19 ก.ค.2565 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 170/ 2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ โดยที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้นในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของไทย ทำให้หลายประเทศ รวมทั้งไทยต้องประสบปัญหาที่กระทบต่อต้นทุนราคาพลังงานและวัตถุดิบ ส่งผลต่อการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงานเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญในห่วงโซ่การเกษตรอันส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน
เพื่อให้การบริหารสถานการณ์และการดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว ระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเป็นไปอย่างบูรณาการ ทันต่อสถานการณ์ และสามารถบรรเทาผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกฯ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีองค์ประกอบ และหน้าที่และอำนาจดังนี้ นายกฯ เป็นประธานกรรมการ สำหรับรับรองประธานกรรมการประกอบด้วยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ
ในส่วนกรรมการ ประกอบด้วย รมว.คลัง รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.คมนาคม รมว.มหาดไทย รมว.อุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมถึงนายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐนตรีฝ่ายการเมือง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ผู้แทนสศช.เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และผู้แทนสมช.เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
โดยมีหน้าที่และอำนาจคือ 1.กำหนดแนวทางการบูรณาการ และขับเคลื่อนให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ถือปฏิบัติเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้คลี่คลายลงโดยเร็ว รวมทั้งกำหนดแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด
2.กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทางการบูรณาการ และขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และรายงานผลการดำเนินงานต่อนายกฯ หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.)
3.กลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะ หรือความเห็นในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบของสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจต่อนายกฯ หรือครม.
4.ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงและรายงานข้อมูล หรือผลการดำเนินการ ให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะรวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามคำสั่งนี้
5.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม
6.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกฯ มอบหมาย
ให้สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่ได้แต่งตั้งขึ้น สำหรับการเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 หรือตามระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ โดยระบุว่า เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในส่วนของการเตรียมแผนรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ การกำหนดแนวทางการบูรณาการ และการขับเคลื่อนให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสม รวมทั้งให้การกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2.5 ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ลงวันที่ กรกฎาคม พ.ศ. 2565 นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่ และอำนาจ ดังนี้
1. ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานอนุกรรมการ
2. รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มอบหมาย เป็นรองประธานอนุกรรมการ คนที่ 1
3. รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มอบหมาย เป็นรองประธานอนุกรรมการ คนที่ 2
4. ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ อนุกรรมการ
5. ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อนุกรรมการ
6. ผู้แทนกระทรวงคมนาคม อนุกรรมการ
7. ผู้แทนกระทรวงพลังงาน อนุกรรมการ
8. ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ อนุกรรมการ
9. ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย อนุกรรมการ
10. ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม อนุกรรมการ
11. ผู้แทนสำนักงบประมาณ อนุกรรมการ
12. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อนุกรรมการ
13. ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง อนุกรรมการและเลขานุการ
14. ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
15. ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
16. ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
โดยคณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ติดตาม ตรวจสอบ วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ กลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะ หรือความเห็นในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ เชิญผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงและรายงานข้อมูล หรือผลการดำเนินการ รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของอนุกรรมการ และรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจเป็นระยะ