นักเรียนนอกเสนอเลิก 112 คุ้มครองสิทธิเสรีภาพปชช.-ปกป้องเกียรติยศสถาบันฯ

แฟ้มภาพ

'พริษฐ์-ไอติม' ร่วมลงชื่อ ยกเลิก 112 ยืนยันไม่เพียงแต่ทำให้กฎหมายไทยสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากล คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยังปกป้องเสถียรภาพ-เกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สง่างาม

4 พ.ย.2564 - นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ "ไอติม" อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า ผมไปร่วมลงชื่อ #ยกเลิก112 ซึ่งเป็นข้อเสนอที่อยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

กฎหมายอาญามาตรา 112 มีปัญหาใน 3 มิติที่ส่งผลต่อทั้งประชาธิปไตย-หลักสิทธิมนุษยชน และ ต่อเสถียรภาพ-เกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์

มิติที่ 1 = #ปัญหาในเชิงการบังคับใช้

มาตรา 112 ไม่ได้วางขอบเขตชัดเจนระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต กับการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย

ในเชิงกฎหมาย การวิจารณ์โดยสุจริตไม่น่าจะเข้าข่ายความผิด เพราะมาตรา 112 เขียนถึงแค่ความผิดจากการที่ “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย..” แต่ในทางปฏิบัติ หลายคนที่แม้จะวิจารณ์โดยสุจริต ก็ยังถูกตัดสินว่าผิด

นอกจากนี้ ความคลุมเครือและความไม่แน่นอนในการบังคับใช้ก็ปรากฎให้เห็นมาโดยตลอด เช่น กรณีการแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซี ซึ่งผู้แชร์ (คุณไผ่ ดาวดิน) ถูกตัดสินว่าผิดมาตรา 112 (ทั้งที่ไม่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท) แต่สำนักข่าวก็ไม่ได้โดนข้อหานี้แต่อย่างใด (ซึ่งถูกต้องแล้วที่ไม่โดนข้อหา และยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าเนื้อหาในบทความไม่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท)

การเพิ่มความชัดเจนตรงนี้ ไม่ควรเป็นเรื่องที่แก้ยาก เพราะการเขียนกฎหมายให้แยกแยะอย่างชัดเจน เป็นสิ่งที่มีตัวอย่างอยู่แล้วในกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ในขณะที่กฎหมายอาญามาตรา 329, 330 ระบุไว้ชัดเจนสำหรับการหมิ่นบุคคลธรรมดา ว่าการ ‘วิจารณ์โดยสุจริต’ หรือการกล่าว ‘ความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน’ เป็นข้อยกเว้นที่ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท แต่ข้อยกเว้นเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกเขียนกำกับกรณีการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ทั้งที่จริงแล้วการเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตอาจเป็นประโยชน์ต่อสถาบันเองด้วย

มิติที่ 2 = #ความหนักของโทษ

มาตรา 112 ของไทยกำหนดโทษจำคุกอยู่ที่ 3-15 ปี ซึ่งถือเป็นโทษที่หนักมาก ไม่ว่าจะเทียบกับมิติไหน

ถ้าเทียบกับกฎหมายอื่นๆ ของไทย จะเห็นว่าโทษของมาตรา 112 เทียบเท่ากับการฆ่าคนโดยไม่เจตนา

ถ้าเทียบกับกฎหมายของไทยในอดีตที่มีลักษณะเดียวกัน โทษของมาตรา 112 ในปัจจุบันหนักกว่าโทษในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กำหนดโทษไว้ที่จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ 7 ปี (แล้วแต่ช่วงเวลา) เสียอีก

หรือหากเทียบกับกฎหมายลักษณะเดียวกันของประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 112 ของเราก็มีโทษหนักกว่าหลายประเทศ เช่น สเปน 0-2 ปี, เดนมาร์ก 0-8 เดือน, เนเธอร์แลนด์ 0-4 เดือน ส่วนสหราชอาณาจักร นอร์เวย์ และญี่ปุ่น ไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมายอาญา แต่เป็นกฎหมายแพ่ง จึงไม่มีโทษจำคุก มีแต่การเรียกร้องค่าเสียหาย

มิติที่ 3 = #ใครฟ้องก็ได้

การที่มาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคงทำให้เป็นคดีที่ยอมความไม่ได้ ใครๆ จึงสามารถกล่าวโทษและฟ้องคนอื่นได้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาหลายปัญหาได้

คนบางกลุ่มอาจตัดสินใจฟ้องมาตรา 112 ด้วยเจตนาที่ต้องการปกป้องสถาบันฯ แต่เมื่อจำเลยถูกตัดสินว่าผิด ความคับแค้นใจก็ไปตกอยู่ที่สถาบันฯ ส่งผลให้สถาบันฯ กลายเป็นคู่กรณีโดยอัตโนมัติ แม้ในบางครั้งสถาบันฯ อาจจะไม่รับรู้ก็ตาม

อีกตัวอย่างหนึ่งของปัญหา คือการที่สถาบันฯ ถูกนักการเมืองบางกลุ่มจงใจนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองกลั่นแกล้งฝั่งตรงข้าม หรือการนำสถาบันฯ ไปใช้ปกปิดการทุจริต เช่น การระบุว่าเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ จนทำให้คนไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบ

เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ หลายประเทศจึงมีการระบุ ‘ผู้ฟ้อง’ อย่างชัดเจน อาทิ พระมหากษัตริย์ต้องมีพระราชกระแสรับสั่งหรือยินยอมให้ดำเนินคดีผ่านสำนักราชเลขาธิการ (สหราชอาณาจักร นอร์เวย์) การให้อำนาจนายกรัฐมนตรี (ญี่ปุ่น) หรือกระทรวงยุติธรรม (เดนมาร์ก) เป็นคนฟ้องเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า การยกเลิกมาตรา 112 ไม่ใช่ข้อเสนอของ “ผู้ไม่หวังดี-คิดล้มล้างเปลี่ยนแปลงการปกครอง” และไม่ใช่เรื่องที่น่าหวั่นวิตก - หากไม่มีมาตรา 112 พระมหากษัตริย์ยังคงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป

ในโลกที่ไม่มีมาตรา 112

1. ประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต สามารถทำได้ ไม่มีความผิด (เช่นเดียวกับข้อยกเว้นในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329-330) แต่หากเป็นการหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย ก็ยังเอาผิดได้เช่นเดิม

2. ในการฟ้องร้อง จะต้องได้รับการอนุมัติจากพระมหากษัตริย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้เสียหาย

3. หากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดทำผิดจริง บุคคลนั้นก็ยังได้รับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป (ซึ่งข้อนี้สามารถถกเถียงกันได้ว่าโทษจำคุก 0-2 ปี ฐานหมิ่นประมาท ณ ปัจจุบัน เป็นระยะเวลาที่สูงไปแล้วหรือไม่ ไม่ว่าสำหรับใครก็ตาม)

หากทั้งหมดนี้ยังไม่ทำให้รู้สึกสบายใจ หรือ กังวลว่าการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ยังไม่ครอบคลุม ก็สามารถเพิ่มเติมข้อความต่อจากกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายลักษณะมาตรา 112 ที่อยู่ในหมวดความมั่นคง เช่น ที่ญี่ปุ่น เมื่อกังวลว่าข้อ 2 อาจทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมาดำเนินการฟ้องร้องประชาชนเอง จึงระบุเพิ่มเติมในกฎหมายหมิ่นประมาทไปว่า หากผู้เสียหายคือพระมหากษัตริย์ นายกฯ (ในฐานะผู้นำรัฐบาล) จะเป็นผู้รับผิดชอบการฟ้องร้อง

การเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 จะไม่เพียงแต่ทำให้กฎหมายของไทยสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากล คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และปกป้องเสถียรภาพ-เกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สง่างาม แต่ยังเป็นหนทางที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 20)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'นิพิฏฐ์' จะเสียภาษีให้น้อยที่สุด หวั่นถูกนำไปสร้างความเข้มแข็งให้นักการเมือง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กว่า มีคำกล่าวว่า “หากต้องการรู้ว่าประชาชนเป็นอย่างไรให้เป็นนักการเมือง หากต้อง