'ไทย-สหรัฐฯ' ชื่นมื่น ความสัมพันธ์เดินหน้าไปอีก 190 ปี ข้างหน้า พันธมิตร 'เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม' ป้องกันค้ามนุษย์

ภาพจาก www.thaigov.go.th

นายกฯ หารือ นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน เดินหน้าความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ป้องกันการค้ามนุษย์ ทั้งในกรอบทวิภาคี และพหุภาคี

10 ก.ค.2565 - เมื่อเวลา 14.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายแอนโทนี บลิงเกน (H.E. Mr. Antony J. Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับ พร้อมได้กล่าวฝากความระลึกถึงประธานาธิบดีไบเดน พร้อมขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียน -สหรัฐฯ สมัยพิเศษ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะมีโอกาสได้ต้อนรับในช่วงการประชุมระดับผู้นำเอเปคที่กรุงเทพฯ ปลายปีนี้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ มีพลวัตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นมิตรประเทศที่มีความใกล้ชิด โดยในปีหน้า จะร่วมฉลองครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ และยินดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย-สหรัฐฯ ได้ร่วมลงนามแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการดำเนินการตามเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน

ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวว่า ยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มาพบในวันนี้ แถลงการณ์ที่ได้ลงนามไปในวันนี้ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงความเป็นพันธมิตรสำคัญ และแสดงให้เห็นถึงความแน่นแฟ้นในความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นอย่างดี เชื่อว่าจะเป็นบรรทัดฐานของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ไปอีก 190 ปีข้างหน้า พร้อมย้ำถึงสหรัฐฯให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์กับไทย ชื่นชมบทบาทของนายกรัฐมนตรีและไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปค และเมื่อสหรัฐฯ รับไม้ต่อการเป็นเจ้าภาพในปีถัดไป ก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

นายธนกร กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือ สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศหุ้นส่วนสำคัญของไทย แม้ในช่วงประสบกับสถานการณ์โควิด-19 การค้าระหว่างกันยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยไทย-สหรัฐฯ พร้อมที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

"โดยเฉพาะความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทาน ทั้งสองร่วมยินดีที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน หวังว่าความร่วมมือนี้จะเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและยั่งยืน โดยเฉพาะการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกัน และอุตสาหกรรมที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง" นายธนกร ระบุ

นายธนกร ระบุด้วยว่า ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาพลังงานสะอาด ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านนี้ โดยสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสีเขียวและพลังงานสะอาดจึงหวังที่จะเดินหน้าความร่วมมือในด้านนี้กับไทยให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด และหวังว่า สหรัฐฯ จะได้มีส่วนสนับสนุนไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ทั้งการเสริมสร้างขีดความสามารถ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมสีเขียว

"ความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ โดยสหรัฐฯ ชื่นชมและขอบคุณไทยสำหรับความมุ่งมั่นในการดำเนินการที่ผ่านมาของไทย เพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับให้หมดสิ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยที่ กต. สหรัฐฯ จะประกาศรายงาน TIP Report ประจำปีในเร็ว ๆ นี้ ไทยหวังจะได้รับข่าวดี และรายงานจะสะท้อนพัฒนาการและการดำเนินงานที่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมของไทย" นายธนกร กล่าว

นายธนกร กล่าวว่า ความร่วมมือในอนุภูมิภาคและภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายพร้อมร่วมมือและสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ระหว่างกันในภูมิภาค โดยไทยได้เข้าร่วมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุมของภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบาย BCG ของรัฐบาล นอกจากนี้ ไทยยินดีที่สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 ต่อจากไทย โดยไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านวาระการเป็นเจ้าภาพเป็นไปอย่างราบรื่น และนำไปสู่ผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมแก่ประชาชนในภูมิภาค

"ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นระหว่างประเทศที่เป็นที่สนใจ โดยในส่วนของสถานการณ์ในเมียนมานั้น ประเทศไทยชี้แจงว่าได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามที่เหมาะสมผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งในกรอบทวิภาคี อาเซียน และองค์การระหว่างประเทศ" นายธนกร ระบุ.

เพิ่มเพื่อน