‘หมออุดม’ เผย จ่อเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 ต.ค.นี้ เล็งใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ คุมแทน ส่วน ศบค. หายไปตาม กม. พร้อมเตรียมแผนเรื่องยา-วัคซีน ก่อนเข้าสู่โรคประจำถิ่น
19 ส.ค. 2565 – เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ศ.นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวก่อนการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ถึงการพิจารณาให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังในวันที่ 1 ต.ค. จะต้องยกเลิกการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ด้วยหรือไม่ ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกเลิกแน่นอน โดยเบื้องต้นเรื่องนี้ได้มีการหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ก็ไม่ได้ขัดข้อง เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์เริ่มเบาลง
“หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันที่ 1 ต.ค. ศบค.ก็ต้องหายไปด้วย และอาจนำพระราชบัญญัติโรคติดต่อ กลับมาปัดฝุ่นใช้ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งและตั้งให้มีหน่วยงานคล้ายกับ ศบค. เป็นหน่วยงานในการช่วยประสานงาน โดยอาจมีการปรับมาเป็นรูปแบบของคณะกรรมการร่วม แต่ข้อสรุปจะต้องรอการประชุมก่อนครบกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ อีกครั้ง แต่แนวโน้มคงจะยกเลิก ด้วยสถานการณ์ต่างๆในประเทศและการเดินหน้าของเศรษฐกิจ” ศ.นพ.อุดม ระบุ
ทั้งนี้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อมีคนไข้ในระบบประมาณ 2,000 คน และคนไข้ที่ตรวจพบจาก ATK อยู่ในระบบวันละประมาณ 30,000 คน และนอกระบบ 1 – 2 เท่าต่อวัน โดยภาพรวมผู้ติดเชื้อวันละประมาณ 60,000 – 70,000 คน และคงที่มาประมาณเกือบเดือน จึงคาดการณ์ว่าอาจจะคงอยู่อีก 1 เดือน และหลังวันที่ 1 ต.ค. น่าจะเริ่มลดลง และคนไข้ที่เข้าโรงพยาบาลน่าจะต่ำกว่า 1,000 คนต่อวัน ถ้าเป็นตัวเลขนี้จะเสียชีวิตประมาณวันละ 10 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ที่จะกลายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ส่วนการจะเป็นโรคประจำถิ่นจะดูไปอีกสักระยะ
สำหรับการประชุมในวันนี้จะพิจารณากรอบนโยบายและแผนดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่โรคประจำถิ่น เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย.-ต.ค. เป็นต้นไป สิ่งที่ต้องทำ 2 เรื่องใหญ่ คือ เตรียมการให้คนไข้เข้าถึงบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเวลานี้ยังมีเสียงบ่นจากคนไข้ในการพบหมอและรับยา และขอยืนยันว่าเรื่องยาไม่ต้องกังวลยังมีเหลือเพียงพอ ทั้งฟาวิพิราเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ แต่ปัญหาคือเรื่องบริหารจัดการบางที่คนไข้มากน้อยต่างกัน และจากนี้จะให้คนไข้รับยาที่ร้านยาในเครือข่ายได้อีกทางหนึ่ง และขณะนี้ 3 กองทุนหลักร่วมเอกชนจัดทำ 3 แอปพลิเคชัน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงในกรณีติดเชื้อได้ครอบคลุมทั้งประเทศ คนไข้สามารถเจอแพทย์และรับยาโดยมีบริการส่งถึงบ้านให้เกิดความสะดวก
และเรื่องที่ 2 คือวัคซีนที่ต้องทำความเข้าใจว่ายังต้องฉีดเข็ม 3 และ 4 เพราะเชื้อ BA.4และBA.5 ยังมีความรุนแรง แต่วัคซีนทำให้เกิดภูมิ ดังนั้นควรฉีดเข็มกระตุ้น และขอย้ำว่าไม่ติดดีที่สุด เพราะการติดยังสามารถตายได้ถ้ามีความเสี่ยงและจะมีอาการลองโควิด ซึ่งที่เสียชีวิตปัจจุบัน 60 เปอร์เซ็นต์ไม่ฉีดวัคซีน ส่วนเข็ม 5 – 6 ขอให้บุคคลากรทางการแพทย์ เพราะเป็นบุคคลากรด่านหน้า บุคคลทั่วไปยังไม่แนะนำ ขอย้ำว่าประชาชนยังต้องป้องกันตัวเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัยยังจำเป็นที่สุด ล้างมือให้บ่อยและเว้นระยะห่าง รวมถึงการปฏิบัติตัวป้องกันโรคแบบครอบจักรวาล.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน
‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'
หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform
'หมอยง' เผยสถาการณ์โควิดเปลี่ยนไปมากคำแนะนำก็ต้องเปลี่ยนตาม
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
'คารม' บอกรัฐบาลเฝ้าระวังโรคไอกรนใกล้ชิดผู้ปกครองไม่ต้องห่วง
'คารม' เผยรัฐบาลร่วมบูรณาการเฝ้าระวังโรคไอกรนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในโรงเรียน เน้นย้ำเฝ้าระวัง ติดตามอย่างเข้มงวด ป้องกันการแพร่ระบาด ขอผู้ปกครองอย่าเป็นกังวล