'พระราชินี' ทรงเปิดงานวันสตรีไทย ชวนรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ 'แม่ของแผ่นดิน'


พระราชินีทรงเปิดงานวันสตรีไทย พระราชทานพระราชดำรัส ‘สมเด็จพระพันปีหลวง’ ทรงเป็นแบบอย่างอันประเสริฐและแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ให้สตรีไทยตระหนักศักยภาพของตนและพัฒนาชาติบ้านเมือง ทรงชวนรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ’แม่ของแผ่นดิน’

1 ส.ค.2565 เวลา 16.07 น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเปิดงานวันสตรีไทย ประจำปี 2565 ในชื่องาน “พระบารมีส่องหล้า ต่อยอดการพัฒนาสตรีไทย” จัดโดยสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรสมาชิก และภาคีเครือข่าย โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันสตรีไทย ประจำปี 2565, นางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ, นางพาสินี ลิ่มอติบูลย์ ประธานกรรมการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด, นางนราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี, นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นางพัชรี อาระยะกุล ปลัด พม. เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ทรู ไอคอน ฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เขตคลองสาน กรุงเทพฯ

ครั้นเสด็จฯ ถึง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับพระราชอาสน์บนเวที ทรงรับทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรฯ และหนังสือวันสตรีไทย ประจำปี 2563-2564 และ 2565 แล้วทรงรับทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก จากนั้น ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันสตรีไทย ประจำปี 2565 กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์การจัดงานวันสตรีไทย พลตรีหญิง คุณหญิงอัสนีย์ เสาวภาพ ประธานคณะกรรมการตัดสินและสรรหาสตรีไทยดีเด่น กราบบังคมทูลเบิกผู้ทำคุณประโยชน์และสตรีไทยดีเด่น ประจำปี 2563-2565 เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเกียรติบัตร จำนวน 341 ราย และนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กราบบังคมทูลเบิกเยาวสตรีไทยดีเด่น เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเกียรติบัตร จำนวน 24 ราย

ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจุดเทียนชนวนจากโคมไฟฟ้าที่เจ้าพนักงานพระราชพิธีถือถวาย ทรงจุดเทียนที่อัญเชิญมาเปิดงานวันสตรีไทย ประจำปี 2565 แล้วประทับพระราชอาสน์ จากนั้น ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันสตรีไทย ประจำปี 2565 กล่าวนำถวายสัตย์ปฏิญาณของสตรีไทย

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมในพิธีเปิดงานวันสตรีไทย ประจำปี 2565 ซึ่งสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูถัมภ์ ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ จัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา ขอแสดงความชื่นชมกับสตรีไทยดีเด่นและเยาวชนสตรีไทยดีเด่นทุกท่าน ที่ได้รับเกียรติและการยกย่องในครั้งนี้

ตั้งแต่ข้าพเจ้าจำความได้ก็ได้เห็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ เคียงข้าง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนและพัฒนาประเทศชาติ ให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ในบรรดาพระราชกรณียกิจนานานัปการนี้ ยังมีงานที่ทรงรับเป็นพระราชภาระอย่างสำคัญนั่นคือ การส่งเสริมให้สตรีไทยในท้องถิ่นต่างๆ สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านเป็นอาชีพเสริม ควบคู่ไปกับอาชีพหลักคือเกษตรกรรม

ทรงเชื่อมั่นว่า คนไทยทุกคนมีศิลปะอยู่ในสายเลือดและจิตวิญญาณของการเป็นช่างฝีมือ ดังที่ได้พระราชทานราชดำรัสไว้ครั้งหนึ่งว่า “ ทรงภูมิใจเสมอมาว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา หรืออาชีพใด อยู่แห่งหนตำบลใดคนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิดขอเพียงแต่ให้ได้มีโอกาสฝึกฝนก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็นเด่นชัด” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สืบสาน รักษา และสร้างสรรค์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ทำให้หาครูและผู้เชี่ยวชาญมาช่วยฝึกอบรม รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาผลงานร่วมกับชาวบ้านในท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จนกลายเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้เพิ่มให้แก่ทุกครัวเรือน

นับเป็นต้นกำเนิดของโครงการศิลปาชีพพิเศษ และมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในปัจจุบัน พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานนั้น ล้วนมีส่วนสำคัญในการยกระดับ คุณภาพชีวิต ฐานะ ความเป็นอยู่ ตลอดจนบทบาทและสถานภาพของสตรีไทยให้สูงขึ้น ทรงเป็นทั้งแบบอย่างอันประเสริฐและแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้สตรีไทยตระหนักถึงศักยภาพของตน และสามารถพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่นำไปใช้สร้างสรรค์ให้แก่ตนเอง แก่ครอบครัว แก่สังคม และแก่ประเทศชาติได้

ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษานี้ ข้าพเจ้าจึงขอเขิญชวนให้สตรีไทยและเยาวชนสตรีไทยทุกคน ตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง และตั้งใจพยายามพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพราะเราทุกคนต่างก็มีศักยภาพที่จะเป็นพลังสร้างสรรค์สังคมไทยและพัฒนาชาติบ้านเมืองด้วยกันทั้งสิ้น และจะเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณได้อย่างดีที่สุด สมกับที่ทรงอุทิศพระองค์ ดั่งพระราชสมัญญา “ แม่ของแผ่นดิน” มาโดยตลอด และจะทรงเป็นแม่ของคนไทยตราบชั่วนิรันดร์กาล ได้เวลาอันสมควรแล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดงานวันสตรีไทย ประจำปี 2565 ณ บัดนี้ ขอให้งานดำเนินลุล่วงไปด้วยดีและขออวยพรให้ทุกท่านมีความสุข สุขภาพแข็งแรง พร้อมทั้งประสบความสำเร็จสมหวังทุกประการ ทั่วกัน

จากนั้น เสด็จลงจากเวที พระราชทานเกียรติบัตรแก่สตรีไทยดีเด่นที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว จำนวน 1 ราย แล้วเสด็จเข้าห้องประทับรับรอง ก่อนเสด็จไปยังบริเวณที่จัดนิทรรศการด้านหน้าสุราลัย ฮอลล์ ทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี แล้วทอดพระเนตรนิทรรศการของสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมงาน ก่อนเสด็จเข้าห้องประทับรับรอง และเสด็จฯ ไปยังรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯ กลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ในหลวง พระราชินี ทรงวางพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เวลา 17.16 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดย รถยนต์พระที่นั่ง ไปทรงวาง

'พระราชินี' ทรงนำทีมวายุ ชนะเลิศแข่งเรือใบ 'ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า' ครั้งที่ 36

สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงร่วมการแข่งขันเรือใบ นานาชาติ ชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 36 ประจำปี 2567 ในนามทีมเรือใบวายุ รุ่น ไออาร์ซี ซีโร (IRC Zero) หมายเลขใบเรือ THA72

'ในหลวง-พระราชินี' เสด็จฯ ไปงานแข่งขันเรือใบ 'ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า'

เมื่อเวลา 07.09 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันเรือใบนานาชาติ