เปิดคำร้องฝ่ายค้าน ยื่นประธานรัฐสภา ชงศาลรธน.สอย 'บิ๊กตู่' ครบ 8 ปี!

17 ส.ค.2565 - เมื่อเวลา13.00น. ที่โถงอาคารชั้น 1 อาคารรัฐสภา ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย เป็นต้น ร่วมกันยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โดยคำร้องในหนังสือมีสาระสำคัญ ระบุว่า   ข้อ ๑.การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐมนตรีอื่นอีกจำนวนไม่เกินสามสิบห้าคนตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ” การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงเกิดขึ้นและเป็นไปตามประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อมีประกาศพระบรมราชโองการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๑๕๙ง ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเริ่มต้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ 

เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ต่อไปโดยผลของมาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งบัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความใน มาตรา ๒๖๓ วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม” ซึ่งการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ต่อไปโดยผลของมาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่งนี้ เป็นไปอย่างต่อเนื่องจากการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗

ต่อมาภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้มีประกาศพระบรมราชโองการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๕๘ และประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนพิเศษ ๑๔๘ ง ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๒) ในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อเข้ารับหน้าที่ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งหลัง ตามประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ มาจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีทั้ง ๒ ฉบับ เป็นระยะเวลากว่า ๘ ปี ติดต่อกัน นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป

ข้อ ๒. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๗๐ วรรคสอง มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ และมาตรา ๒๖๔ ห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเกินกว่า 8 ปี โดยให้นับระยะเวลาต่อเนื่องและมิได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าต้องเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้เท่านั้น

เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ บัญญัติถึงลักษณะต้องห้ามหรือเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง โดยบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง ว่า “นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ด้วย” และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลา ในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” ซึ่งเป็นการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดระยะเวลาสูงสุดไว้ ๘ ปี และจะดำรงตำแหน่งเกินกว่ากำหนดระยะเวลานี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือการดำรงตำแหน่งไม่ติดต่อกันก็ตาม โดยเหตุผลสำคัญในการบัญญัติมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ คือ การกำหนดระยะเวลาสูงสุดไว้ ๘ ปี เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจสร้างอิทธิพลทางการเมืองขึ้น อันจะเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมืองได้ ซึ่งเป็นการบัญญัติไว้ในทำนองเดียวกันกับมาตรา ๑๗๑ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้” และเป็นการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งทำนองเดียวกับการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดินและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีและให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๐๗ มาตรา ๒๒๓ มาตรา ๒๒๙ มาตรา ๒๓๓ มาตรา ๒๓๙ และมาตรา ๒๔๖ ตามลำดับ

นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖๔ ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่เพื่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งการบัญญัติตามมาตรา 264 นี้ ใช้คำว่า “เป็น” คณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ โดยมีความมุ่งหมายให้เป็น มิใช่ “ทำหน้าที่เป็น” ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 263 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “...ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ตามลำดับ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา ๒๖๔ วรรคสอง บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐ ยกเว้นลักษณะต้องห้ามบางประการอันเป็นกรณีที่ใช้บังคับแก่คณะรัฐมนตรีซึ่งมีที่มาตามรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเฉพาะตามมาตราที่ระบุไว้อย่างชัดแจ้ง โดยไม่ยกเว้นกรณี นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน ๘ ปี ตามมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ เอาไว้ ดังนั้น บทบัญญัติมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ และมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง จึงใช้บังคับแก่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย โดยนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่งในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป โดยไม่คำนึงว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หรือไม่ หรือมีขึ้นเมื่อใด ซึ่งจะเห็นได้ว่าหากไม่มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมา

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง ๘ ปี คือวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ เท่านั้นอันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ไม่ต้องการเอื้อโอกาสให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป 

ดังนั้น เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกินกว่า ๘ ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป โดยไม่มีระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่จะไม่นำมานับรวมตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ แต่อย่างใด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันทีหลังจากครบกำหนดระยะเวลา ๘ ปี ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ และต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกตาม มาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ 

อนึ่ง มีผู้กล่าวอ้างว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งมีที่มาที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง 8 ปี ได้นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าการกล่าวอ้างดังกล่าวขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ในมาตรา 158 วรรคสี่ มาตรา 170 วรรคสองและมาตรา 264 อย่างชัดแจ้ง และขัดต่อเจตนารมณ์และจุดมุ่งหมายของการมีบทบัญญัติเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 8 ปี โดยเฉพาะในมาตรา 264 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวย่อมหมายรวมถึงคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ด้วย รวมถึงเห็นว่าการได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารไม่ว่าจะมีกระบวนการได้มาด้วยวิธีการใดก็ตามก็ล้วนแล้วแต่เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารซึ่งจำเป็นต้องถูกจำกัดด้วยระยะเวลาการดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น

ข้อ ๓. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 และ 7/2562 กรณี มาตรา 264 ให้รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องอยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญ 2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 และ 24/2564 เรื่องการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังสามารถทำได้หากมิใช่โทษทางอาญา

ในประเด็นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖๔ ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลนี้ มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว คือ คำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๖๑ และคำวินิจฉัยที่ ๗/๒๕๖๒ 

คำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๖๑ วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ถูกร้อง วินิจฉัยถึงสถานะความเป็นรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ความส่วนหนึ่งในหน้าที่ ๑๗ ถึงหน้าที่ ๑๘ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอนที่ ๑๐๐ ก ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ หน้า ๕๖ - ๕๗) วินิจฉัยว่า 

“ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามประเด็นที่กำหนด ดังนี้ 

ประเด็นที่หนึ่ง รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ ประกอบมาตรา ๑๘๗ นำมาใช้บังคับแก่ผู้ถูกร้องได้หรือไม่ เพียงใด พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา ๒๖๓ วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม” และวรรคสอง บัญญัติว่า “รัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แล้ว ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้สำหรับรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๖๐ ยกเว้น (๖) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา ๙๘ (๑๒) (๑๓) (๑๔) และ (๑๕) และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๗๐ ยกเว้น (๓) และ (๔) แต่ในกรณีตาม (๔) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา ๙๘ (๑๒) (๑๓) (๑๔) และ (๑๕) และยกเว้นมาตรา ๑๗๐ (๕) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา ๑๘๔ (๑)” โดยที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ เป็นบทเฉพาะกาลที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่เพื่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามบทหลัก ยกเว้นลักษณะต้องห้ามบางประการอันเป็นกรณีที่ใช้บังคับแก่คณะรัฐมนตรีซึ่งมีที่มาตามรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเฉพาะ รวมถึง มิให้นำการพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรีด้วยเหตุบางประการที่กำหนดไว้ สำหรับรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้มาใช้บังคับ ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ วรรคสอง บัญญัติยกเว้นกรณีความเป็น รัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๕) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง (๑) เท่านั้น โดยไม่ได้ยกเว้นกรณีตามมาตรา ๑๘๗ ที่บัญญัติให้รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติแต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๐ เรื่อง การดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแจ้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกท่านทราบเพื่อพึงระวังเกี่ยวกับการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ ผู้ถูกร้องจึงเป็นรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งจะต้องไม่เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๗ ...” 

คำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๖๑ ดังกล่าววางบรรทัดฐานสำคัญ ๒ ประการตามมาตรา ๒๖๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ 

ประการที่หนึ่งคือ เมื่อนายดอน ปรมัตถ์วินัย ผู้ถูกร้อง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ จึงเป็นรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีที่ได้รับแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และเป็นรัฐมนตรีอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ จึงเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ด้วยโดยผลของบทเฉพาะกาลมาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง 

ประการที่สองคือ เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ “มาตรา ๒๖๔ วรรคสอง บัญญัติยกเว้นกรณีความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๕) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือตำแหน่ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง (๑) เท่านั้น โดยไม่ได้ยกเว้นกรณีตามมาตรา ๑๘๗” จึงต้องนำมาตรา ๑๘๗ มาบังคับใช้กับนายดอน ปรมัตถ์วินัย ด้วย 

ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามบรรทัดฐานของคำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๖๑ ดังกล่าว การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีที่ได้รับแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งบังคับใช้อยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยมีนายดอน
ปรมัตถ์วินัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในคณะรัฐมนตรีเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยผลของบทเฉพาะกาลมาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกัน 

อีกทั้ง มาตรา ๒๖๔ วรรคสอง บัญญัติข้อยกเว้นการมีลักษณะต้องห้ามและข้อยกเว้นสำหรับกรณีต้องพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรีไว้อย่างชัดแจ้ง ส่วนของมาตรา ๑๗๐ ยกเว้น (๓) และ (๔) แต่ในกรณีตาม (๔) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา ๙๘ (๑๒) (๑๓) (๑๔) และ (๑๕) และยังยกเว้น มาตรา ๑๗๐ (๕) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา ๑๘๔ (๑) ด้วย โดยไม่ได้บัญญัติยกเว้นกรณีตามมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ เรื่องความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลา ๘ ปี ซึ่งเป็นการบัญญัติ อย่างตั้งใจและมีความสอดคล้องกับหลักการของกฎหมายปกครองที่เป็นสากล แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ต้องการให้มาตรา ๑๗๐ วรรคสองและมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ มีผลบังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน เมื่อมาตรา ๒๖๔ วรรคสอง ไม่ได้ยกเว้นกรณีตามมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ไว้ จึงต้องนำมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ มาบังคับใช้กับกรณีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นเดียวกับกับกรณีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่สามารถอ้างหรือมีสิทธิพิเศษแตกต่างไปจากกรณีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย ตามบรรทัดฐานของคำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๖๑ ดังกล่าว 

คำวินิจฉัยที่ ๗/๒๕๖๒ วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ที่ ๑, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่ ๒, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่ ๓, และ
นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ที่ ๔ ผู้ถูกร้อง วินิจฉัยถึงการนำรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๖ มาใช้บังคับกับรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ความส่วนหนึ่ง ในหน้าที่ ๑๘ , ๑๙ และ ๒๑ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๑๐๐ ก ๒๖ กันยายน ๒๕๖๒ หน้า ๓๖ , ๓๗ และ ๓๙) วินิจฉัยว่า 

“ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ถูกร้องที่ ๑ และผู้ถูกร้องที่ ๔ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ จึงมีข้อที่ต้องพิจารณาเบื้องต้นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๖ จะนำมาใช้บังคับกับผู้ถูกร้องที่ ๑ และผู้ถูกร้องที่ ๔ ได้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า กรณีดังกล่าวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๕/๒๕๖๑ ได้วินิจฉัยสรุปได้ว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ เป็นบทเฉพาะกาลที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็น คณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ วรรคสอง บัญญัติยกเว้นกรณีความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๕) เฉพาะกรณีตามมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง (๑) เท่านั้น โดยมิได้ยกเว้นกรณีตามมาตรา ๑๘๖ ประกอบมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง (๒) และวรรคสาม และมาตรา ๑๘๗ แต่อย่างใด ดังนั้น รัฐมนตรีซึ่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ จึงเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ และต้องนำรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๖ และมาตรา ๑๘๗ มาใช้บังคับแก่รัฐมนตรีดังกล่าวด้วย โดยจะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี 

เมื่อผู้ถูกร้องที่ ๑ และผู้ถูกร้องที่ ๔ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ ผู้ถูกร้องทั้งสองจึงเป็นรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวซึ่งจะต้องนำรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๖ มาใช้บังคับด้วย โดยเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ วันที่ถือว่าผู้ถูกร้องทั้งสองได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ จึงเป็นวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ ดังนั้น ผู้ถูกร้องทั้งสองรวมทั้งคู่สมรสและบุตรจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๖ นับแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐...”

และคำวินิจฉัยในหน้าที่ ๒๑ เน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “ความเป็นรัฐมนตรีเริ่มตั้งแต่วันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี” 

คำวินิจฉัยที่ ๗/๒๕๖๒ นี้วินิจฉัยในแนวบรรทัดฐานเดียวกับคำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๖๑ ที่กล่าวมาแล้ว คือเมื่อผู้ถูกร้องที่ ๑ และผู้ถูกร้องที่ ๔ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ จึงเป็นรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีที่ได้รับแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และเป็นรัฐมนตรีอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ จึงเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ด้วยโดยผลของบทเฉพาะกาล มาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง และเมื่อมาตรา ๒๖๔ วรรคสอง มิได้ยกเว้นกรณีตามมาตรา ๑๘๖ ประกอบมาตรา ๑๘๔ (๒) และวรรคสาม และมาตรา ๑๘๗ ไว้ จึงต้องนำมาตรา ๑๘๖ และมาตรา ๑๘๗ มาใช้บังคับแก่รัฐมนตรีดังกล่าว ด้วย 

ทั้งนี้ วันที่ใช้ในการวินิจฉัยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของรัฐมนตรีให้นับวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ แต่วันที่นับความเป็นรัฐมนตรีเริ่มตั้งแต่วันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี เพราะเป็นวันที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยที่ ๗/๒๕๖๒ นี้จึงเป็นการย้ำบรรทัดฐานเดียวกันว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มตั้งแต่มีประกาศพระบรมราชโองการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศลงวันที่ ๒4 สิงหาคม ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นวันที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน

สำหรับข้ออ้างทำนองว่า ต้องไปเริ่มนับความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีจากวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ แทน เพราะเป็นวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้ จะได้ไม่ถือเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังให้เป็นโทษนั้น เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้เพราะเป็นข้ออ้างที่ขัดกับประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามประกาศ ลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ขัดกับบทบัญญัติที่ชัดแจ้งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๗๐ วรรคสอง , มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ และมาตรา ๒๖๔ และขัดกับบรรทัดฐานของคำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๖๑ และคำวินิจฉัยที่ ๗/๒๕๖๒ ที่วินิจฉัยเรื่องเดียวกันไว้ ส่วนข้ออ้างทำนองว่าเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังให้เป็นโทษนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะข้ออ้างดังกล่าวเป็นเรื่องของการลงโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ วรรคหนึ่ง ซึ่งอยู่ภายใต้หลักการใช้กฎหมายอาญาที่บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย เป็นคนละเรื่องกับกรณีลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในกรณีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของลักษณะต้องห้ามชัดแจ้ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ บัญญัติขึ้นเพื่อห้ามมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจบริหารสูงสุดของประเทศเกินระยะเวลาที่กำหนด อันเป็นเรื่องของหลักการสร้างความสมดุลที่เหมาะสมให้กับประโยชน์สาธารณะโดยแท้ มิใช่เรื่องของการลงโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา แต่เป็นเรื่องการกำหนดวาระหรือระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคล แม้จะให้นับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ก็กระทำได้ นอกจากนี้การจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่ให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งก่อนวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ก็มีบัญญัติไว้ในกฎหมายหลายฉบับ เช่น การจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอธิการบดีตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘ มาตรา ๓๖ ประกอบมาตรา ๙๖ และพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๕๕๘ มาตรา ๓๔ ประกอบมาตรา ๗๘ เป็นต้น

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓ - ๕/2๕๕๐ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ได้วินิจฉัยว่า “...แม้ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ ๒๗ ฯ ที่กำหนดให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบนั้น จะเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังก็ตาม แต่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวมิใช่โทษในทางอาญา จึงสามารถใช้บังคับได้ จึงให้เพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคทั้งสามพรรคด้วย”

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 24/2564 เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม 2564 ที่วินิจฉัยสมาชิกภาพของนายสิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ ว่า “...ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ๗ ต่อ ๒ ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. ของนายสิระสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลแขวงปทุมวัน ในคดีหมายเลขดำที่ ๘๑๒/6๕๓๘ คดีหมายเลขแดงที่ 2218/2538 กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา จึงเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๘ (๑๐) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖)...” จากคำวินิจฉัยดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้นำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกว่า ๒๐ ปี ที่แล้วมาเป็นเหตุในการวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของนายสิระ เจนจาคะ สิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบ มาตรา ๙๘ (๑๐) ดังนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสามารถใช้บังคับได้ โดยศาลรัฐธรรมนูญยังได้วินิจฉัยรองรับบทบัญญัติมาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๑๐) ต่อไปอีกว่า “...รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๑๐) เป็นบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นใหม่ที่กำหนดลักษณะต้องห้ามบางประการของบุคคลเพื่อมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่ขาดความน่าเชื่อถือในความสุจริต หรือที่เคยทำความผิด
อันเป็นปฏิปักษ์ต่อสาธารณะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอันเป็นหนทางให้ใช้ตำแหน่ง หรืออำนาจหน้าที่ของฝ่ายการเมือง กระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบได้โดยง่าย บุคคลที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติในฐานะที่เป็นปวงชนชาวไทยต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้นเพื่อเป็นหลักประกันว่าบุคคลนั้น ๆ จะปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริต
มีความประพฤติ และคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของสาธารณชนในทุกด้าน ปราศจากมลทินมัวหมอง”

ข้อ ๔. เจตนารมณ์ของการจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 วรรคสี่

หลักการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศเป็นมาตรฐานสากลที่ยอมรับกันทั่วไปในประเทศต่าง ๆ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมหรือ Rule of Law ซึ่งเป็นผลให้ประเทศต่างๆ จำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศไว้ เหมือนคำกล่าวที่ว่า “อำนาจทำให้คนทุจริต อำนาจเด็ดขาด ทำให้ทุจริตได้อย่างไม่มีข้อจำกัด” หรือ “Power tends to corrupt and absolute power corrupts absolutely” ซึ่งหมายความว่า คนที่มีอำนาจเหนือคนอื่นมีแนวโน้มที่จะทุจริตหรือใช้อำนาจในทางที่มิชอบได้ง่าย ดังนั้น ถ้าปล่อยให้มีคนที่มีอำนาจโดยเด็ดขาดเป็นระยะเวลายาวนานเกินไป ก็เท่ากับปล่อยให้ผู้ใช้อำนาจสามารถ ทุจริตโดยไม่มีข้อจำกัด 

ยิ่งเมื่ออำนาจนั้นหมายถึงอำนาจในการเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในประเทศก็ย่อมมีโอกาสจะก่อผลเสียต่อประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของประเทศชาตินั้นอย่างรุนแรงได้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศหรือสาธารณะจะต้องตกเป็นผู้รับผลร้ายนั้นในที่สุด 

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของการปกครองของประเทศไทย เพื่อธำรงคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขและอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย หลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๗๐ วรรคสอง มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ และมาตรา ๒๖๔ ที่กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้อย่างชัดเจนเป็นหลักการที่มุ่งธำรงคงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะของประเทศชาติ จึงจำเป็นต้องใช้และการตีความ มาตรา ๑๗๐ วรรคสอง มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ และมาตรา ๒๖๔ เพื่อสร้างความสมดุลที่เหมาะสมให้กับประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ มิใช่เพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ การใช้และตีความกฎหมาย ดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเท่ากับถือว่าการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นเรื่องรองไป ซึ่งไม่ถูกต้อง

สำหรับเจตนารมย์ของการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ปรากฏอย่างชัดเจนในบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๑ หน้าที่ 2-6 โดยมีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเข้าร่วมประชุม 18 คน และบันทึกการประชุมนี้คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุม ได้ตรวจทานแล้วเมื่อวันอังคารที่ 11 กันยายน 2561 โดยในบันทึกการประชุมดังกล่าวได้จัดระเบียบวาระที่ 3 เรื่องพิจารณา เป็นเรื่อง พิจารณาความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยเป็นการประชุมต่อจากการประชุมครั้งที่แล้ว และเริ่มพิจารณาตั้งแต่มาตรา 158 เป็นต้นไป โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

มาตรา 158 ...

ความมุ่งหมาย

“บัญญัติพระราชอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี”

คำอธิบายประกอบ

(1) บทบัญญัติลักษณะนี้ ได้มีการบัญญัติ เป็นครั้งแรกไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 (มาตรา 46) และได้บัญญัติทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ...
และ (2) วรรคท้ายได้ระบุว่า

“นอกจากนี้ได้กำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา กล่าวคือ การนับระยะเวลาแปดปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตามแต่หากรวมเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกินแปดปีก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว”

และในบันทึกการประชุมนี้ยังได้มีการบันทึกประเด็นการพิจารณาในเรื่องนี้โดยประธานกรรมการ (นายมีชัย ฤชุพันธ์) ได้กล่าวว่า “ ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐ ธรรมนูญ ประกาศใช้บังคับสามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่”

ซึ่งนาย สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า “หากนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย”

และประธานกรรมการได้กล่าวโดยสรุปอีกว่า “เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวัน ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งด้วยโดยอนุโลม” การบัญญัติ ในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องมีระยะเวลาไม่เกินแปดปี

โดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคนอื่นมิได้โต้แย้งหรือมีความเห็นที่แตกต่างไปจากหลักการนี้และในบันทึกการประชุมฯ หน้า 5-6 ได้ระบุว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้มีมติ ดังนี้

1. “เห็นชอบความมุ่งหมายของมาตรา 158 ตามที่คณะอนุกรรมการตรวจพิจารณาบันทึกเจตนารมณ์ร่างรัฐธรรมนูญเสนอ โดยไม่มีการแก้ไข”

2. วรรคสอง ระบุว่า “นอกจากนี้ ได้กำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลากล่าวคือ การนับระยะเวลาแปดปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกินแปดปี ก็ต้องห้ามมิให้ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่ นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว การกำหนดระยะเวลาแปดปีก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจ ในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุวิกฤติทางการเมืองได้”

โดยสรุป จากบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ถึงเจตนารมณ์และความมุ่งหมายของมาตรา 158 เรื่องการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “การกำหนดระยะเวลาแปดปี ก็เพื่อมีให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุวิกฤติทางการเมืองได้” และในระหว่างการประชุมยังมีการบันทึกประเด็นการพิจารณาว่า “ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้” โดยไม่ได้มีการระบุถึงเงื่อนไขการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่าจะต้องเป็นไปตามมาตรา 159 หรือมาตรา 272 จึงจะสามารถนับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งและคำว่า “ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับ” ก็มีความหมายที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า ใครก็ตามที่เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยวิธีการใดก็ได้ ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อทั้งประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้นำประเด็นนี้เข้าสู่การพิจารณาและมี นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานคนที่หนึ่ง ให้ความเห็นโดยประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวสรุปในทำนองเดียวกัน กรรมการร่างรัฐธรรมนูญผู้อื่น มิได้โต้แย้งหรือให้ความเห็นที่แตกต่าง และมีการรับรองรายงานการประชุมอย่างถูกต้อง จึงถือเป็นความเห็นที่ชอบจากการประชุม และเป็นเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญในมาตรานี้

ข้อ ๕. การไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาสรับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งหลัง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อ้างว่ามิใช่การเข้ารับตำแหน่งใหม่

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นกฎหมายที่มีฐานะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และเสนอร่างตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๓๒ กำหนดไว้ทุกประการ กล่าวคือ ผ่านการประชุมร่วมกันของรัฐสภาและผ่านการพิจารณาให้ความเห็นจากศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องว่าเป็นร่างกฎหมายที่ไม่มีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกรณีนี้คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๐๕ และมาตรา ๑๐๖ กำหนดแยกการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็น ๒ กรณี กรณีที่หนึ่งคือ การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเมื่อเข้ารับตำแหน่ง ในกรณีนี้ นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเมื่อเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งทุกครั้งตามมาตรา ๑๐๕ วรรคสาม (๑) และในกรณีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต้องเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป โดยเร็วตามมาตรา ๑๐๖ วรรคหนึ่ง กรณีที่สองคือ การพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมภายในหนึ่งเดือน กรณีหลังนี้ มาตรา ๑๐๕ วรรคสี่ บัญญัติว่าไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน 

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ และได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไว้แล้ว ระบุว่ามีทรัพย์สินรวมคู่สมรส ทั้งสิ้น ๑๒๘,๖๖๔,๕๓๕ บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น ๖๕๔,๗๔๕ บาท คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา ๑๐๖ วรรคหนึ่ง ต่อมา เมื่อนายกรัฐมนตรี ได้รับโปรดเกล้าฯ ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อเป็นหลักฐานตามมาตรา ๑๐๕ วรรคสี่ และในครั้งนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา ๑๐๖ วรรคหนึ่ง 

ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป ปรากฏว่ามีการเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนทุกแขนงขอให้มีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินในครั้งหลังด้วย ต่อมาเมื่อมีการเรียกร้องกันมากขึ้น ในช่วงเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ ผู้บริหารระดับสูงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหลายคนออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเผยแพร่ต่อสาธารณชนยืนยันสอดคล้องกันว่า กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาครั้งหลังนี้ไม่ใช่การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ตามมาตรา ๑๐๕ วรรคสาม (๑) แต่เป็นการยื่นเพื่อเป็นหลักฐานตามมาตรา ๑๐๕ วรรคสี่ เท่านั้น เป็นผลให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่สามารถเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบได้ตาม มาตรา ๑๐๖ วรรคหนึ่ง ซึ่งนับจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบตามมาตรา ๑๐๖ วรรคหนึ่ง 

ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันมา ๘ ปี จึงมีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่มีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบ ตามมาตรา ๑๐๖ วรรคหนึ่ง เพียง ๑ ครั้งเท่านั้น คือในปี ๒๕๕๗ แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ ถือสอดคล้องเช่นเดียวกันว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายมาตั้งแต่การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินครั้งแรกในปี ๒๕๕๗ เมื่อครั้งที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ และถือเช่นนี้ตลอดมา โดยไม่ต้องมีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินจากการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งอื่นอีกมาจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ ถือเช่นเดียวกันว่าคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มต้นเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ติดต่อมาจนถึงปัจจุบัน และความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ เมื่อดำรงตำแหน่งครบแปดปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565

ข้อ ๖. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป

จากประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขพบว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอดีตทุกฉบับรวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ล้วนบัญญัติให้มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงตำแหน่งเดียว และมีบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวในแต่ละช่วงเวลา โดยเป็นที่รับรู้และเข้าใจของประชาชนทุกภาคส่วนในประเทศไทยว่านายกรัฐมนตรีคือรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้าของคณะรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

ข้อสั่งการและนโยบายต่าง ๆ ที่มอบหมายโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้วนกระทำในตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี เอกสารราชการทุกฉบับที่ลงนามโดยนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ จนถึงปัจจุบัน ล้วนลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปของประชาชนทุกภาคส่วนจึงรับรู้ตรงกันว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ บัญญัติลักษณะต้องห้ามไว้ชัดแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ซึ่งประชาชนทุกภาคส่วนรับรู้กันทั่วไป จึงมีความจำเป็นต้องตีความและใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญให้ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปของประชาชนทุกภาคส่วน และเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ 

ข้อ 7. สรุป 

ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทั้ง ๖ ข้อดังกล่าวมีเหตุผลสอดคล้องต้องกันว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามประกาศพระบรมราชโองการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเริ่มต้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันรวมกันแล้วเกิน ๘ ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามสำคัญที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และ มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ บัญญัติห้ามไว้อย่างชัดแจ้ง อีกทั้งบทเฉพาะกาลตามมาตรา ๒๖๔ วรรคสอง ที่บัญญัติข้อยกเว้นการมีลักษณะต้องห้ามสำหรับกรณีต้องพ้นจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไว้โดยละเอียด ซึ่งยกเว้น มาตรา ๑๗๐ (๕) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา ๑๘๔ (๑) ไว้ด้วย แต่ไม่บัญญัติยกเว้นกรณี ตามมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ไว้อย่างตั้งใจ จึงต้องนำลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ มาบังคับใช้กับกรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกันแล้วเกิน ๘ ปีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย

ข้ออ้างทำนองว่า ต้องไปเริ่มนับความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีจากวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ แทน เพราะเป็นวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้ หรือต้องไปเริ่มนับวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ เพราะเป็นวันที่มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งที่ ๒ นั้น นอกจากจะขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและไม่ต้องการเอื้อโอกาสให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปแล้ว ยังเป็นการตีความที่ขัดกับประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามประกาศลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ และขัดแย้งกับบทบัญญัติที่ชัดแจ้งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๗๐ วรรคสอง มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ และมาตรา ๒๖๔ อีกทั้งยังขัดแย้งกับบรรทัดฐานของคำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๖๑ และคำวินิจฉัยที่ ๗/๒๕๖๒ ที่วินิจฉัยเรื่องเดียวกันไว้ด้วย ที่สำคัญพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เกิน 8 ปี

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การนับวันเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ผิดไปจากข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะอ้างเป็นวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ หรือวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ก็ตาม ย่อมขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปของประชาชนทุกภาคส่วนที่รับรู้ตรงกันว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มต้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ และเริ่มเข้าบริหารราชการแผ่นดินและปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ข้ออ้างที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปของประชาชนทุกภาคส่วนเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ และย่อมส่งผลเสียต่อทั้งประโยชน์สาธารณะของประเทศชาติและต่อศาลรัฐธรรมนูญเอง รวมทั้งยังจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ด้วยเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังได้กราบเรียนมาข้างต้น และเพื่อธํารงรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตลอดจนความชอบด้วยกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอความกรุณาให้ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรได้โปรดส่งคำร้องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่ง ดังนี้

๑. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ตามมาตรา 7 (9) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตามมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

๒. เนื่องจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน หากให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปทั้งที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายย่อมส่งผลกระทบต่อความชอบด้วยกฎหมายของบรรดาคำสั่งและข้อสั่งการต่างๆ ที่สั่งการในนามของนายกรัฐมนตรี รวมถึงความชอบด้วยกฎหมายของการก่อนิติสัมพันธ์ต่างๆ ในนามของรัฐบาล และการลงนามในพันธกรณีระหว่างประเทศที่อาจจะมีขึ้น ดังนั้น จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามมาตรา 82 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ

สาวกเพื่อไทย ยื่นศาลรธน.สอบ 'ธนพร' ละเมิดอำนาจศาล

ที่บริเวณ​หน้าศาลรัฐธรรมนูญ​ นายนิยม นพรัตน์ หรือเค สามถุยส์ และนายทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร เดินทางมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นหนังสือร้อง นายธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์

'ชูศักดิ์' เผย 'เพื่อไทย' ได้รับความเป็นธรรม ศาลรธน. ไม่รับคำร้องปมล้มล้างการปกครอง

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายอิสระ ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย(พท.) ยุติการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองจะผูกพันไปยังกรณีที่มีการยื่นคำร้องเดียว

'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง

จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ

'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ