21 มิ.ย.2565 - เมื่อเวลา 13.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันที่หลายคนต้องการทราบถึงมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจจากสถานการณ์วิกฤตพลังงาน ซึ่งมีแนวโน้มยืดเยื้ออยู่ในขณะนี้จากสถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรปเราคาดว่าจะส่งผลกระทบหนักหน่วงในหลายมิติ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวตลอด สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่าครึ่งปี100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นทุกวัน บางวันลดลงเล็กน้อย บางประเทศงดการส่งออกโภคภัณฑ์ที่จำเป็น ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของบริโภคขาดแคลน คงเข้าใจคำว่าห่วงโซ่อุปทานมันมีผลผูกพันกันทั้งสิ้น เงินเฟ้อสูงทั่วโลก
โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป สูงกว่าร้อยละ 8 ในรอบหลายสิบปีทำให้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สินค้าราคาแพง และเสี่ยงที่จะฟื้นตัวจากเศรษฐกิจที่ชะงักลงในปัจจุบัน รัฐบาลได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง กังวลใจไม่น้อยกว่าทุกๆท่าน ได้สั่งการให้มีการประชุมหรืออยู่ตลอดเวลา เพื่อศึกษาแนวทางอันเป็นประโยชน์ที่จะสามารถดำเนินการแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อน
นายกฯ กล่าวว่า วันที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนและภาคธุรกิจเร่งด่วน ทั้งมาตรการใหม่และขยายมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้
1.ตรึงราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวี 15.59 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับเอ็นจีวีภายใต้โครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน สำหรับแท็กซี่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.-15 ก.ย.65
2. กำหนดกรอบการขายปลีกแอลพีจี 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.
3.ขยายเวลาให้ส่วนลดราคาแอลพีจี ร้านค้า หาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่เกิน 100 บาทต่อราย/เดือน ต่อไปอีก 3 เดือน ถึงเดือนก.ย.65 ส่วนผู้มีรายได้น้อยซึ่งถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่จะได้รับส่วนลดการซื้อก๊าซหุงต้มจำนวน 100 บาทต่อราย 3 เดือน
4.อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลร้อยละ 50 ในส่วนที่ราคาขายสูงกว่า 35 บาทต่อลิตรเป็นเวลา 3 เดือน ถึงก.ย.65
5.คงค่าราคาตลาดน้ำมันดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร
6.ดึงกำไรจากโรงกลั่นน้ำมัน นำส่งกำไรจากค่าการกลั่นส่วนหนึ่งเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อลดภาระค่าน้ำมันให้กับประชาชนทั้งดีเซลและเบนซินในช่วง 3 เดือน ก.ค.-ก.ย. ไปก่อน อันนี้เป็นการขอความร่วมมือก็ต้องขอขอบคุณบรรดาสถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือต่อเรื่องนี้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางภาษีสำหรับบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในการจัดอบรม สัมมนา จัดนิทรรศการ การจัดแสดงสินค้าในประเทศเพื่อให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยว สนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศ สนับสนุนห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว ส่งเสริมการบริโภคและการจ้างงานเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 15 ก.ค.ถึงสิ้นปี 65 โดยสามารถหักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าเดินทาง และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยเมืองหลักหักได้ 1.5 เท่า เมืองรองได้ 2 เท่า ค่าใช้พื้นที่ออกร้านงานแสดงสินค้าต่างๆหักได้ 2 เท่า
นายกฯ กล่าวว่าส่วนอีกเรื่องที่จำเป็นและยั่งยืนคือขอความร่วมมือกันช่วยประหยัดพลังงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งออกนโยบายที่เหมาะสมตามสมรรถภาพของตนเอง ไม่ว่าจะเรื่องการเปิดไฟ ปิดไฟ อุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้ ลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ ส่งเสริมการใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะ ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น ใช้การประชุมออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งในส่วนของภาครัฐได้กำหนดไปแล้วให้มีการลดใช้พลังงานลงร้อยละ 20 ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดของหน่วยงานด้วย นี่คือแนวทางที่รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
“จากการประเมินสถานการณ์เรื่องนี้คงไม่สิ้นสุดในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งจะให้มีการประชุมร่วมกันหารือในเรื่องการเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ตามสมมติฐาน หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปเป็นระยะเวลาเท่านี้ๆ เราควรจะทำอะไรได้บ้าง ไม่อย่างนั้นเราจะมีปัญหาที่จะพอกพูนไปเรื่อยๆในเรื่องการดูแลการสมทบอะไรต่างๆ และจะมีปัญหาด้านงบประมาณการเงินการคลังต่อไปในอนาคตเราต้องเตรียมแผนความพร้อมไปเรื่อยๆ ทั้งมิติด้านพลังงาน อาหาร ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบทั้งสิ้น เราต้องวางแผนระยะยาว ผมได้แนะแนวทางนี้มาตลอดอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลยืนยันว่าจะพยายามหาทางช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการบนพื้นฐานของวินัยการเงินการคลังที่มีความสมดุล และจะต้องไม่ก่อภาระในอนาคตจนมากเกินไป จึงขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย หลายอย่างเราก็ลดภาษีลงทำให้รายได้เราลดลง ฉะนั้นจำเป็นต้องใช้อย่างคุ้มค่าและประหยัดด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พีระพันธุ์' ไม่รู้เรื่องตั้งคกก.JTC บอกยังไม่ได้รับแจ้ง
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค หรือ JTC เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ร่วมทางทะเล ระหว่างไทยและ
กลุ่ม ปตท. และกลุ่มฯ โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยพลังงานสะอาด และคาดการณ์ราคาน้ำมันในปี 68
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า งานสัมมนา The Annual Petroleum Outlook Forum