นักกม.มหาชน คลี่ปมร้อน '8ปี' ชี้ชัดหลักการ 'ควบคุมการใช้อำนาจ' กับ 'การบริหารราชการแผ่นดิน' คนละกรณีกัน


4 ส.ค.2565 - ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีนับแต่เมื่อใด ว่าก่อนอื่นต้องแยกระหว่างการนับระยะเวลาในเชิงรัฐศาสตร์กับการตีความกฎหมายมหาชน มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะในเชิงรัฐศาสตร์ให้ถือตามระยะเวลาตามความจริง ตรงนี้ไม่มีข้อโต้แย้ง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี เริ่มวันใด สิ้นสุดในวันใด ตรงนี้ประชาชนหรือผู้สนใจทางการเมืองสามารถนับตัวเลขได้ เจตนารมณ์เพื่อมิให้ต้องผูกขาดทางการเมือง

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าส่วนการนับระยะเวลาตามรัฐธรรมนูญ เป็นการควบคุมฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติสามารถใช้ช่องมาตรา 82 วรรคหนึ่งยื่นต่อประธานรัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบสมาชิกภาพได้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แต่ต้องยื่นหลังพ้นวันที่ 24 สิงหาคม 2565 แล้วถึงจะเกิดอำนาจตีความของศาลรัฐธรรมนูญเพราะศาลไม่มีหน้าที่อธิบายกฎหมาย

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่าต้องอธิบายว่า นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ถึงความเสี่ยง การฝ่าฝืนกฎหมาย อ้างเหตุผลมาร้อยแปดพันเก้า แล้วไปโต้แย้งการใช้อำนาจองค์กรจัดการเลือกตั้ง ตรงนี้ท่านไม่เข้าใจในรัฐธรรมนูญ

นักฎหมายผู้นี้ อธิบายว่าการควบคุมฝ่ายบริหารเป็นการใช้อำนาจเรื่องการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพเพราะอำนาจเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับสิทธิเสรีภาพ อำนาจรัฐบาลยิ่งมีมาก สิทธิเสรีภาพประชาชนจะมีน้อย ดังนั้นหากเป็นเรื่องอำนาจ การตีความ เน้นย้ำมุ่งควบคุม ขณะเรื่องของสิทธิเสรีภาพ การตีความมุ่งคุ้มครอง และเพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงต้องให้อำนาจรัฐบาลเท่าที่จำเป็น นั่นคือ จะมีอำนาจต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจเท่านั้น ซึ่งหลักคือ “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ”ตามหลักกฎหมายมหาชน

ทั้งนี้ การกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์หลักตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเพื่อ

1.กําหนดระยะเวลาการทำงานให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการครอบงำหรือแทรกแซงทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์

2.ป้องกันมิให้ผู้ดํารงตําแหน่งหลงอำนาจนำไปสู่เผด็จการทางการเมืองได้

3.ให้เกิดการแข่งขันทางการเมืองอย่างเสรีเน้นนโยบายพรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคล

4.เปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี

5.ให้นายกรัฐมนตรีตระหนักและเห็นความสำคัญของเสียงสนับสนุนที่ทำให้ได้รับการเลือกตั้ง

ดร.ณัฎฐ์ กล่าวว่า หลักทั่วไป ตามบทบัญญัติของกฎหมายต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งกฎหมายเอกชน หากไม่ได้บัญญัติห้ามไว้สามารถกระทำได้ ส่วนกฎหมายมหาชน กลับตรงกันข้าม มีความแตกต่างกัน หากไม่ได้บัญญัติไว้ไม่สามารถกระทำได้

โดยปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 158 วรรคท้าย “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้” ต้องพิจารณามาตราอื่นประกอบเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เช่น คุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ที่มาของนายกรัฐมนตรี และหลักการบริหารราชการแผ่นดินต่อเนื่อง รวมถึงการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด

ทั้งนี้ การใช้อำนาจในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารและนายกรัฐมนตรีนำมานับเวลาต่อเนื่องได้หรือไม่ หากพิจารณาปัญหาความชอบด้วยกฎหมายอำนาจในการควบคุมมาตรา 158 วรรคท้าย คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” โดยช่องทางดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็่นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

ดร.ณัฎฐ์ กล่าวอีกว่า หากเทียบเคียงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาตรา 201 ไม่ได้กําหนดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ เพิ่งจะเกิดขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 171 วรรคท้าย กำหนดนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกินกว่าแปดปีไม่ได้ ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายมาตรา 158 วรรคท้ายกับมาตรา 264 คำว่า “จะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีไม่ได้” กับมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ที่ว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” ในทางกฎหมายมหาชน 2 มาตรานี้ ต้องแยกเจตนารมณ์ต่างกัน

1. การใช้อำนาจในการควบคุมฝ่ายบริหาร

2.การใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน

การใช้อำนาจควบคุมฝ่ายบริหารตามมาตรา 158 วรรคท้าย นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้” ต้องพิจารณาประกอบว่าใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 159 โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ลงมติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่ทั้งหมดมีอยู่ทั้งสองสภา จึงแต่งตั้งให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งให้นับเวลาจุดเริ่มต้นในวันนี้

"ปัญหาว่า ภายหลังรัฐประหาร วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะนำมานับรวมได้หรือไม่ ตรงนี้ ต้องกลับไปดูเจตนารมณ์การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง “เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” เป็นหลักการบริหารราชการแผ่นดินต่อเนื่อง ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาตามหลักนิติรัฐและแบ่งแยกอำนาจย่อมบัญญัติไว้เช่นนี้เพื่อป้องกันสูญญากาศทางการเมือง แม้ไม่ได้บัญญัติข้อยกเว้นในมาตรา 158 วรรคท้าย

แต่ "หลักการควบคุมการใช้อำนาจ” กับ "หลักการบริหารราชการแผ่นดิน” ถือเป็นคนกรณีกัน เพราะการบริหารราชการแผ่นดินจะต้องต่อเนื่องเพื่อมิให้เกิดช่องว่างในสถานะความเป็นรัฐชาติ หากนับการดำรงตำแหน่งและที่มาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 จนถึงปัจจุบันถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 สถานะนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งยังไม่สิ้นสุดไปตามมาตรา 158 วรรคท้าย กรณีดังกล่าว ไม่ใช่อภิหารกฎหมาย หากมีความสงสัยในสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีให้สมาชิกรัฐสภาใช้ช่องทางมาตรา 82 ยื่นตีความปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพิจารณาพอควร" ดร.ณัฐวุฒิ ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ อิ๊งค์ฝากติดตามแถลง 12 ธ.ค.ผลงานรัฐบาล 90 วัน

นายกฯอิ๊งค์ ลั่นรัฐบาล มุ่งสร้างโอกาสจับต้องได้ให้ประชาชน ปากท้องอิ่ม ดึงศักยภาพคนไทย ลั่นปรับสมดุลการค้าสหรัฐ-จีน ย้ำ รบ.อยู่ครบเทอม ฝากติดตามแถลงผลงานรัฐบาล 12 ธ.ค.นี้

เปิดโปรแกรมทัวร์ 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรกที่เมืองเหนือ

เปิดโปรแกรม 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรก จัดที่แม่ริม เชียงใหม่ 29 พ.ย. ก่อนถก 'คลังสัญจร' เชียงราย ฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมพบประชาชน

มองต่างมุม 'ดร.ณัฏฐ์' เชื่อศาลรธน.ตีตกคำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างฯ

สืบเนื่องจากกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร  ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น เพื่อวินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เลิกการก

'ธนกร' ชี้หลัง 22 พ.ย.ประเทศก็ยังเดินหน้าต่อ!

'ธนกร' มองทุกคดีศาล รธน.ยึดตามหลักกฎหมาย เชื่อการเมืองหลัง 22 พ.ย.นี้ประเทศต้องเดินหน้าต่อ ขอทุกฝ่ายอย่าคาดเดาจนอาจก้าวล่วงอำนาจ ฝากรัฐบาลเร่งทำผลงาน