14 ส.ค.2565-นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญ : ผู้ชี้ชะตาอนาคตประเทศ” ระบุว่า ต้องขอโทษทุกๆ ท่านที่ติดตามและทวงถามอยากฟังเรื่องการทำงานของผม ที่ผ่านมา มีทั้งงานและภารกิจที่ได้รับมอบหมายมากจริงๆ แถมมีภารกิจเพื่อชาติที่สำคัญคือ การทำพรรคการเมืองใหม่ให้พี่น้องประชาชน คือ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ทำให้ไม่มีเวลาเล่าเรื่องการทำงานที่เป็นประโยชน์ให้ฟัง เพราะผมเขียนเองทุกเรื่อง ไม่เคยใช้แอดมินหรือตัวแสดงแทน
ความจริงอยากเล่าให้ฟังทุกเรื่องพร้อมๆ กันตามคำเรียกร้อง แต่ถ้าเขียนทุกเรื่องพร้อมกันคงต้องอ่านกันเป็นสัปดาห์กว่าจะจบ ทั้งเรื่องความคืบหน้าคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ซึ่งผมและทีมงาน โดยเฉพาะ “ยิ้ม” ยังไม่หายไปไหนนะครับ รวมทั้งเรื่องการช่วยแก้ไขความเดือดร้อนและความทุกข์ของชาวบ้านในฐานะที่ผมเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่สามารถช่วยแก้ทุกข์ของชาวบ้านไปได้เป็นจำนวนมากในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา และเรื่องความเป็นมาของ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่ได้รับการตอบรับดีเกินคาดอยู่ในขณะนี้
แต่เรื่องที่สอบถามความเห็นผมมาอย่างมาก เป็นเรื่องที่ทั้งผมและประชาชนเบื่อหน่ายมากที่สุด คือ เรื่องเกมการเมืองไร้สาระ เรื่องวาระ 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี และเรื่องหาร 100 หาร 500 ประชาชนจะเป็นจะตายกับภาวะการทำมาหากิน กับการดำรงชีวิต การไม่ได้รับความเป็นธรรม การถูกรังแก แต่ไม่มีนักการเมืองในสภาคนไหนสนใจเสนอกฎหมาย แก้ไขกฎหมาย ถกเถียงหาทางออกให้ประชาชนแบบจะเป็นจะตายกันเหมือนเรื่องวาระ 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี และ เรื่องหาร 100 หาร 500 เลย
ประชาชนเคยให้ความหวังกับการเลือกตั้งปี 2562 สุดท้ายทั้งพรรคหลักพรรครองแปรสภาพเป็นนักกีฬามาเล่นเกม หัวหน้าทีมก็มีความสุขกับการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตัวเองและการยกยอปอปั้นจากบรรดาคนรอบข้าง คิดว่าการเมืองมีเพียงแค่ “เงิน” กับ “อำนาจ” แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือการใช้บ้านเมืองเป็นสนามเล่นเกม โดยมีประชาชนเป็นผู้รับเคราะห์ เรื่องเหล่านี้กำลังกินลึกเข้าไปในหัวใจของประชาชน ผมเชื่อว่าเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนจะร่วมกันให้บทเรียนสั่งสอนครั้งใหญ่ครับ
สำหรับผม เรื่องนี้เป็นเพราะความไม่ชัดเจนของการเขียนรัฐธรรมนูญ สุดท้ายจะต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ เกมวาระ 8 ปีนายกฯ ตามหลักกฎหมายแล้ว เรื่องวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรีมีหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่แต่เพียงว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่” ปัญหาคือผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นนับหนึ่งของแปดปีไว้ว่าให้เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่เมื่อใด ต่างจากกรณี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่าให้เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่ “วันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี”
จึงเป็นเหยื่ออันโอชะสำหรับนักเล่นเกมที่จะตีความมาตรา 158 วรรคสี่ให้เป็นไปอย่างที่ตนคิดเพื่อประโยชน์ของตนเองไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของประชาชน จะครบ 8 ปีตอนไหน ใครจะมาเป็นนายกฯ ไม่มีประโยชน์อะไรกับบ้านเมืองและประชาชนเลย หากการเมืองเต็มไปด้วยนักเล่นเกมเช่นในปัจจุบัน
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายเหมือนกฎหมายและพระราชบัญญัติอื่นๆ เพียงแต่รัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงต้องตีความตามหลักการตีความกฎหมายและต้องตีความโดยเคร่งครัด นั่นคือ ต้องตีความตามตัวอักษรเป็นอันดับแรก แต่หากตัวอักษรที่เขียนไว้ไม่มีความชัดเจนอีก ก็ต้องตีความตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างเป็นอันดับต่อไป นั่นคือ เหตุผลของผู้ร่างตัวบทกฎหมายนั้นขึ้นมา ถ้าหาเหตุผลเจตนารมณ์ของผู้ร่างไม่ได้ ก็ต้องตีความตามขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งปกติไม่น่าจะเกิดขึ้นเพราะการจะยกร่างกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญและเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจะเขียนขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไปและไม่มีเหตุผลมาก่อนคงเป็นไปไม่ได้
สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ มีหนังสือคู่มืออธิบายเหตุผลและเจตนารมณ์ของแต่ละมาตราไว้ แต่พอมาถึงเรื่อง 8 ปี ในมาตรา 158 กลับเขียนอธิบายไว้แบบเดียวกับเนื้อความในมาตรา 158 โดยไม่ได้บอกว่านับหนึ่งจากไหนและเมื่อใด เลยไม่รู้ว่าจะเขียนขึ้นมาทำไมให้ยุ่งเล่น ล่าสุดมีการเปิด “บันทึกการประชุม” ที่มีการบันทึกการสนทนาของผู้ร่างเกี่ยวกับการนับหนึ่งของระยะเวลา 8 ปีไว้ แต่กลับได้รับการปฏิเสธจากผู้ร่างว่า ที่บันทึกไว้นั้นไม่ใช่เจตนารมณ์ เป็นเพียงการพูดกันเฉยๆ หลายคนถามผมว่าแล้วจะพูดกันไปทำไมถ้าไม่มีเหตุผลที่มาที่ไป ผมคงตอบไม่ได้เพราะผมไม่ใช่ผู้ร่าง ที่แน่ๆ คือ ยิ่งเพิ่มความสับสนและความงงให้กับสังคม และเป็นเหยื่ออันโอชะสำหรับนักเล่นเกมฝ่ายไม่เอานายกฯ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปว่า 8 ปี จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่นายกฯ เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 จริงๆ
ตามกฎหมายแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น โดยหลักการแล้วคณะรัฐมนตรีชุด คสช. ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 แล้ว แต่เผอิญมีมาตรา 264 ในบทเฉพาะกาลบัญญัติไว้ว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะเข้ารับหน้าที่ ดังนั้น จึงทำให้คณะรัฐมนตรีชุด คสช. เป็นคณะรัฐมนตรีต่อไป และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปเช่นกัน และตามความหมายของกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 นั้น คณะรัฐมนตรีชุด คสช. เปลี่ยนสภาพมาเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 แล้ว แต่จะเริ่มนับ 8 ปี จากวันที่ 24 สิงหาคม 2557 หรือจากวันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
เรื่อง 8 ปี ตามมาตรา 158 วรรคสี่นี้ ยังเป็นเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนเรื่องที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 วรรคสองว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามหลักเกณฑ์และวิธีการมาตรา 159 นั้น เป็นวิธีการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี เป็นคนละเรื่องกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามมาตรา 158 วรรคสี่ โดยเฉพาะเมื่อมีบทเฉพาะกาล มาตรา 264 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารแผ่นดินอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไป วิธีการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 และมาตรา 159 จึงถูกยกเว้นไม่ใช้กับคณะรัฐมนตรีชุด คสช. ที่เป็นคณะรัฐมนตรีที่บริหารแผ่นดินอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ที่สำคัญรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่ได้เขียนไว้ว่า การนับระยะเวลา 8 ปีของการเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นให้เริ่มนับจากการได้รับเลือกจากรัฐสภาภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือให้นับจากเมื่อใด ทุกคำตอบจึงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
เกมหาร 100 หรือ 500
เรื่องที่สอง คือเรื่องหาร 100 หาร 500 อันสนุกสนานของนักเล่นเกมที่สถานะล่าสุดคิดกันว่า ล้มการประชุมสภาได้แล้วก็จะผ่านฉลุยได้ตามที่วางหมากเกมไว้ ซึ่งในวันที่ 15 สิงหาคมนี้จะมีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณากฎหมายลูกเรื่องนี้ให้เสร็จตามระยะเวลา 180 วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้อีกครั้ง แต่หัวหน้าทีมไม่สน สั่งลูกทีมนักเล่นเกมทั้งหลายแล้วว่าให้ไปลงชื่อแล้วไม่ต้องลงสนาม รอให้กรรมการเป่านกหวีดหมดเวลาตามกติกา
กติกา 180 วันนี้ เขาวางไว้เพื่อให้เร่งทำกฎหมายที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองให้เสร็จเร็วๆ แต่นักเล่นเกมกลับนำมาใช้เป็นเครื่องมือวางหมากเกม เรื่องวุ่นเรื่องนี้จึงเกิดขึ้นเพียงเพราะนักเล่นเกมเกิดเปลี่ยนข้างมายิงประตูตัวเอง ก็เท่านั้น แต่สาเหตุเกิดเพราะอะไรต้องไปถามหัวหน้าทีมผู้คอยสั่งการ แบบนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า “ABUSE OF POWER” แปลเป็นไทยน่าจะเรียกว่า “ใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกต้อง”
เรื่องแบบนี้ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรา 149 ว่า “ผู้ใดเป็น……สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ………………………. เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษ…………….”
มาตรา 149 ประมวลกฎหมายอาญานี้มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันมิให้ ส.ส. ซึ่งก็คือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองจากการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของ ส.ส. ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ. 2502
63 ปีผ่านไป ความเสียหายจากการกระทำของ ส.ส. ที่ปัจจุบันทำตัวเป็นนักเล่นเกมไม่ได้มีเพียงแค่การเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเท่านั้น แต่มันขยายไปถึงการสั่งและการรับคำสั่งรวมทั้งการบงการทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ ส.ส. เหล่านี้กระทำการที่สร้างความเสียหายให้สังคมและบ้านเมืองด้วย จึงน่าจะถึงเวลาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาให้บรรดานักเล่นเกม โดยเฉพาะจอมบงการที่มีการกระทำแบบ “ABUSE OF POWER” หรือการ “ใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกต้อง” แบบนี้ ต้องมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญาด้วยแม้ไม่มีเรื่องของการเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดก็ตาม
.
ย้อนกลับมาเรื่องหาร 100 หาร 500 ที่จะประชุมกันในวันที่ 15 สิงหาคมนี้อีกรอบหนึ่ง ก็น่าจะล่มอีก เท่าที่ทราบมีคำสั่งมาเรียบร้อยแล้วว่าให้บรรดา ส.ส. และ ส.ว. นักเล่นเกมในอาณัติ ไปลงชื่อแล้วให้กลับบ้านได้ เพื่อใช้หลักเกณฑ์ของกฎหมายเป็นเครื่องมือหาประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เป็นการครอบงำการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว. ในอาณัติ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และ ส.ว. ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 114 และเป็นการผิดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างร้ายแรง
นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 132 (1) กำหนดไว้ว่าถ้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลา 180 วัน ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอตามมาตรา 131 ที่กำหนดที่มาไว้สองประการใน (1) และ (2) ซึ่งมาตรา 131 (1) เป็นร่างของคณะรัฐมนตรี ส่วนมาตรา 132 (2) เป็นร่างของ ส.ส. ในขณะที่กรณีที่เป็นปัญหานี้มีทั้งร่างของคณะรัฐมนตรีและร่างของ ส.ส. รวมกันหลายฉบับ คือมีทั้งร่างตามมาตรา 131 (1) และ (2) แล้วร่างไหนจะถือเป็นร่างที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 132 (1)
บางคนบอกว่าให้ไปดูข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 101 ที่กำหนดไว้ว่าให้ถือเอาร่างที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาในวาระที่สองเป็นร่างที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งในกรณีนี้คือร่างของคณะรัฐมนตรี ประเด็นคือข้อบังคับการประชุมรัฐสภา รวมทั้งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาต้องเป็นเรื่องที่กำหนดหลักเกณฑ์เวิธีการประชุมและวิธีการทำงานของแต่ละสภาและของกรรมาธิการของแต่ละสภา มิใช่ให้กำหนดหลักเกณฑ์การตีความรัฐธรรมนูญ
การที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 101 กำหนดให้ถือเอาร่างที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาในวาระที่สองเป็นร่างที่ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีทำงานของที่ประชุมรัฐสภาหรือของกรรมาธิการของรัฐสภา หรือเป็นการตีความรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นอย่างแรกก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นอย่างหลังแล้ว ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 101 มีปัญหาต้องตึความอีกแน่นอน
หลังการประชุมรัฐสภาที่จะล่มอีกครั้งในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ การจะนำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้บังคับต่อไปคงต้องรอศาลรัฐธรรมนูญอีกเรื่องหนึ่งแน่
ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นผู้ชี้ชะตาอนาคตประเทศตัวจริง!!!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดร.ณัฏฐ์-นักกม.มหาชน ชี้ชัด 'ล้มล้างการปกครอง' ต้องมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ
มือกฎหมายมหาชน ชี้ “ล้มล้างการปกครอง” สารตั้งต้นนำไปสู่ยุบพรรคเพื่อไทย ต้องมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพียงพอ กำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ
จองเวรเพิ่ม! ร้อง กกต. สอบ 'นายกฯอิ๊งค์' แทรกแซงสื่อ
'เรืองไกร' ตามไล่บี้ต่อ งัดข่าว-คลิปฉุนสื่อยุแยง ร้อง กกต. สอบ 'นายกฯอิ๊งค์' ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (4) หรือไม่
ลุ้นศาลรับคำร้อง! 'หมอวรงค์' ชี้พฤติการณ์ชั้น 14 มัด 'ทักษิณ-พท.'
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ "ทักษิณจะถือว่าล้มล้างการปกครองหรือไม่?" โดยระบุว่า
'ไทยภักดี' ปลุก ปชช. หนุนเปิดโปง 6 ข้อหาร้ายแรง 'ทักษิณ-พท.'
ดร.กรรญดา ณ หนองคาย หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ถึงเวลาประชาชนลุกขึ้นปกป้องชาติจากภัยคุกคาม: เปิดโปง 6 ข้อกล่าวหาร้ายแรงต่อทักษิณและพรรคเพื่อไทย
'มือกม.เพื่อไทย' ไม่ให้ราคา 'ธีรยุทธ' ข้อหาเกินจริง ซัด 'พปชร.' อยู่เบื้องหลัง
'ชูศักดิ์' ไม่ให้ค่า 'ธีรยุทธ' ฟ้องข้อหาล้มล้างปกครอง ไกลกว่าเหตุไปมาก เนื้อหาคำร้องชี้ชัด พปชร. อยู่เบื้องหลัง พร้อมเป็นหัวหน้าทีมแจงศาล
พท. โต้กลับ! ลุยคุ้ยเส้นทางเงิน 'ธีรยุทธ' บี้ ปปช. สอบ 'บิ๊กป้อม' บินหรูอยู่สบาย
'พร้อมพงศ์' ร้อง ป.ป.ช. สอบ 'บิ๊กป้อม' ปมบินนอกหรูอยู่สบาย โวมีหลักฐานช็อกโลกแน่ จ่อโต้กลับ 'ธีรยุทธ' สอบเส้นทางการเงิน ขู่ 'ไพบูลย์' เตรียมหาพรรคใหม่ ลุยร้องต่ออีก 2 ซีรีส์