ฝ่ายค้านตาลุก! กางปฏิทินการเมืองร้อน กรกฎา 65-มีนา 66 ยุบสภาหรืออยู่ครบเทอม

ประยุทธ์1 ก.ค.2565 - นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่าเปิดปฏิทินการเมืองร้อน กรกฎา 65-มีนา 66 ยุบสภาหรืออยู่ครบวาระ?

วันนี้เป็นวันแรกของครึ่งปีหลัง 2565

จากวันนี้จนถึงวันที่ 24 มีนาคม 2566 อันเป็นวันที่สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจะครบวาระ 4 ปี เหลือเวลากลม ๆ อยู่อีก 8 เดือน

ภาพรวมของการเมืองไทยในช่วง 8 เดือนนี้ถือว่าร้อนแรงทีเดียว

มาเปิดปฏิทินการเมืองดูกันโดยสังเขป

5-6 กรกฎาคม 2565 - ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้ง และอาจจะต่อเนื่องไปถึงวันต่อไปหากยังไม่เสร็จ

13-17 กรกฎาคม 2565 - วันหยุดยาว

19-22 กรกฎาคม 2565 - อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 11 คนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

24 สิงหาคม 2565 - นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี

24-26 สิงหาคม 2565 - สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วาระ 2 และ 3

29-30 สิงหาคม 2565 - วุฒิสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 (วาระเดียว)

ระหว่างหลังจาก 22 กรกฎาคมถึงไม่เกิน 18 กันยายน 2565 - พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 5 ฉบับ

18 กันยายน 2565 - ปิดสมัยประชุมรัฐสภาที่ 1/2565

1 พฤศจิกายน 2565 - เปิดสมัยประชุมรัฐสภาที่ 2/2565

18-19 พฤศจิกายน 2565 - ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022

28 กุมภาพันธ์ 2566 - ปิดสมัยประชุมรัฐสภาที่ 2/2565

24 มีนาคม 2566 - สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันครบวาระ 4 ปี รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ภายใน 45 วัน

ทั้งหมด เป็นปฏิทินโดยสังเขป

ต้องรอวันกำหนดวาระการประชุมของทั้ง 2 สภา และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้ชัดเจนก่อนนะครับ แต่ที่ชัดเจนคือวันปิดและเปิดสมัยประขุมรัฐสภา วันครบวาระสภาผู้แทนราษฎร

ตามปฏิทินนี้เห็นได้ว่ามีด่านหินอยู่ 3 ด่าน และอีก 1 หลักชัยสำคัญ

ด่านที่ 1 ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ด่านที่ 2 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วาระ 3

ด่านที่ 3 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 หลังจาก 24 สิงหาคม 2565 แล้ว ได้หรือไม่ ถ้าได้ ได้ถึงเมื่อใด

ด่านที่ 1 และ 2 แม้จะไม่หินเกินไปนัก แต่ก็ประมาทไม่ได้

ด่านที่ 3 หินที่สุด และคาดการณ์ได้ยากที่สุด

เพราะด่านนี้ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเชื่อว่าจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านใช้สิทธิกันเข้าชื่อเสนอความเห็นผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาครบ 8 ปีเต็มตามกำหนดรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 264 แล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 หากยังคงดำรงตำแหน่งอยู่หลังจากวันนั้นถือว่าขาดคุณสมบัติ

ความเห็นทางกฎหมายของกรณีนี้ เคยสรุปไว้แล้วว่ามีอย่างน้อย 3 แนวทาง แต่ละแนวทางล้วนมีเหตุผลรับฟังได้

มติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาในแนวทางใดยังยากจะคาดการณ์

ส่วน 1 หลักชัยสำคัญของรัฐบาลคือการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ที่ผู้นำประเทศไม่ได้ไปเยือนเขื่อมสัมพันธ์กันโดยตรง การครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดียิ่งโดยมีการวิเคราะห์กันว่าหากผ่านพ้นงานนี้ไปแล้ว รัฐบาลพร้อมยุบสภาผู้แทนราษฏร

ทั้งนี้ โดยไม่นับร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ที่กำลังพิจารณาอยู่ และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่รอคิวพิจารณา 5-6 มิถุนายน 2565 มีร่างพระราชบัญญัติที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างมีความหมายและนัยสำคัญอยู่ในกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาในช่วงเวลาตั้งแต่หลัง 22 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป อย่างน้อย 6-7 ฉบับ และร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม รอให้พิจารณาอีก 5 ฉบับ

1. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ….

2. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ….

3. ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….

4. ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …

5. ร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชง พ.ศ. …

6. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. … (สมรสเท่าเท่าเทียม) และร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …

7. ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (สุราก้าวหน้า)

ร่างที่ 1 และ 2 เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ พิจารณาโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ขณะนี้รอเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3

ทั้ง 2 ร่างไม่น่าจะมีปัญหา เขื่อว่าผ่านออกมามีผลบังคับใช้ได้แน่ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างใหญ่ที่จะเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นการปฏิรูป

ร่างที่ 3 แม้เป็นร่างร่างพระราชบัญญัติทั่วไป พิจารณา 2 สภาทีละสภาตามปกติ แต่ก็ถือว่าเป็นมิติใหม่ที่มีความก้าวหน้า เป็นวิธีการเพิ่มความปลอดภัยแก่สังคมวิธีหนึ่ง ถือเป็นการปฏิรูปเช่นกัน ขณะนี้กรรมาธิการของวุฒิสภาพิจารณาใกล้เสร็จแล้ว รอนำส่งประธานวุฒิสภาเพื่อบรรจุระเบียบวาระเพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป แต่เนื่องจากคณะกรรมการของวุฒิสภาอาจแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญบางประเด็น หากที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นด้วยกับกรมมาธิการ อาจมีผลให้สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วย และต้องตั้งกรรมาธิการร่วมกันของ 2 สภา

เช่นเดียวกับร่างที่ 4 เพียงแต่ร่างนี้คณะกรรมาธิการของวุฒิสภายังพิจารณาไม่เสร็จ เพิ่งต่อเวลาออกไปอีก 30 วัน

ร่างที่ 5 - 7 เป็นร่างพระราชบัญญัติทั่วไปที่เป็นมิติใหม่เช่นเดียวกัน ขณะนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร หากผ่านสภาผู้แทนราษฎร 3 วาระแล้ว ยังจะต้องผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาอีก 3 วาระด้วย

ร่างที่ 5 สำคัญมาก เพราะขณะนี้การปลดกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 มีผลสมบูรณ์แล้วตั้งแต่เมื่อ 9 มิถุนายน 2565 ยังไม่มีกฎหมายกำกับควบคุมที่ครบถ้วนรอบด้าน ถือเป็นสุญญากาศอยู่ ร่างที่ 5 นี้คือกฎหมายกำกับควบคุมที่สามารถทำให้ครบถ้วนรอบด้านได้ หากมีผลใช้บังคับได้เร็วเท่าใด ก็จะเป็นการอุดช่องสุญญากาศได้เร็วเท่านั้น

ร่างที่ 7 สำคัญมากเช่นกัน เพราะหากทำได้สำเร็จจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระบบเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศ อาจเป็นหนึ่งในทางเยียวยาวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น และที่มีความหมายอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางการเมืองด้วยก็คือร่างพระราชบัญญัตินี้เสนอโดยส.ส.พรรคฝ่ายค้าน พรรครัฐบาลแพ้โหวตในวาระที่ 1 โดยมีพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนโหวตให้ด้วย จึงน่าจับตาการลงมติวาระ 3 ในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งระดับการตอบสนองจากวุฒิสภา

กล่าวโดยสรุป ร่างที่ 3 - 7 ทั้ง 5 ร่างนี้หากมีการยุบสภาก่อนครบวาระ มีโอกาสที่จะมีปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน เพราะโดยเงื่อนเวลาแล้วกระบวนการพิจารณาอาจไม่ทัน มีผลให้ต้องตกไป

โดยเฉพาะกับบางร่างที่อาจยืดเยื้อถึงขั้นต้องตั้งกรรมาธิการร่วมระหว่าง 2 สภา

และคำว่า ‘บางร่าง’ ที่ว่านี้อาจหมายความว่าอย่างน้อยคือ 3 ใน 5 ร่างทีเดียว

ส่วนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 5 ฉบับนั้นได้รับการบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้ว ขอสรุปในชั้นนี้แต่เพียงสั้น ๆ ว่ามีอยู่ 1 ฉบับที่มีความหมายและนัยสำคัญยิ่ง โดยเป็นการเข้าชื่อเสนอของภาคประชาชนกว่า 6 หมื่นคนนำโดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร เสนอให้ตัดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ผ่านหรือไม่ผ่าน มีผลโดยตรงต่อการเมืองไทยในอนาคตอันใกล้หลังการเลือกตั้งทั่วไปไม่ว่าจะโดยเหตุยุบสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรครบวาระแน่นอน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แฉอีโม่ง วิ่งเต้นล้มปมชั้น 14 เตือนหยุดทำเถอะ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ให้จับตาดูวันที่ 15 ม.ค.ที่แพทยสภาขีดเส้นตายให้แพทย์รักษาทักษิณ ชินวัตร ชั้น 14 ส่งรายงานการรักษามาตรวจสอบการเอื้อหนีติดคุก แล้วยังต้องติดตามผลตรวจสอบของ ป.ป.ช.กรณีชั้น

พ่อนายกฯ ลั่นพรรคร่วมรัฐบาลต้องอยู่ด้วยกันจนครบเทอม

นายทักษิณ​ ชิน​วัตร​ อดีต​นายก​รัฐมนตรี​ ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองในปี 2568​ ว่า​ การเมืองคงไม่มีอะไร ยังเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็เหมือนเดิม การที่ไม่เห็นด้วยกับอะไรกันบ้าง ก็เป็น

เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ