เปิดคำวินิจฉัย ตุลาการศาลรธน.หนึ่งเดียว ชี้ 'พรก.ฉุกเฉิน' ขัดต่อรัฐธรรมนูญ


17 ส.ค.2565 - สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตน ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัย 6/2565 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่มีมติเสียงข้างมากว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2)และมาตรา 11 (6) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

ทั้งนี้ความเห็นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 ราย พบว่ามี 8 รายมีความเห็นว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2)และมาตรา 11 (6) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ , นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ , นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ , นายปัญญา อุดชาชน , นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม , นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ และ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1 ราย คือ นายนภดล เทพพิทักษ์ วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2)และมาตรา 11 (6) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

โดยคำวินิจฉัยของ นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีรายละเอียดดังนี้

ประเด็นวินิจฉัย

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) และมาตรา 11 (6) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ หรือไม่

ความเห็น

เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ได้กำหนดเงื่อนไขที่จะตรากฎหมายจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพไว้ให้ชัดเจน กล่าวคือ ถ้าเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญจะกำหนดได้แต่เฉพาะตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แตในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้โดยเฉพาะ มาตรานี้ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ 4 ประการ คือ(1) ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม (2) ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ (3) จะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ และ (4) ต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

เมื่อพิจารณาจากหนังสือส่งคำโต้แย้งและเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า ในส่วนที่โต้แย้งว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 และมาตรา 11ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 นั้น

เห็นว่า มาตรา 3 เป็นบทบัญญัติทั่วไปโดยมิได้มีข้อความที่เป็นการคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพไว้เป็นการเฉพาะ ประกอบกับหลักการตรากฎหมายต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรมมีการบัญญัติไว้แล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่จำต้องวินิจฉัย

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการบริหารสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน จนอาจกระทบต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต รวมทั้งการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยพิบัติสาธารณะ และการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย รัฐจึงมีความจำเป็นต้องให้อำนาจฝ่ายบริหารเพิ่มขึ้นบางประการ เพื่อให้เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาในแต่ละสถานการณ์ และมีความเป็นอิสระ อันมีลักษณะแตกต่างไปจากการใช้อำนาจบริหารราชการในสถานการณ์ปกติ ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวยุติไปโดยเร็วและประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข กรณีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้

ประเด็นที่ 1. พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่

การที่ผู้ขอให้ส่งคำโต้แย้งให้เหตุผลสรุปได้ว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) บัญญัติให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยเป็นบทบัญญัติที่ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอันเป็นเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองหรือคุ้มครองไว้นั้นขัดต่อหลักความพอสมควรแก่เหตุ ขัดต่อหลักนิติธรรม จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้วจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันในสาระสำคัญได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง บัญญัติรับรองเสรีภาพในการชุมนุมของบุคคลไว้ว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ " และวรคสองบัญญัติเงื่อนไขในการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวไว้ว่า "การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทสอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก"

แต่เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปรากฏว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามมาตรา 44 วรรคสอง นั้น บัญญัติว่า "การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น"

จากบทบัญญัติที่แตกต่างกันระหว่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนี้ เห็นได้ว่า หลักเกณฑ์การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันมีข้อจำกัดที่แคบกว่าและมีข้อยกเว้นที่น้อยกว่า ประการสำคัญคือไม่มีข้อยกเว้นให้จำกัดเสรีภาพในการชุมนุม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึกเช่นที่เคยมีในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 โดยหลักแห่งการหยั่งทราบเจตนารมณ์ของกฎหมายวิธีหนึ่งมีว่า ในกรณีที่กฎหมายใหม่นั้นยกเลิกข้อความใดในกฎหมายฉบับเดิม ย่อมหมายถึงว่ากฎหมายใหม่นั้นประสงค์อย่างชัดแจ้งที่จะยกเลิกหลักการดังกล่าวของกฎหมายฉบับเดิมนั้น เช่นนี้อาจพิจารณาได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเจตนารมณ์ที่จะมิให้มีการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเพียงเฉพาะในเหตุเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกอีกต่อไป ซึ่งในรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 วรรคสองนี้ กำหนดเงื่อนไขการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และต้องมีเหตุผลเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย

เมื่อพิจารณาพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้ ... (2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย..." นั้น คงต้องพิจารณาว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 วรรคสอง หรือไม่ เห็นได้ว่า การที่มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ซึ่งเนื้อหาของบทบัญญัติดังกล่าวไม่ชัดเจนว่าจะต้องเป็นการชุมนุมหรือมั่วสุมอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่อย่างไร จึงอาจนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่มีผลเป็นการห้ามมิให้มีการชุมนุมในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่มีขอบเขตหรือเงื่อนไข เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารโดยปราศจากหลักประกันการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 วรรคสองบทบัญญัติมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) ดังกล่าว เป็นกฎหมายที่มีผลเป็นการลิดรอนและจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 44 วรรคสอง จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

ประเด็นที่ 2 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 11 (6) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ หรือไม่

การที่ผู้ขอให้ส่งคำโต้แย้งให้เหตุผลสรุปได้ว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 11 (6) เป็นบทบัญญัติซึ่งให้อำนาจฝ่ายบริหารในกรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงไว้ โดยกำหนดให้อำนาจฝ่ายบริหารอย่างกว้างขวางที่จะมีอำนาจในการประกาศห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือกระทำการใด เท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะได้เป็นถ้อยคำทางกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารซึ่งมิใช่วิถีทางที่น้อยที่สุด เนื่องจากฝ่ายบริหารสามารถสั่งให้กระทำการใดก็ได้ทุกอย่างในบางกรณีอาจเป็นการลิดรอนเสรีภาพส่วนบุคคลหรือในบางกรณีอาจก่อให้เกิดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือสิทธิมนุษยชน ขัดต่อหลักความพอสมควรแก่เหตุและขัดต่อหลักนิติธรรม เนื่องจากเนื้อหาของบทบัญญัติมาตรา 11 (6) มีลักษณะที่ก่อให้เกิดการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขตเนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีความคลุมเครือ อาจก่อให้เกิดการบิดเบือนการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหารโดยปราศจากเหตุผลโดยรัฐ ขัดต่อหลักการจำกัดอำนาจรัฐอันเป็นสาระสำคัญของหลักนิติธรรม จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

เห็นว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 11วางหลักเกณฑ์กรณีที่นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีลักษณะตามมาตราดังกล่าวนี้เป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง โดยให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเพิ่มเติมนอกจากอำนาจตามมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 10 โดยมาตรา 11 วรรคสอง (6)บัญญัติให้อำนาจนายกรัฐมนตรี "ประกาศห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน" การกำหนดว่าการกระทำใดจะถือเป็นความผิดและมีโทษทางอาญาตามมาตรา 11 วรรคสอง (6) นั้นเป็นการใช้ถ้อยคำที่กว้างขวางเกินไปและไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าการกระทำใดที่กฎหมายห้ามว้ หากฝ่าฝืนจะถือเป็นความผิด และการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวจะต้องถูกลงโทษสถานใดโดยมีอัตราโทษหนักเบาตามพฤติกรณ์แห่งกรณีอย่างไร เนื่องจากการห้ามมิให้กระทำการหรือสั่งให้กระทำการนั้นสามารถสั่งการได้ทุกเรื่อง

แม้จะมีกรอบว่าต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน ก็เป็นเรื่องอัตวิสัยที่ผู้ออกคำสั่งจะอ้างว่าคำสั่งของตนเป็นไปโดย "จำเป็น" เพื่อการนั้นแล้วก็ได้ โดยไม่อาจทราบได้ล่วงหน้าว่าการห้ามกระทำการหรือให้กระทำการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพใดตามรัฐธรรมนูญที่มีข้อยกเว้นให้กระทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกันสำหรับสิทธิหรือเสรีภาพแต่ละประเภท และการฝ่าฝืนประกาศที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 11 วรรคสอง (9) ที่ไม่มีความชัดเจนดังกล่าวก็มีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นความผิดอาญาที่มีอัตราโทษสูงเกินกว่าระดับความผิดที่อยู่ในอำนาจขององค์กรของรัฐฝ่ายปกครองเช่นพนักงานสอบสวนที่จะเปรียบเทียบปรับเพื่อให้คดีอาญาเลิกกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 กรณีเช่นนี้ผู้ที่ฝ่าฝืนประกาศที่กำหนดโดยนายกรัฐมนตรีซึ่งในบางเรื่องบางกรณีอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงพอที่จะถูกดำเนินคดีในศาลเช่นเดียวกันกับผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอาญาอื่นๆ ที่ตราขึ้นโดยพระราชบัญญัติ บทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้จึงเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายบริหารสามารถประกาศกำหนดลักษณะการกระทำความผิดอาญาที่มีอัตราโทษเกินกว่าระดับที่ฝ่ายปกครองจะชำระคดีเองได้

อีกทั้งยังเป็นบทบัญญัติที่ใช้ถ้อยคำคลุมเครือที่อาจเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีออกประกาศกำหนดให้การกระทำใดหรือการงดเว้นการกระทำใดเป็นความผิดอาญาที่มีโทษร้ายแรงได้โดยไม่ต้องตราเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 11 วรรคสอง (6) เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัดต่อหลักความพอสมควรแก่เหตุและขัดต่อหลักนิติธรรม จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

อย่างไรก็ตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 11 วรรคสอง (6) เป็นบทบัญญัติที่ไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะให้วิญญูชนเข้าใจได้ว่า การห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่อย่างไร การห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชนเป็นเช่นไร ซึ่งเป็นถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือ โดยนายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1)ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป และได้ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมอีกหลายฉบับ

นอกจากนี้ยังได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และได้ประกาศขยายระยะเวลาออกไปอยู่เรื่อย ๆ เป็นคราว ๆ ไป จนปัจจุบันเป็นคราวที่ 18 โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 และการฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 และมาตรา 11 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 18 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งถือได้ว่าเป็นอัตราโทษที่สูงการบังคับใช้กฎหมายนี้ได้บังคับใช้มาเป็นระยะเวลานาน อันเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๔ เป็นเหตุให้ผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมถูกจับกุมคุมขังและถูกดำเนินคดีอยู่ในศาลจำนวนหนึ่ง กฎหมายที่ไม่มีความซัดเจนและมีการบังคับใช้มายาวนานเช่นนี้ก็ควรที่จะเสนอต่อรัฐสภาอันเป็นระบบดุลคานอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติปรับปรุงกฎหมายให้มีความชัดเจน ต่อไป

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 11 วรรคสอง (6) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26

อ่านต้นฉบับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อึ้ง!ปดิพัทธ์บอกยุบ 'ก้าวไกล' แสดงว่าไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยส่งผลสภานานาชาติ

'ปดิพัทธ์' ยอมรับมีชื่อเป็น กก.บห.ก้าวไกล เสี่ยงพ้น สส. หากพรรคถูกยุบจริง แต่เชื่อมั่นว่าการสู้คดีมีน้ำหนัก ไม่เสียดายตำแหน่งรองประธานสภา ชี้งานที่หาเสียงไว้ทำได้หมดแล้ว

เลขาฯกกต. โต้ก้าวไกล ปมยื่นยุบพรรค

นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต และนายทะเบียนพรรคการเมือง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงอำนาจ และการปฏิบัติหน้าที่ของกกต. เลขาฯกกต.และนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อกรณีการยื่นยุบพรรคการเมือง

'ชัยธวัช' ลั่นทุกคนในพรรคนิ่ง ถ้ายุบจริงเราตกผลึกหมดแล้ว ไม่ต้องเตรียมตัวอะไร

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยไม่มีการไต่สวน

'รังสิมันต์' รับสภาพคงสู้คดียุบพรรคยากขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญขีดเส้นตาย

'โรม' รับคงสู้คดียากขึ้น หลังศาล รธน.นัดชี้ขาดยุบก้าวไกล 7 ส.ค.นี้ ย้ำความสำคัญอยู่ที่กระบวนการ ยกพยานปากสำคัญควรได้ขึ้นไต่สวน ยันพรรคไม่ได้ล้มล้างการปกครอง

ระทึก 'ก้าวไกล-กกต.' ส่งตัวแทนตรวจพยานหลักฐานคดียุบพรรค 'ชัยธวัช' มั่นใจ!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญนัดตรวจพยานหลักฐานของคู่กรณีในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าว