เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2565 ขึ้นที่กระทรวงแรงงาน หลังจากว่างเว้นมา 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยในปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดด้วยตัวเอง พร้อมด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน
โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์กับแรงงานว่า รัฐบาลตระหนักถึงบทบาทของผู้ใช้แรงงานทุกคน ไม่เคยทอดทิ้งและเอาใจใส่ทุกท่านอยู่เสมอ ในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นโอกาสดีที่จะกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงสิทธิ ความเสมอภาค สวัสดิการและความปลอดภัยในอาชีพ และได้รับความต้องการที่แท้จริงนำไปพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความสุขมั่นคง
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เสมอมา ที่ผ่านมารัฐบาลเรามีความมุ่งมั่นจะผลักดันให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเต็มรูปแบบในเวทีการค้าโลก ดังนั้น การพัฒนาแรงงานเพื่อให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีชีวิตที่ดีและความสุขอย่างยั่งยืน เป็นเป้าหมายสำคัญที่จะต้องดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศ”
ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวย้ำว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ในฐานะดูแลและกำกับกระทรวงแรงงาน ตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ถึงแม้ว่าประเทศไทยและประเทศทั่วโลกยังคงประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงแรงงานยังมุ่งมั่นส่งเสริมให้แรงงานมีงานทำ และได้รับการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูงในทุกมิติสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึงให้มีความปลอดภัยในทำงาน รวมถึงการสร้างหลักประกันทางสังคมแก่แรงงานนอกระบบ กลุ่มเปราะบาง ยกระดับการประกันสังคมเพื่อให้แรงงานได้รับประโยชน์สูงสุด เร่งรัดปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ปัจจุบัน และรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นำไปสู่ความมั่นคง ความมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเรียกร้องวันแรงงานในปีนี้ทั้ง 8 ข้อนั้น นายสุชาติระบุว่า กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะของแรงงาน โดยจะนำข้อเรียกร้องมาดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน มีการหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มเพื่อพัฒนาการให้บริการพี่น้องแรงงาน และได้ประสานแจ้งให้คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติทราบถึงความคืบหน้าแล้ว เพราะตระหนักดีว่าทุกข้อเสนอแนะจะนำมาซึ่งการปรับปรุงการดำเนินการของกระทรวงแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พี่น้องแรงงานมีความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศสืบไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า สำหรับการดำเนินการของกระทรวงแรงงานในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ การปฏิรูปประกันสังคมในส่วนของการขยายอายุผู้ประกันตน มาตรา 40 เพื่อให้สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุ จากเดิมไม่เกิน 60 ปี เป็นไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ โดยกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อยู่ระหว่างเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ
ส่วนการเร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบนั้น ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ... เพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในการประกอบอาชีพ มีความปลอดภัยในการทำงาน มีหลักประกันทางสังคม มีการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กร ได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.64 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีการรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ซึ่งได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับแล้ว ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ... ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแล้วเมื่อวันที่ 5 ก.พ.62 และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 29 ก.ย.63 เมื่อมีผลบังคับใช้แล้วจะนำเสนอให้รัฐบาลให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าวได้
ส่วนการกำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดทำแนวปฏิบัติของพนักงานตรวจแรงงาน กำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามมาตรา 11/1 อย่างเคร่งครัด และชี้แจงนายจ้างให้ปฏิบัติต่อลูกจ้างรับเหมาค่าแรงให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างได้รับก้อนสุดท้ายนั้น กระทรวงแรงงานได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง พิจารณาแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยและงดจ่ายภาษีกรณีเงินออกจากงาน และขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ หากมีการแก้ไขจะมีผลบังคับใช้ทั้งลูกจ้างภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งได้ดำเนินการจัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่งตั้งคณะทำงานที่เป็นคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมาศึกษาปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังเปิดเผยด้วยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงแรงงานได้มีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ดังนี้ โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 ในพื้นที่ 29 จังหวัด ซึ่งมีการเยียวยานายจ้างจำนวน 192,911 ราย และผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 รวม 12.33 ล้านราย รวมเป็นเงิน 103,738.55 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีโครงการเยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิง และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 ในพื้นที่ทั่วประเทศ รายละ 5,000 บาท จำนวน 147,714 ราย เป็นเงิน 738.57 ล้านบาท
ในส่วนของธุรกิจ SMEs ได้มีโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 394,703 แห่ง สามารถรักษาการจ้างงานให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้กว่า 4,032,948 ราย เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 37,521.69 ล้านบาท โดยรัฐบาลอุดหนุนนายจ้างจ่ายเงินเดือนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อเดือน 3 เดือนเพื่อรักษาการจ้างงาน
และเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบ กระทรวงแรงงานได้ลดเงินสมทบ 3 เดือนให้แก่นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และลดเงินประกันสังคมมาตรา 40 จำนวน 6 เดือน รวมแล้วได้มีการลดอัตราเงินสมทบจำนวน 6 ครั้ง สามารถลดค่าครองชีพผู้ประกันตนกว่า 23.92 ล้านคน นายจ้าง 488,276 ราย ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 146,488 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีการเปิดจุดตรวจโควิด ในโครงการ “แรงงาน..เราสู้ด้วยกัน” โดยเป็นการตรวจโควิดฟรีที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง กรุงเทพฯ และมีการเปิดจุดตรวจโควิด-19 ทั้งประจำและเชิงรุก ในโรงงานในพื้นที่ 23 จังหวัด โดยให้บริการผู้ใช้แรงงานไปทั้งสิ้น 409,972 คน รอดำเนินการจัดหาเตียงในลักษณะ Hospitel กว่า 48,000 เตียง เพื่อรองรับผู้ใช้แรงงานที่ป่วยจากโควิด-19 พร้อมทั้งมีการผลักดันโควตาวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ใช้แรงงาน โดยปัจจุบันมีการดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วกว่า 4 ล้านโดส
กระทรวงแรงงานยังได้ทำโครงการ Factory Sandbox เพื่อป้องกันการระบาดในโรงงาน โดยมีโรงงานเข้าร่วมโครงการ 730 แห่ง มีผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมกว่า 4 แสนคน ทำให้โรงงานไม่ต้องปิดตัวลง ส่งผลให้การส่งออกปี 2564 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี มูลค่ารวมกว่า 2.71 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวด้วยว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคง โดยตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งธนาคารประกันสังคม ได้มีการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง และผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคมแล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พิพัฒน์' ชูเด็กไทยวันนี้เป็นกำลังแรงงานแห่งอนาคต มอบทุนการศึกษาทั่วประเทศ ลูกหลานแรงงานกว่า 10,000 คน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีมอบทุนการศึกษาเนื่องในงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 กระทรวงแรงงาน พร้อมกล่าวเปิดงานและให้โอวาทมอบของขวัญแก่เด็ก และเยี่ยมชมบูธกิจกรรมของหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานและสถานประกอบกิจการ
'สุชาติ' มอบทุน วันเด็ก 19 โรงเรียนในชลบุรี ย้ำ 'ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง'
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้จัดกิจกรรมมอบทุนสนับสนุนและสิ่งของสนับสนุนกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติให้กับโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปีพุทธศักราช 2568 รวมทั้งสิ้น 19 โรงเรียน
นายกฯ ห่วงคนไทยในแอลเอ เหตุไฟป่าโหมหนัก สั่งกงสุลใหญ่เร่งช่วยด่วน
นายกฯ ห่วงคนไทยในลอสแอนเจลิส กำชับสถานกงสุลใหญ่ ช่วยเหลือเหตุไฟป่า ขอติดตามข่าวจากส่วนราชการใกล้ชิด
จับตา! 'นายกฯอิ๊งค์' หัวโต๊ะ ก.ตร. เคาะโผ 'นายพลเล็ก' 140 ตำแหน่ง 'นรต.45' ผงาด
จับตา 'นายกฯอิ๊งค์' นั่งหัวโต๊ะประชุม ก.ตร. ถกโผแต่งตั้งนายพล ระดับ 'รองผบช.-ผบก.' กว่า 140 ตำแหน่ง คาด 'บิ๊กเต่า' โยกจาก บช.ก. นั่งรองผบช.น. 'นรต.45' ผงาดผู้การกองปราบ มือขวาผบช.ไซเบอร์ ขึ้น ผบก.สอท.4
‘พิพัฒน์‘ ลุยพอร์ตมัจฉานุท่าเรือซุปเปอร์ยอร์ชใหญ่สุดในเอเชีย สร้างแรงงานในธุรกิจเรือรายได้สูง รองรับฮับท่องเที่ยวระดับโลกฝั่งอันดามัน
วันที่ 9 มกราคม 2568 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวแสดงความยินดีในพิธีเปิดงานมหกรรมแสดงเรือนานาชาติแห่งประเทศไทย ลักซ์ซูรี่ไลฟ์สไตล์ ประจำปี 2568
ประกันสังคม เตือนนายจ้าง อย่าลืม!! ชำระเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนประจำปี 2568 ภายในวันที่ 31 มกราคม 2568 และรายงานค่าจ้างประจำปี 2567 ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568
นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานประกันสังคมมีการจัดเก็บเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนจากนายจ้างเป็นรายปี โดยได้จัดส่งใบประเมินเงินสมทบประจำปี 2568 พร้อมแบบแสดงเงินค่าจ้างประจำปี 2567 ให้นายจ้างทั่วประเทศ เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา