลยอีกหลายครั้ง ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 6 กับพวกดังกล่าวเป็นการโอน รับโอนหรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือเพื่อซุกซ่อน ปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง ในความผิดมูลฐาน หรือกระทำการเพื่อปกปิด อำพรางการได้มา การโอนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นการสมคบกันฟอกเงิน รวมทั้งสิ้น 141 กรรม
ท้ายฟ้องอัยการโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด และนับโทษ นายวิชัย นายรัชฎา และ นายบัญชา จำเลยที่ 1-3 คดีนี้ต่อจากโทษในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาให้จำคุกทั้งสามไว้คนละ 12 ปี คดีทุจริตปล่อยสินเชื่อระหว่างของ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กับ กฤษดามหานครที่ศาลฎีกา ฯ พิพากษาจำคุกไว้คนละ 12 ปีด้วย จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งหกกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน ม.5, 9, และ 60 ป.อาญา ม.83 เป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม ตาม ม.91 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กระทำความผิด 133 กรรม รวมโทษจำคุกเป็นเวลา 860 ปี จำเลยที่ 2 ทำผิด 28 กรรม รวมจำคุก 118 ปี จำเลนที่ 3 ทำผิด 52 กรรม รวมจำคุก 416 ปี จำเลยที่ 4 จำคุก 38 ปี จำเลยที่ 5 ทำผิด 25 กรรม รวมจำคุก 235 ปี และจำเลยที่ 6 ทำผิด 39 กรรม รวมจำคุก 262 ปี แต่ตามกฏหมายเมื่อรวมโทษจำคุกแล้ว ให้ลงโทษจำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี พิพากษาจำคุกจำเลยทั้งหก คนละ 20 ปี
ทั้งนี้แม้โจทก์ไม่ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์ แต่เมื่อเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดจากการทุจริตปล่อยสินเชื่อแบงก์กรุงไทย ศาลจึงมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์ แต่เมื่อทรัพย์ถูกโอนย้ายไปแล้วซึ่งยากต่อการติดตามคืน จึงพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 8,868 ล้านบาทเศษ ภายใน 30 วัน หากผิดนัดชำระให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันผิดนัดชำระ และให้บังคับเอาทรัพย์สินของจำเลยได้ไม่เกินจำนวนที่แต่ละคนค้างชำระ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
10 กรณีคอร์รัปชันแห่งปี 2567 ป่วยทิพย์ชั้น 14 ‘โกงซ้อนโกง’
ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความว่า 10 กรณี คอร์รัปชันแห่งปี 2567
อดีตบิ๊กข่าวกรองฝาก ป.ป.ช.เร่งปมป่วยทิพย์ชั้น 14 บอกเป็นการคอร์รัปชันที่รุนแรงที่สุด
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ตั้งป้อมชน 'ระบอบทักษิณใหม่' ประเดิม 18 ธ.ค. บุก ป.ป.ช. หึ่งล็อบบี้หนักล้มคดีชั้น 14
วงหารือฝ่ายต้านรัฐบาล ตั้งป้อมชน 'ระบอบทักษิณใหม่' นำร่อง 18 ธ.ค. บุกตึก ป.ป.ช. หลังได้กลิ่นล็อบบี้หนัก 3 กรรมการฯ ล้มคดีชั้น 14
ศาลคดีทุจริตฯ เลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้อง '9 บิ๊ก มท.' ปมเขากระโดง
ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เลื่อนนัดฟังคำสั่งชั้นตรวจฟ้องคดี 9 บิ๊ก มท. ทุจริตที่ดินเขากระโดง 28 ม.ค. 68 เหตุสั่งเเก้ฟ้อง ‘ณฐพร โตประยูร’ 2 ประเด็น
ACT เปิด '10 ทุจริต อบจ.' เสียหาย 377 ล้าน เฉพาะอุบลฯ โกงถึง 42 คดี
ACT เปิดข้อมูล '10 ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง' อบจ. ตั้งคำถาม 'ป.ป.ช.' ทำไมคดีน้อยแค่หลักสิบ สวนความเชื่อประชาชน งบท้องถิ่นโกงกันอื้อ
‘อดีตบิ๊กข่าวกรอง’ ซัดคอร์รัปชันเลวร้าย นักการเมืองตัวดี โกงกินแสนล.ติดคุกไม่กี่ปีออกแล้ว
นันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง 'ใครจะกล้ามา'