‘บ้านพุน้ำร้อน’ ต้นแบบพัฒนาคน สร้างชุมชนยั่งยืน

เกษตรกรรมเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจของชุมชนที่หล่อเลี้ยงปากท้องชาวบ้าน แต่เกษตรกรไทยยังต้องเป็นหนี้สินจากการทำเกษตร ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะขาดแคลนน้ำ  อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีด้านการเกษตร ฝนไม่ตกตามฤดูกาล รวมถึงขาดแรงงานภาคเกษตร เพราะชาวบ้านหันไปทำงานในเมือง ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ลืมวัฒนธรรมดั้งเดิม เพื่อพลิกฟื้นคืนชีวิตให้ชุมชน 

ซึ่งโครงการพัฒนาชุมชน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง และอยากให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เดินหน้าโครงการชุมชนดีมีรอยยิ้มสุพรรณบุรี ร่วมกับชุมชนบ้านพุน้ำร้อน อ.ด่านช้าง ในจ.สุพรรณบุรี โดยเชื่อมโยงเครือข่ายชาวบ้านตำบลด่านช้างในการขับเคลื่อนงานพัฒนา ชุมชนนี้มีจุดเด่นวัดเป็นศูนย์รวมยึดเหนียวจิตใจ พระครูวิสิฐสุวรรณคุณ จันทร์ลา เจ้าคณะตำบลด่านช้างและเจ้าอาวาสวัดพุน้ำร้อน เป็นพระนักพัฒนา ที่ชาวบ้านเคารพศรัทธา

จากศักยภาพนี้นำมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจรอบชุมชน โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง เจ้าอาวาสวัดพุน้ำร้อนให้หลักคิดงานพัฒนาชุมชน ยึดคนเป็นศูนย์กลาง  ให้ชาวบ้านมีกิน เลี้ยงปากท้อง คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้  วันนี้เกิดแปลงข้าวนารวมบนพื้นที่กว่า 13 ไร่ อยู่ในบริเวณวัดพุน้ำร้อน ซึ่งชาวบ้านลงแรงปลูกข้าวในแปลงนารวมนี้ กินเอง ขายเอง เหลือแบ่งปัน เมื่อชุมชนต้องการยุ้งฉางเก็บพันธุ์ข้าวและเครื่องสีข้าวสำหรับข้าวปลอดสารพิษ จิตอาสาพนักงานไทยเบฟร่วมกันสร้างยุ้งฉางให้กับชุมชน เพื่อเก็บเป็นกองทุนพันธุ์ข้าวสำหรับกลุ่มข้าวนารวมในการทำนาครั้งต่อไป

ภูวิทย์ อุดมดี เจ้าหน้าที่ชำนาญการสนับสนุนโครงการพัฒนาชุมชน เล่าถึงปัญหาในพื้นที่ว่า ชุมชนนี้ดั้งเดิมเป็นชาวลาวครั่ง อพยพมาจากหลวงพระบาง อยู่กับป่าและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่ทำการเกษตร เดิมประสบปัญหาสัมปทานเหมืองหินเมื่อทรัพยากรถูกทำลายอย่างหนัก ชุมชนรวมกลุ่มฟื้นฟูป่าไม้ นำโดยเจ้าอาวาสวัดพุน้ำร้อน ท่านเป็นผู้นำการพัฒนาดึงให้ชุมชนมาทำงานร่วมกัน ตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนฟื้นฟูทรัพยากรหลังสัมปทานเหมืองหินออกไป 

“ ชุมชนต้องการฟื้นฟูป่า เพราะเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตธรรมชาติในพื้นที่ให้ชาวบ้านพึ่งพิง  เลี้ยงปากท้อง ขณะเดียวกันมีการพัฒนาเกษตรทำนารวม สร้างคลังอาหารที่ดีและปลอดภัยภายในชุมชน ชาวบ้านรวบรวมสมาชิกตั้งกลุ่มข้าวนารวมร่วมกันลงแรงทำนาดำ ใช้พันธุ์ข้าวหอมมะลิ ข้าวที่ได้จากนารวม นอกจากแจกให้สมาชิกในกลุ่มกิน ยังหักออกเพื่อแบ่งให้กับผู้ป่วยติดเตียง คนชรา โรงเรียน และใช้ในเทศกาลงานบุญของชุมชนอีกด้วย “ ภูวิทย์ กล่าว 

ในส่วนที่ทางชุมชนดีมีรอยยิ้มสุพรรณบุรีสนับสนุนหลักๆ เมื่อชุมชนต้องการยุ้งฉาง เพื่อเก็บพันธุ์ข้าวและเครื่องสีข้าวสำหรับข้าวปลอดสารพิษ ปี 2562 เหล่าจิตอาสาไทยเบฟร่วมกันสร้างยุ้งฉางเก็บพันธุ์ข้าวดั้งเดิมเป็นกองทุนพันธุ์ข้าวสำหรับกลุ่มนารวม และแจกให้กับเกษตรกรที่ต้องการทำนาปลูกข้าวครั้งต่อไป ปีต่อมา จิตอาสาไทยเบฟวางแผนร่วมสร้างโรงเรือนสีข้าว และมอบเครื่องสีข้าวขนาดมาตรฐานไว้ใช้ในชุมชน ช่วยลดต้นทุนจ้างรถสีข้าวมากกว่า 7.4 หมื่นบาทต่อปี รำจากโรงสีข้าวแบ่งให้กลุ่มเลี้ยงเป็ดไก่  แกลบแบ่งให้กลุ่มทำอิฐ ฟาง แบ่งให้กลุ่มเลี้ยงวัว

ภูวิทย์ กล่าวว่า จากแปลงข้าวนารวม ชาวบ้านเห็นประโยชน์จากการทำนา เก็บข้าวไว้กินในครัวเรือน  เนื่องจากเห็นประโยชน์จากการมีข้าวปลอดภัยไว้รับประทานในครับเรือน ทำให้มีสมาชิกที่สนใจเข้าร่วมกลุ่มแปลงข้าวนารวมมากขึ้น ทุกวันนี้ชาวบ้านมีข้าวพอกินในครัวเรือน  มีความพร้อมที่จะพัฒนาต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวแล้ว เราเข้าไปสนับสนุนส่วนนี้ โดยจะเริ่มทดลองจำหน่ายข้าวหอมมะลิปลอดสารเคมีบ้านพุน้ำร้อนในเดือนสิงหาคม 2565 นี้ กลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวหุบเขาวง และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รักสุขภาพ 

การฟื้นฟูน้ำเป็นอีกหัวใจพัฒนาด้านเกษตร  จิตอาสาไทยเบฟร่วมสร้างธนาคารน้ำใต้ดินตามจุดต่างๆ และไปช่วยกันซ่อมแซมฝายกักเก็บน้ำเพื่อไว้ใช้ในการปลูกผัก ปลูกข้าวในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เนื้อที่ 20 ไร่  ซึ่งในศูนย์แห่งนี้มีผักผลไม้พืชสมุนไพรนานาชนิดลงปลูกในสวน ทั้งผักสลัด กระเพรา  โหระพา ฟักทอง ขิง กระชาย  ฝรั่งกิมจู กล้วยหอม มัลเบอร์รี่ มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวแกง นอกจากนี้ มีโรงเรือนเพาะชำชนิดพันธุ์กล้าไม้ เพื่อแจกจ่ายให้กับคนในชุมชน อีกทั้งมุ่งหวังเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรไร่นาสวนผสมสำหรับผู้สนใจและนักท่องเที่ยวอีกด้วย

นอกจากยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นแล้ว ยังมีการฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิม จัดตั้งกลุ่มวัฒนธรรมในชุมชนรักษาจารีตประเพณีและวัฒนธรรมชุมชนลาวครั่ง โดยเฉพาะศิลปะการทอผ้า ภูวิทย์ เล่าว่า ชุมชนบ้านน้ำพุร้อนได้ฟื้นฟูสืบสานการทอผ้าตีนจกลายโบราณที่สูญหายไปกลับคืนมา นำมาสู่การจัดตั้งกลุ่มผ้าทอตีนจก  รวบรวมองค์ความรู้ผ้าตีนจกลายโบราณ ซึ่งไทยเบฟทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อออกแบบลายผ้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอได้ให้มาตรฐาน ตลอดจนส่งเสริมการแปรรูปสิ่งทอให้มีความหลากหลายเข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน สนับสนุนช่องทางการตลาดของกลุ่ม ส่งเสริมกลุ่มผ้าทอตีนจกออกบูธหน่วยงานเพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ชุมชนในวงกว้าง

เมื่อเจ้าอาวาสวัดพุน้ำร้อนนักพัฒนาเกิดแนวคิดก่อตั้งหอวัฒนธรรมไทย-ลาวครั่ง  มีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมศิลปวัฒนธรรม เครื่องนุ่งห่ม ข้าวของเครื่องใช้ของชาวลาวครั่งในตำบด่านช้าง โครงการพัฒนาชุมชนร่วมสนับสนุนเงินส่วนหนึ่งในการสร้างหอพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์อยู่ระหว่างก่อสร้างและยังระดมทุนเพื่อจัดสร้างอย่างต่อเนื่อง คาดหวังเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมแห่งใหม่ของด่านช้าง  

ท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นอีกมิติที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาร่วมกัน คณะกรรมป่าชุมชนร่วมกับพระครูวิสิฐสุวรรณคุณริเริ่มจัดตั้งกลุ่มท่องเที่ยวนำเสนอท่องเที่ยววิถีชุมชนอ่างเก็บน้ำหุบเขาวง เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน เงินจากการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งนำมาใช้ดูแลคนรักษาป่า และฟื้นฟูป่าน้ำ นำมาสู่กฎกติกาในการท่องเที่ยวชุมชน เกิดการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่ ทุกวันนี้ท่องเที่ยวชุมชนหุบเขาวงเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่รักธรรมชาติและสายแคมป์ปิ้ง ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนคึกคัก 

โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนโดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง ณ ชุมชนบ้านพุน้ำร้อน จ.สุพรรณบุรี ถือเป็นต้นแบบพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนได้อย่างดีเยี่ยม ด้วยศักยภาพของผู้นำชุมชน และมีความร่วมแรงร่วมใจของชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งการสนับสนุนในส่วนไทยเบฟภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายเดียวกันสร้างโอกาส สร้างเศรษฐกิจบนฐานการพึ่งตนเอง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 เปิดรายชื่อครั้งที่ 2 กับสุดยอด 30 ศิลปินชั้นนำจากทั่วโลก

มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

เสียงเตือนของธรรมชาติ คือ สัญญาณที่โลกแสดงออกมา ถึงเวลาที่มนุษยชาติ ต้องเอาใจใส่รักษ์โลก

ปัจจุบัน “โลก” ของเราเต็มไปด้วยวิกฤตการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่ ครั้งแรก และไม่ใช่ครั้งเดียว เพราะแต่ละปีที่ผ่านมาได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งอย่างต่อเนื่อง

ฉากทัศน์สังคมไทย ตีโจทย์ดึง'คนด้อยโอกาส-สูงวัย'สร้างอนาคต

สังคมไทยเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอด การส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในสังคม ประชาชนในชุมชนต่างๆ เข้ามามีบทบาทพัฒนาชุมชนตัวเอง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ตลอดจนการให้โอกาสและสร้างความเข้มแข็งคนยากจน และคนด้อยโอกาส

บ้านมั่นคงคนสุพรรณบุรี บ้านที่มากกว่าคำว่าบ้าน พัฒนาเมืองน่าอยู่ชุมชนเข้มแข็ง

สถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของจังหวัดสุพรรณบุรี ถ้ามาแล้วไม่ควรพลาด!!! นั่นก็คือ "ตลาดสามชุก" นับว่าเป็นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีของกินอร่อย

นายกฯ ชมเปาะ 'วราวุธ' เก่ง ดูแลตัวเองได้ หลังเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณฯขอฝากด้วย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ สักการะพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ (หลวงพ่ออู่ทอง) ที่วัดเขาทำเทียม ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง โดยเมื่อมาถึงนายกฯได้ทักทายชาวบ้าน ซึ่งเป็นชาวไทยทรงดำ -ลาวเวียง -ลาวครั่ง ที่สวมชุดเรือธรรมพื้นถิ่นมาต้อนรับ

นายกฯ ชมสุพรรณบุรีบริหารจัดการน้ำดีที่สุด ตั้งแต่ยุคบรรหารทำไว้เป็นที่ประจักษ์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่พูดคุยประเด็นปัญหาในพื้นที่ โดยทันทีที่นายกฯเดินทางมาถึง นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัด สุพรรณบุรี ได้ร้องเพลงผู้ว่าฯมาหานะเธอ ที่เป็นการนำคำขวัญจังหวัดใส่ในเนื้อร้อง