ชุมชนดงบัง ต.ดงเมืองแอม อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น เป็นชุมชนต้นแบบที่เอาตัวรอดและปรับแผนการพัฒนาชุมชนรับมือกับทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน มีทั้งการปลูกต้นหม่อนกว่า 400 ไร่ เพื่อนำมาเลี้ยงตัวไหม และนำเส้นไหมส่งขายเป็นวัตถุดิบคุณภาพสำหรับชุมชนทอผ้าทั่วประเทศ ส่วนใบหม่อนนำมาทำชาใบหม่อนเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ จากปลูกพืชเชิงเดี่ยวชาวบ้านดงบังปรับตัวมาทำเกษตรผสมผสานปลูกพืชผักปลอดภัย พืชผักนานาชนิดในสวนส่งตรงถึงโรงพยาบาล โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และร้านกาแฟชิคๆ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนในยามวิกฤตและส่งต่อสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภค
นอกจากผักปลอดสารพิษที่เป็นผลิตภัณฑ์โดดเด่นของชุมชนดงบังแล้ว ชาวบ้านพัฒนาต่อยอดแปรรูปข้าวบรรจุถุงภายใต้แบรนด์ “ข้าวหอมมะลิดงบัง” แล้วยังมีร้านค้าชุมชนพัฒนาเป็นร้านค้าธงฟ้าประชารัฐพลิกโฉมนำระบบการบริหารจัดการร้านรูปแบบใหม่ทันสมัยตอบโจทย์ลูกค้า โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เกิดเม็ดเงินเข้าท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนไม่ให้ซบเซา
เส้นทางสู่ความสำเร็จของชุมชนดงบังวันนี้ กลายเป็นโมเดลให้ชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ศึกษาเรียนรู้แนวทางพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนผ่านการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างมาตรฐานสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนในหลากหลายมิติ ซึ่งชุมชนดีมีรอยยิ้มขอนแก่นภายใต้โครงการพัฒนาชุมชน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ทำงานพัฒนาร่วมกับชุมชนสู่การยกระดับชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นางสาวรังษิยา กันซวง เจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจชุมชนอาวุโส ชุมชนดีมีรอยยิ้มขอนแก่น กล่าวว่า ชาวบ้านดงบังส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ ทำนา ทำไร่ ปลูกผัก ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้า จากการลงพื้นที่วางแผนพัฒนาร่วมกับชุมชน ชาวบ้านทำเกษตรเชิงเดี่ยวปลูกมันสำปะหลังและอ้อย ครัวเรือนประสบปัญหามีภาวะหนี้สินจากต้นทุนทำเกษตรที่สูง ทั้งค่าแรงและค่าปุ๋ยเคมี เดิมชาวบ้านเคยรวมกลุ่มทำเกษตรปลอดภัย แต่ล้มเลิกไปเพราะขาดแคลนน้ำทำเกษตร ซึ่งปี 2562 ชุมชนดีมีรอยยิ้มขอนแก่นร่วมกับชุมชนจัดตั้งกลุ่มปลูกผักปลอดภัยขึ้นมา เพื่อให้ชาวบ้านเห็นด้วยในการลดต้นทุนทำเกษตร ลดค่าใช้ในครัวเรือน นำมาสู่การจัดแบ่งพื้นที่สาธารณะรอบหนองสุ่มปลูกผักปลอดภัยรวม 3 ไร่ จากนั้นพัฒนามาเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสารเคมี อ.เขาสวนกวาง วางแผนปลูก จัดหาแหล่งน้ำทำเกษตรเพิ่มเติม
“เราทำเวทีร่วมกับชาวบ้าน ถ้าไม่แก้ปัญหาเรื่องน้ำจะไปต่อไม่ได้ เดิมชาวบ้านรอน้ำฝนจากฟ้าอย่างเดียว นำมาสู่การประสานดึงภาครัฐสนับสนุนน้ำบาดาลโซล่าเซลล์ ปัจจุบันมีน้ำเพียงพอทำเกษตร นอกจากวางแผนปลูกผัก 16 รายการ ยังจัดระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการพัฒนาตลาด การจัดการออเดอร์ สินค้าส่วนหนึ่งได้มาตรฐานรับรอง GPA ปัจจุบันจำหน่ายให้กับ รพ.ขอนแก่น, โรงเรียน,ร้านอาหาร มีรายได้ 60,000 บาทต่อเดือน ส่วนหน้าหนาวรายได้จะเพิ่มถึงหนึ่งแสนบาทจากการปลูกผักสลัด” นางสาวรังษิยา เผยผลสำเร็จ
จนท.พัฒนาธุรกิจชุมชนอาวุโส กล่าวอีกว่า อนาคตวางแผนจะขยายตลาดค้าปลีกกลุ่มลูกค้าในชุมชนเพื่อสร้างความตระหนักบริโภคพืชผักปลอดภัยเพื่อสุขภาพ รวมถึงหากสมาชิกกลุ่มเพิ่มขึ้น ผลผลิตมากขึ้นจะวางเป้าหมายร่วมกันยกระดับขยายตลาดสู่ห้างค้าปลีกและค้าส่งในพื้นที่ต่อไป รวมถึงจะต้องสร้างโรงคัดแยกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ มีสมาชิกฯ 63 คน จากช่วงเริ่มต้นมี 12 คน มีการขยายผล ขยายเครือข่าย พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นจากกลุ่มปลูกผักปลอดสารตำบลคำม่วง และบ้านห้วยยางศรีวิไล ชาวบ้านเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มเติม เพราะเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ ลดต้นทุนชีวิต
ส่วนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้มากขึ้น เดิมชุมชนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนทอผ้าไหมครบวงจรบ้านดงบัง ม.4 ผลิตสินค้าผ้าทอเป็นลวดลายดั้งเดิมของท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ขายได้เฉพาะในชุมชน ซึ่งใน จ.ขอนแก่น มีชุมชนจำนวนมากทอผ้าไหมขายอยู่แล้ว ชุมชนดีมีรอยยิ้มขอนแก่นช่วยวางแผนพัฒนาชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้านำมาสู่การปรับเปลี่ยนทิศทางสู่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมขาย ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง
“วันนี้เกิดแปลงปลูกหม่อนเลี้ยงไหมรวมพื้นที่กว่า 10 ไร่ ซึ่งชาวบ้านปลูกและใช้ประโยชน์ร่วมกัน บริหารจัดการเป็นระบบ การผลิตเส้นไหมดงบังทำด้วยมือทุกขั้นตอน เกิดเส้นไหมคุณภาพ มีความแข็งแรงมากกว่าเส้นไหมโรงงาน เป็นที่ต้องการของกลุ่มช่างทอ เราช่วยส่งเสริมช่องทางการตลาดของกลุ่ม โดยจัดส่งเส้นไหมเป็นวัตถุดิบให้ชุมชนดีมีรอยยิ้มที่ทำผลิตภัณฑ์ผ้าทอในรูปแบบต่างๆ และโครงการประชารัฐทั่วทุกภูมิภาค เกษตรกรมีรายได้ประมาณ 8,000-10,000 บาทต่อเดือนต่อคน ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มฯ 74 คน ในจำนวนนี้ 24 คน ยึดปลูกหม่อนเป็นอาชีพหลัก” นางสาวรังษิยา กล่าว
นอกจากนี้ เพื่อสร้างศักยภาพของกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้เข้มแข็งขึ้น เหล่าจิตอาสาไทยเบฟกว่า 100 คนร่วมกันสร้างโรงเรือนกลุ่ม มีการวางแผนรอบการผลิต วางแผนการตลาดอย่างเป็นระบบตามวิถีชุมชนที่เข้มแข็ง ส่วนแนวทางการพัฒนาในอนาคตชุมชนดีมีรอยยิ้มขอนแก่นจะร่วมกับชุมชนพัฒนาระบบน้ำในพื้นที่แปลงรวมเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำทำเกษตร ปัจจุบันได้ยื่นขอรับการสนับสนุนโครงการบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์กับหน่วยงานรัฐ หากผ่านการพิจารณา มีน้ำใช้เพียงพอ จะทำให้ชุมชนมีผลผลิตตลอดทั้งปี หนุนการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
ภายในชุมชนมีวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวครบวงจรบ้านดงบัง ชุมชนดีมีรอยยิ้มร่วมแนะนำและพัฒนาต่อยอดแปรรูปข้าวบรรจุถุงภายใต้แบรนด์ “ข้าวหอมมะลิดงบัง” จากเดิมมีโรงสีชุมชนบริการสีข้าวเพียงอย่างเดียว ทุกวันนี้การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิถือเป็นธุรกิจหลัก สร้างรายได้ให้ชุมชน มีการบริหารจัดการต้นทุน กำไร นำมาพัฒนาสาธารณประโยชน์ภายในชุมชน ซ่อมแซมถนน ปรับปรุงวัดโรงเรียน ขั้นตอนต่อไปมีแผนพัฒนาผลิตข้าวกล้องโดยเชื่อมโยงกับชุมชนข้างเคียง ซึ่งจะขับเคลื่อนแผนพัฒนาต่อด้านช่องทางการตลาดของกลุ่ม ส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปข้าวออกบูธหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ชุมชนในวงกว้าง
นอกจากนี้ มีการพัฒนาและปรับปรุงร้านค้าชุมชนให้ทันสมัยร่วมกับชุมชนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จัดระบบการซื้อ-ขายใหม่ นำระบบบาร์โค้ดมาใช้ครั้งแรก ซึ่งจะจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และผลิตภัณฑ์จากกลุ่มต่างๆ มาจำหน่ายในร้าน รายได้จะเข้ากองทุน สมาชิกจะได้รับเงินปันผล คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนตุลาคมนี้
การเติบโตของชุมชนบ้านดงบัง เจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจชุมชนอาวุโส ไทยเบฟ เน้นย้ำว่า เกิดจากความร่วมไม้ร่วมมือของคนในชุมชนอย่างแท้จริง กลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมีโครงสร้างการบริหารจัดการอย่างชัดเจน สมาชิกรู้หน้าที่ของตนเอง ใส่ใจและเต็มที่กับทุกการทำงานเพื่อพัฒนาชุมชน พัฒนามาตรฐานสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน พัฒนาตัวเองตลอดเวลา ส่งผลให้ธุรกิจชุมชนเดินต่อไปได้ สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง
บ้านดงบังถือเป็นโมเดลชุมชนต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านปลูกผักปลอดภัย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้าให้แก่ชุมชนอื่นๆ และตั้งใจสืบสาน ต่อยอด อาชีพเกษตรกรให้อยู่คู่กับชุมชนอีสานและประเทศไทยตลอดไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ซึ้งใจมาหาถึงบ้าน” คาราวาน “ผ้าห่มผืนเขียว” เดินทางข้ามหุบเขา มอบไออุ่นถึงมือพี่น้องชาวพิษณุโลก
หากเอ่ยถึงจังหวัดภาคเหนือนตอนล่าง พิษณุโลกเป็นจังหวัด ที่มีลักษณะเป็นเทือกเขาและที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะตำบลบ่อภาค เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เข้าถึงยาก
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน'ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร นครนายก'
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังเขื่อนขุนด่านปราการชล อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ทรงเปิด “ศูนย์ฝึกอบรมสุดาเดือนเพ็ญและที่พักของมูลนิธิชัยพัฒนา” และงาน “ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร จังหวั
ปธ.หอการค้าขอนแก่น เผยขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องไม่เกิน 10% ลดผลกระทบค่าครองชีพ
นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลมีแนวคิดที่จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
เตรียมปักหมุดสัมผัสลมหนาวใกล้เมืองกรุง ในงาน “ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร จังหวัดนครนายก” 12-15 ธันวาคม นี้
เตรียมปักหมุดเดินทางท่องเที่ยวสัมผัสลมหนาวใกล้เมืองกรุงฯ กันได้ในงาน “ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร จังหวัดนครนายก” ที่จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 12 -15 ธันวาคม นี้ ณ เขื่อนขุนด่านปราการชล
คาราวาน “ผ้าห่มผืนเขียว” ปีที่ 25 เดินทางสู้หนาว มอบรอยยิ้ม และไออุ่นถึงมือพี่น้องชาวหนองคาย
นับเป็นเวลา 25 ปี ที่คาราวาน "ผ้าห่มผืนเขียว" ในโครงการ “ไทยเบฟ..รวมใจต้านภัยหนาว" ได้ออกเดินทางส่งมอบรอยยิ้ม และความอบอุ่นไปยังพี่น้องผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ห่างไกล