'ไอติม' โชว์กึ๋นฉบับก้าวไกล ผ่าตัด 'ประเทศไทย'

3 พ.ค.2565 - นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ 'ไอติม' อดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพ พรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งเปิดตัวเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล เมื่อ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เผยแพร่มุมมองว่าด้วยเรื่อง "อนาคตของประเทศไทย" ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีรายละเอียดว่า "...ผมเชื่อ ว่าทุกท่านรับรู้มาโดยตลอดว่าประเทศเราเดินหลงทางมานานแค่ไหน – เราเป็นแชมป์ภูมิภาค ASEAN หากวัดจากจำนวนรัฐประหาร และ ไม่นานมานี้ เราก็เป็นแชมป์โลก หากวัดจากความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สิน

และผมก็เชื่อ ว่าทุกท่านทราบดีว่าหนทางข้างหน้าจะท้าทายขึ้นกว่าเดิมแค่ไหน – ไม่ว่าจะปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเรื่องสังคมสูงวัย หรือ ปัญหาภาวะโลกรวน

แต่ถึงแม้เราจะกำหนดจุดหมายปลายทางหรือเส้นทางที่ถูกต้อง แม่นยำและสวยหรูแค่ไหน เราก็ไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันได้ หากเราไม่หันมาเปลี่ยนสิ่งที่เรียกว่า “โครงสร้าง” ของประเทศ

ถ้าท่านอยากเห็นภาพว่า “โครงสร้าง” ที่ผมพูดถึงนั้น คืออะไร และกำลังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของประเทศเราแค่ไหน ผมคิดว่าแทบจะทุกปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศเรา สามารถถูกสรุปได้ผ่าน #หนังสือ3เล่ม

#หนังสือเล่มที่1 = รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน เป็นอุปสรรคอย่างไรต่อประชาธิปไตย ผมคงไม่ต้องพูดเยอะ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทุกท่านคงได้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของกลไกทางการเมืองต่างๆที่ถูกออกแบบมาไว้ เพื่อสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ หรือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

แต่รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งผมขอยกมา 3 ตัวอย่าง

1.1. ทุกคนมักจะพูดเสมอว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ การเมืองต้องมี “เสถียรภาพ

แต่ “เสถียรภาพ” ที่ยั่งยืนและถาวร มันต้องไม่ใช่ “ความเงียบ” ที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจรัฐที่สืบทอดมาจากปลายกระบอกปืน มากดขี่และปิดปากประชาชน

เพราะ “เสถียรภาพ” ที่ยั่งยืนและถาวร มันต้องเป็น “สันติภาพ” ที่เกิดขึ้นจากการมีอยู่ของรัฐ ที่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

ถ้าเราอยากให้การเมืองเรามีเสถียรภาพอย่างแท้จริง เราจึงต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ไม่เปิดช่องให้ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน มีอำนาจในการขัดเจตนารมณ์ของประชาชนกว่า 50 ล้านคน / ไม่เปิดช่องให้ศาลหรือสถาบันทางการเมืองใดๆรับรองการทำรัฐประหาร / และไม่เปิดช่องให้นิรโทษกรรมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

1.2. ทุกคนมักจะพูดเสมอว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เราต้องส่งเสริมการแข่งขันและทลายการผูกขาด

แต่ “การแข่งขัน” ในตลาดใดๆก็ตาม - ไม่ว่าจะเป็นคนที่มาแข่งกันขายเหล้า หรือ พรรคที่มาแข่งกันขายนโยบาย - ไม่สามารถนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคหรือประชาชนได้ ตราบใดที่กฎหมายถูกเขียนไว้เพื่อรักษาการผูกขาดในตลาด เพื่อกีดกันผู้เล่นใหม่ และเพื่อ “ล็อกสเปก” ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าใครจะเป็นผู้ชนะ

ถ้าเราอยากได้การแข่งขันในทุกมิติจริงๆ เราต้องเป็นเดือดเป็นร้อน ไม่ใช่แค่กับการผูกขาดทางเศรษฐกิจ อย่างเช่นการปรับโครงสร้างในตลาดเครือข่ายมือถือที่กำลังจะเปลี่ยนจาก 3 เจ้าใหญ่ มาเหลือเพียงแค่ 2 เจ้า แต่เราต้องเป็นเดือดเป็นร้อนการผูกขาดทางเศรษฐกิจ อย่างเช่นกัน รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้สร้างตลาดที่ “ผูกขาด” อำนาจไว้ที่เจ้าเดียว - ใครจะเป็น ส.ว. ก็ถูกแต่งตั้งจากคนกลุ่มเดียว / ใครจะมาเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ ก็ต้องถูกแต่งตั้งโดย ส.ว. กลุ่มนั้น / และคนกลุ่มนี้ ก็สามารถรวมกันขับเคลื่อนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ออกจากตำแหน่งได้ด้วยข้ออ้างที่มีชื่อว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”

1.3. ทุกคนมักจะพูดเสมอว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ประเทศต้องปราศจากการทุจริต

แต่ตั้งแต่คณะรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนด้วยข้ออ้างเรื่องการทุจริต และใช้วิธีการแต่งตั้งคนของตัวเองมาอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ โดยการอ้างว่าพวกเขาเป็น “คนดี” ตามมาตรฐานจริยธรรมส่วนตัว แทนที่จะสร้าง “ระบบที่ดี” ตามมาตรฐานความโปร่งใสสากล เราเห็นว่าดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยกลับลดพรวด 25 ลำดับ ห้อยท้ายอยู่ที่ลำดับ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก

ถ้าเราอยากได้ประเทศที่แก้ปัญหาการทุจริตได้จริง เราจึงต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ไม่ต้องไปโฆษณากับใครว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” แต่สามารถปราบโกงได้จริงโดยการ คุ้มครองสิทธิของประชาชนให้เข้าถึงข้อมูลทุกส่วนของภาครัฐ คุ้มครองสิทธิของผู้แทนประชาชนในการตรวจสอบทุกหน่วยงานภาครัฐ และคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนและข้าราชการที่ออกมาเปิดโปงการทุจริต

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงมีข้อตกหล่นบกพร่อง ทั้งในด้านประชาธิปไตย และในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ

แต่ผ่านมา 3 ปี 21 ร่าง และ 235,979 รายชื่อจากประชาชน รัฐธรรมนูญสารพัดปัญหาฉบับนี้ กลับถูกแก้ไขเรื่องเดียว คือระบบเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งครั้งหน้า มันจึงไม่พอครับ ที่เราจะมาพูดกันแค่ว่าจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่เราต้องนำเสนอ #รัฐธรรมนูญฉบับก้าวไกล ให้ประชาชนได้รับความชัดเจน ว่าถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราต้องการจะแก้อะไรเป็นอะไร เพื่อทั้งนำมาใช้ชั่วคราวแทน รัฐธรรมนูญ 2560 และ เพื่อให้ประชาชน ผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ หยิบไปพิจารณาต่อยอดได้ ในวันที่ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรใหม่ทั้งฉบับ ทุกหมวด ทุกมาตรา

#หนังสือเล่มที่2 = เอกสารงบประมาณประจำปี

ถ้าใครอยากรู้ว่าประเทศเราให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร ให้ลองดูครับ ว่าในแต่ละปี เราลงทุนไปกับอะไรบ้าง

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผมได้ไปบริหาร start-up ที่พัฒนาแอปพลิเคชันด้านการเรียน โดยใช้รูปแบบ subscription model ที่ให้นักเรียนคนไหนก็ตามที่สมัครค่าสมาชิกรายเดือน เดือนละ 100-200 บาท สามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนการสอนทั้งหมดในแอปได้

คำถามหนึ่งที่ผมถามตัวเองอยู่เสมอ คือค่าสมาชิก 100-200 บาทต่อเดือนที่นักเรียนแต่ละคนจ่ายเข้ามานั้น มัน “คุ้มค่า” แล้วหรือยังกับบริการที่พวกเขาได้รับ เพราะเรารู้ดีว่า 100-200 บาทต่อเดือนไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่น้อยเลยสำหรับหลายครอบครัว

แต่ทุกท่านทราบไหมครับ ว่าปัจจุบัน เรากำลังจ่าย “ค่าสมาชิก” ประเทศไทย เฉลี่ยอยู่ที่ ครอบครัวละเกือบ 10,000 บาทต่อเดือน

การจ่ายค่าสมาชิกแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดในตัวมันเอง ตราบใดที่ภาระทางภาษีถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรม แต่คำถามที่สำคัญ คือค่าสมาชิกประเทศไทย ที่เรากำลังจ่ายให้รัฐบาลนั้น ถูกใช้ ถูกลงทุน และ ถูกแปรออกมาเป็นบริการที่เป็นประโยชน์และคุ้มค่าที่สุดสำหรับประชาชนหรือไม่

ณ ตอนนี้ ผมตอบสั้นๆเลยว่า “ยังไม่คุ้มค่า” โดยขอยกตัวอย่าง 3 เหตุผล

2.1. เรายังจัดสรรงบประมาณไม่พอสำหรับ “สวัสดิการ” ของประชาชนที่ไม่ใช่ข้าราชการ

จากเอกสารงบประมาณปีที่แล้ว เราจะเห็นว่างบประมาณสวัสดิการต่อหัวของข้าราชการ สูงกว่า งบประมาณสวัสดิการต่อหัวของประชาชนทั่วไป เกือบ 30 เท่า

เราจึงจำเป็นครับ ที่จะต้องจัดทำ “หมวดสวัสดิการถ้วนหน้า” ในงบประมาณ ที่แยกออกมาชัดเจน ไม่กระจัดกระจายไปอยู่ตามงบของกระทรวงต่างๆ และที่มีงบประมาณเพียงพอต่อการทำให้ทุกครอบครัวทุกอาชีพมีสวัสดิการที่เท่าเทียมกันมากขึ้น

หากเราทำได้ เราจะไม่เพียงแต่ลดความเหลื่อมล้ำที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในสังคม แต่เรายังจะคืนเสรีภาพในการประกอบอาชีพให้กับเด็กจบใหม่ทุกปี ที่ไม่ต้องจำใจไปสอบรับราชการทันทีหลังเรียนจบเพื่อตามหาตวามมั่นคง แต่สามารถกล้าเสี่ยงที่จะประกอบอาชีพที่ตนเองใฝ่ฝันหรือสร้างธุรกิจของตัวเอง จนอาจกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล

ตรงนี้หล่ะครับ คือสิ่งที่ผมเรียกว่า “กำไร 2 เด้ง” ของรัฐสวัสดิการ

เพราะการสร้างรัฐสวัสดิการ ไม่ได้เป็นเพียงการวาง “ตาข่ายรองรับ” ด้านคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น แต่ยังเป็นการ “ลงทุน” เพื่อปลดล็อกศักยภาพของคนและมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอีกด้วย

2.2. เรายังมีรัฐราชการรวมศูนย์ ที่รวบอำนาจและงบประมาณทั้งหมดไว้ที่รัฐบาลส่วนกลาง และล็อกท้องถิ่นไว้ถึง 2 ชั้น

ล็อกชั้นที่ 1 คือการล็อกรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อปี ที่ยังอยู่เพียงแค่ 30% ของรายได้ทั้งประเทศ ต่ำกว่าเป้าหมาย 35% ที่ตั้งไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว

ล็อกชั้นที่ 2 คือการล็อกเงินอุดหนุนจากรัฐบาลบางส่วน ไว้เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “งบฝาก” จากส่วนกลาง ที่ “ฝาก” ให้ท้องถิ่นมีหน้าที่แค่ดำเนินการตามนโยบายที่ส่วนกลางคิด แต่ไม่ให้ท้องถิ่นมีอิสรภาพในการเลือกใช้ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่

เราจึงจำเป็นครับ ที่จะต้องปลดล็อกท้องถิ่น และกระจายทั้งอำนาจและงบประมาณจากรัฐบาลวส่วนกลางไปสู่รัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศ

แทนที่คนในจังหวัดต่างๆ ต้องมารอ “ลุ้น” ว่าโครงการในพื้นที่จะถูกอนุมัติจากส่วนกลางหรือไม่ เราต้องทำให้รัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดมีอำนาจเต็มที่ในการพัฒนาบริการสาธารณะทั้งหมดให้กับคนในพื้นที่

แทนที่คนในจังหวัดต่างๆ ต้องมารอ “ลุ้น” ว่างบของท้องถิ่นจะถูกล็อกไว้เท่าไหร่ เราต้องทำให้รัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละจังหวัด มีอิสรภาพเต็มที่ในการใช้งบตามความต้องการของพื้นที่ และมีอิสรภาพในการหารายได้ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้ง ภาษีรูปแบบใหม่ๆ การกู้เงิน หรือ การออกพันธบัตร

และแทนที่คนในจังหวัดต่างๆ ต้องมารอ “ลุ้น” ว่าผู้ว่าฯของจังหวัดตนเองที่ถูกแต่งตั้งจากส่วนกลาง จะเข้าใจปัญหาและรับผิดชอบต่อความต้องการของคนในพื้นที่แค่ไหน เราต้องการให้ผู้บริหารสูงสุดในทุกจังหวัด มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่โดยตรง

2.3. เรากำลังสูญเสียงบประมาณมหาศาล จากการเลือกคนที่ไม่ตรงกับงาน หรือ เลือกหน่วยงานที่ไม่ตรงกับภารกิจ

ถ้าเราแอบไปดูงบปี 66 ที่กำลังจะออกมาแบบผิวเผิน เราอาจหลงดีใจว่างบกลาโหมในภาพรวมปีนี้ลดลง แต่อย่างที่สำนวนอังกฤษเคยกล่าวไว้ว่า “ปีศาจ หรือ ความเลวร้าย มักอยู่ในรายละเอียด”

เพราะพอเราส่องเข้าไปในรายละเอียด เราค้นพบว่าหากนับเฉพาะงบบุคลากร งบบุคลากรของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 2,400 ล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 14% ของงบบุคลากรทั้งหมด

และพอเราส่องเข้าไปในรายละเอียดเพิ่มเติม ผมมั่นใจว่าเราจะค้นพบเหมือนปีก่อนๆ ว่าบุคลากรในกองทัพหลายคนกำลังถูกใช้ทำงานหลายอย่าง ที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับภารกิจความมั่นคง

ความจริงแล้ว ในยุคปัจจุบันที่ภัยคุกคามต่อความมั่นคงมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เราไม่ควรมองว่ากองทัพคือหน่วยงานที่ต้องผูกขาดหรือแบกรับภารกิจ “ความมั่นคง” ไว้เพียงหน่วยงานเดียวอีกต่อไป

หากเรามองว่าภัยความมั่นคงที่น่ากลัวที่สุดตอนนี้ คือภาวะโลกรวน ที่จะนำไปสู่ทั้งภัยธรรมชาติ การขาดแคลนพลังงาน และโรคระบาด ทำไมเราถึงเลือกใช้งบประมาณไปกับการเกณฑ์ทหารเป็นแสนคนต่อปี แทนที่นำงบไปสร้างแรงจูงใจให้เยาวชน ทำหรือสร้างงานในอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หากเรามองว่าหนึ่งในภัยสังคมที่เร่งด่วนที่สุดตอนนี้ คือภัยคุกคามทางเพศ ทำไมเราถึงเลือกใช้งบประมาณไปกับหน่วยงานที่เหมือนจะหลงออกมาจากยุคสงครามเย็นอย่าง กอ.รมน. แทนที่จะนำงบมาจ้างตำรวจหญิงในทุกสถานี เพื่อรับมือกับคดีล่วงละเมิดทางเพศ

ผมเชื่อนะครับ ว่างบประมาณของประเทศถูกจัดสรรอย่างไร เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ดีที่สุด ว่า รัฐบาลกำลังรับใช้ใคร

ในการเลือกตั้งครั้งหน้า มันจึงไม่พอครับ ที่เราจะมาแค่วิจารณ์ว่ารัฐบาลใช้งบประมาณแบบไม่ตรงจุดอย่างไร หรือ เสนอนโยบายต่างๆโดยไม่อธิบายต่อประชาชนว่าจะเอาเงินมาจากไหน แต่สิ่งที่เราต้องทำคือการนำเสนอ #งบประมาณฉบับก้าวไกล ให้ประชาชนได้รับความชัดเจน ว่าถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราจะมีกระบวนการจัดทำงบประมาณอย่างไร เราจะสร้างประเทศไทยแบบไหน และ เราจะจัดสรรงบอย่างไรเพื่อให้นโยบายที่สัญญาไว้ ทำได้จริง

#หนังสือเล่มที่3 = หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ไม่มีใครบอกหรอกครับว่าปัญหาทั้งหมดเกี่ยวกับการศึกษาไทย มีต้นตอมาจากหนังสือเล่มนี้ และผมเข้าใจว่ามีบางส่วน ที่ถูกปรับปรุงพัฒนาไปบ้างแล้ว – แต่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ ว่านอกจากปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแล้ว ปัญหาของการศึกษาไทยส่วนหนึ่งมาจากการกำหนดหลักสูตรที่ล้าหลัง

เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจอย่างยิ่ง ที่แม้เด็กไทยจะใช้เวลาในห้องเรียนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ระบบกลับไม่สามารถแปรความขยันของเขาให้ออกมาเป็นทักษะที่แข่งขันกับนานาชาติได้

ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดขึ้น จากการที่เราไม่ได้ออกแบบ “อนาคตการศึกษา” บนพื้นฐานของ “การศึกษาอนาคต”

3.1. ถ้าเราศึกษาอนาคต และค้นพบว่าโลกแห่งอนาคต คือโลกที่เทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนงานในหลายสาขาอาชีพ

เราก็ต้องออกแบบการศึกษาที่ไม่เน้นอัดฉีดความรู้ แต่เน้นพัฒนาทักษะ-สมรรถนะ ที่สร้างงานและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการคิดวิเคราะห์ ที่ได้มาจากห้องเรียนประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่เน้นการท่องจำเหตุการณ์จากมุมเดียว แต่เน้นการเปรียบเทียบชุดข้อมูลที่หลากหลาย หรือทักษะการสื่อสาร ที่ได้มาจากห้องเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่เน้นแค่การ “รู้” หลักภาษา แต่เน้นการ “ใช้” ภาษาที่ทำให้สนทนากับชาวต่างชาติและเรียนรู้จากสื่อความรู้ที่มีทั่วโลกได้จริง

3.2. ถ้าเราศึกษาอนาคต และค้นพบว่าโลกแห่งอนาคต คือโลกที่ผู้คนต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา

เราก็ต้องออกแบบการศึกษาที่ไม่ทำให้คนหมดไฟในการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กๆ แต่เติมไฟให้คนมีความพร้อมในการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอิสรภาพให้นักเรียนได้เลือกวิชาตามที่ตนเองสนใจ โดยไม่ขาดแคลนครูในวิชานั้นๆ หรือ การลดการบ้านและการสอบแข่งขัน เพื่อลดความเครียดและโรคซึมเศร้าในหมู่นักเรียน

3.3. ถ้าเราศึกษาอนาคต และค้นพบว่าโลกแห่งอนาคต คือโลกที่พวกเราต้องอยู่ร่วมกัน ภายใต้ความหลากหลาย และช่องว่างระหว่างรุ่น ในระบอบประชาธิปไตย

เราก็ต้องออกแบบการศึกษา ที่สนับสนุนประชาธิปไตยตั้งแต่ในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของนักเรียนจากการถูกลงโทษเกินขอบเขตและการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการพร้อมรับฟังเมื่อเด็กกล้าคิดกล้าแสดงออก โดยรับประกันว่าจุดหมายปลายทางในการตั้งคำถามของพวกเขา จะไม่จบลงด้วยการถูกจองจำอิสรภาพ

ในการเลือกตั้งครั้งหน้า มันจึงไม่พอครับ ที่เราจะแก้แค่ปัญหาที่เห็นผลในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว แต่เราจำเป็นต้องลงทุนในการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาวควบคู่ไปด้วย ผ่านการนำเสนอ #การศึกษาฉบับก้าวไกล ให้ประชาชนได้เห็นชัด” ว่าถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล อนาคตของลูกหลาน และอนาคตของประเทศนี้ จะถูกขีดเส้นทางไว้อย่างไร

ทุกท่านครับ หลายปัญหาที่ประเทศเราเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ไม่เหมือนกับปัญหาที่ประเทศเราเคยเผชิญในอดีต

หลายปีที่แล้ว เรากังวลกันว่าประชากรจะล้นโลก / ตอนนี้ เราต้องวิงวอนขอร้องให้คนรุ่นใหม่มีลูก

หลายปีที่แล้ว มีคนกังวลกันว่าประชาธิปไตยของประเทศจะขาดกลไกการตรวจสอบ / ตอนนี้ ทั้งประชาธิปไตย และ กลไกการตรวจสอบ เราแทบจะไม่มีทั้งคู่

คู่มือเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ไม่สามารถหาได้จากเพียงตำราความสำเร็จในอดีต

หากหนังสือ 3 เล่มนี้ ไม่ถูกเขียนใหม่ ไม่ถูกร่างใหม่

หากโครงสร้าง การเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม ไม่ถูกคิดใหม่ ไม่ถูกสร้างใหม่

ต่อให้เราแก้ปัญหาและวิกฤตเฉพาะหน้าได้ดีแค่ไหน

ในอนาคต ประเทศไทยก็อาจจะวกกลับมาเป็นเหมือนเดิม

ในวันนี้ที่ผมเตรียมลาออกจากการบริหาร Start-up ด้านการศึกษา ผมมั่นใจว่าผมกำลังก้าวเข้ามาสู่ Start-up ด้านการเมือง ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถลุกขึ้นได้เร็วจากทุกครั้งที่หกล้ม เรียนรู้ได้ไวจากทุกครั้งที่ต้องเริ่มใหม่ และ ก้าวได้ไกลในทุกครั้งที่ประชาชนต้องการ

แม้ผมยอมรับและถ่อมตนอยู่เสมอ ว่าผมไม่ได้ร่วมเดินทางกับทุกท่านมาตั้งแต่วันแรก แต่ผมมั่นใจว่าไม่ว่าจะมีคนเดินเข้าเดินออกกันกี่คน เจตจำนงของอนาคตใหม่ ที่ถูกส่งต่อมาสู่พรรคก้าวไกล จะไม่เลือนลางไปจากจิตวิญญาณของผู้คนในที่แห่งนี้

และตราบใดที่เจตจำนงของพรรคยังมีความแน่วแน่มั่นคง ผมมั่นใจว่าพรรคจะสามารถปักธงทางความคิด และดึงดูดแนวร่วมใหม่ๆเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง

ทุกท่านครับ วันนี้ ผมเลยจะมาขอโอกาสจากพี่น้องสมาชิกพรรคก้าวไกลทุกคน ผู้สนับสนุนพรรคทุกคน และประชาชนทุกคนทั่วประเทศ ในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคก้าวไกล เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจของพรรค

ภารกิจของพวกเรา ไม่อาจสำเร็จได้ในค่ำคืนเดียว แต่จำเป็นต้องอาศัยเวลา

เพราะภารกิจของพวกเรา คือการร่วมกันสร้างอนาคตใหม่ของประชาชน และการร่วมกันสร้างประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ

'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง

จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ

ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง

คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ

'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!

นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน

'ไอติม-กมธ.การเมือง' รุดขอความชัดเจนศาลธรน. หวังได้คำตอบปมทำประชามติ 2 ครั้ง

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการการเมืองการมีส่วนร่วม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า อย่างที่เราทราบกันดีว่าการ

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476