'บิ๊กตู่' เดินหน้าฟื้นฟูประเทศ เล็งปลดล็อกมาตรการโควิดเร็วขึ้น ดันคนละครึ่งเฟส 5

นายกฯ ถือฤกษ์สงกรานต์ฟื้นฟูประเทศ มอบหลักการจัดทำงบฯปี 66 “อยู่รอด ปลอดภัย พอเพียงยั่งยืน” รับมีแนวคิดดันคนละครึ่งเฟส 5 ชี้ กู้เพิ่มดูความจำเป็น เล็งขยับปลดล็อกมาตรการโควิด เร็วขึ้นจากเดือนก.ค.หลังสถิติคนตปท.เข้าไทยติดเชื้อน้อยมาก ติดเชื้อในปท.ควบคุมได้ พร้อมขอเข้าใจรบ. ไม่มัวโจมตีกัน ยันฟังเสียงปชช.

19 เม.ย.2565 - ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า วันนี้เป็นการประชุมครม.ครั้งแรกหลังหยุดสงกรานต์ที่ผ่านไปได้ด้วยดี ก็ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหน้างาน และอยู่เบื้องหลัง ที่ช่วยดูแลความปลอดภัยพี่น้องประชาชนตลอดช่วงวันหยุดที่ผ่านมา เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นปีใหม่ของไทย และตนเห็นว่าสงกรานต์ปีนี้เป็นสัญลักษณ์เริ่มต้นใหม่เพื่อขับเคลื่อนประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจตามแผน และโรดแมปหลังโควิด-19 ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว การลงทุน การส่งออก รวมถึงการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ ก็ต้องมีการวางแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุที่จะเข้ามาอย่างรวดเร็ว ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมการทุกมิติอย่างเต็มที่แล้ว

นายกฯกล่าวว่า ทั้งนี้ ปัญหาอยู่ที่งบประมาณที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน โดยสรุปแล้วเราใช้เงินเหล่านี้ดูแลคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนกระทั่งถึงผู้สูงอายุ เราใช้งบประมาณในแต่ละปีเป็นเงิน 8 แสนกว่าล้านบาท ฉะนั้นการที่จะให้เพิ่มขึ้นก็อยู่ที่งบประมาณที่เราจะหาได้ในอนาคตว่าเราจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เพื่อรองรับการใช้จ่าย นอกจากนี้ ก็ยังมีมาตรการช่วยเหลือด้านการเกษตร พืชหลัก 6 ชนิด เป็นจำนวนหลายแสนล้านบาท ฉะนั้น ในการใช้จ่ายงบประมาณในปี 2565 ที่เหลืออยู่และการจัดทำงบประมาณในปี 2566 ตนให้หลักการไปแล้วว่าเราจะทำยังไงที่จะนำพาประเทศของเราผ่านปัญหาอุปสรรคและวิกฤติการณ์ที่มันเกิดขึ้น ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศที่เราควบคุมไม่ได้นั้น จะนำไปสู่อนาคตได้อย่างไร โดยใช้หลักการว่าจะทำให้อยู่รอดปลอดภัย พอเพียง และนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต นี่หลักการของผม ที่ได้สั่งการมอบหมายไปกับครม.วันนี้ ว่าต้องระมัดระวังอย่างที่สุด ในขณะที่รายได้เราก็ลดลงหลายๆเรื่องด้วยกัน ถึงแม้การส่งออกเราจะดีขึ้นก็ตาม

นายกฯกล่าวต่อว่า ในเรื่องการแก้ปัญหาระบบการเงิน การคลัง ทางคณะกรรมการนโยบาบการเงิน(กนง.)ได้รายงานชี้แจงมาแล้วว่าเรายังมีเสถียรภาพที่เข้มแข็งเพียงพอ เพียงแต่ว่างบประมาณที่เรานำมาใช้ในการบริหารประเทศอาจจะต้องลดลงบ้าง แน่นอนว่าต้องเกิดผลระทบ ซึ่งตนก็บอกว่าเราต้องใช้งบประมาณในการดูแลกลุ่มเปราะบาง หรือผู้มีรายได้น้อย เป็นจำนวนสูงมาก คงต้องย้อนกลับไปดูผู้ประการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดใหญ่ไว้ด้วย เนื่องจากเป็นแหล่งจ้างงาน เพื่อให้ได้เกิดห่วงโซ่ไปด้วยกัน เราจึงต้องหามาตรการดูแลไว้ด้วย ไม่เช่นนั้นการจ้างงานก็จะลดลง รวมไปถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานต่างๆเพื่อไปสู่การมีรายได้สูงในอนาคต

"ผมเป็นห่วงการใช้จ่ายเงินของประชาชน วันนี้รายได้ลดลง ขณะเดียวกันราคาสินค้าบริโภค พลังงาน ก็สูงขึ้น ทำให้รายได้ที่เขาได้แต่ละวัน แต่ละเดือนไม่เพียงพอ ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันมันเกือบถึง 50% ของรายได้เขา หรืออาจจะมากกว่าเพราะได้เขาไม่มากนักเพราะฉะนั้นก็ต้องอยู่ที่พฤติกรรมด้วย ต้องปรับเปลี่ยน เรามีเงินน้อย ก็ต้องเลือกใช้ เลือกกิน ให้เหมาะสมกับสถานะของเราในขณะนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่สนใจในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ และพยายามไม่ยกระดับรายตรงนี้ให้มากขึ้น แต่พอดีมีเหตุการณ์เกิดขึ้น หลายอย่างกำลังจะดีขึ้น แต่รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ วันนี้ได้สั่งการให้มีมาตรการต่างๆทยอยออกมาเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้ก็จำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มเติมให้ได้ อันนี้ต้องเข้าใจตรงกัน"นายกฯกล่าว

นายกฯ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการค้าระหว่างประเทศก็ได้เร่งรัดให้มีการเจรจาทางการค้าระหว่างหลายประเทศด้วยกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องได้หารือจากข้อมูลที่ผู้นำระดับสูงและเอกอัครราชทูตมาพบตน ซึ่งเขาสนใจประเทศไทย เพราะเขาเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ มีทรัพยากร มีความพร้อมหลายอย่างที่เรียกว่า Sofe Power เขาก็อยากมาอยู่ มาลงทุน เพราะเป็นประเทศไทยปลอดภัย มีอาหารการกินดี มีธรรมชาติสวยงาม เหล่านี้เป็นศักยภาพของไทย ฉะนั้นเราต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ได้ วันนี้การเจรจาต่างประเทศต้องไปดูว่าพันธสัญญาต่างๆที่เรามีอยู่ จะปรับเปลี่ยนแก้ปัญหากันอย่างไร ต้องทำทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งตนเร่งรัดการเจรจา การทำเอ็มโอยูและข้อตกลงเ FTA การเจรจาต่างๆก็เดินหน้ามาโดยตลอด เพื่อเร่งการค้าการลงทุน การขยายเศรษฐกิจ

นายกฯกล่าวว่า วันนี้ก็ได้มีการเปิดการเจรจาการบินกับมองโกเลียซึ่งวันนี้นำเข้าครม.แล้วซึ่งจะเป็นผลประโยชน์กับการเดินทาง วันนี้ประเทศไทยเป็นจุดเร่ิมต้นในการเดินทางไปประเทศอื่นๆซึ่งเป็นผลดีกับการบินของเรา ดังนั้น เราต้องใช้ประโยชน์ตรงนี้ ซึ่งตนได้สั่งการไปเรียบร้อยแล้วนอกจากนี้ยังมีการประชุมเรื่องพลังงานกับกลุ่มเอเซียใต้ ซึ่งเราต้องส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการเจรจาความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ที่เรียกว่า ไจก้า ซึ่งได้มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และยกระดับการตรวจโรครักษาผู้ป่วยโควิด-19 การพัฒนาเก็บรักษาวัคซีน ซึ่งมีงบประมาณ 130 ล้านบาท ขณะนี้กำลังเร่งให้ทำโครงการเหล่านี้อยู่ เพื่อใช้เงินตรงนี้ออกมาได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ มาตรการอื่นๆที่ตามมาคือ มาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งจะมีการปรับให้สะดวกง่ายดายขึ้น ซึ่งเดิมจะปลดล็อกมาตรการเพิ่มเติมในเดือนก.ค.แต่จะปลดล็อกให้เร็วขึ้น เพราะจากสถิติคนต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยพบมีผู้ติดเชื้อจำนวนน้อยมากส่วนในประเทศพบผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับควบคุมได้อยู่ ซึ่งจะมีการหารือกันจะผ่อนคลายมาตรการอย่างไรเพื่อให้มีการใช้จ่ายในประเทศ ทำให้ธุรกิจต่างๆเดินหน้าไปได้ด้วยดี วันนี้เราต้องดูว่าปัญหามีที่ไหนเราก็พุ่งเป้าไปจุดนั้น และไม่ใช่แค่แก้จุดนั้นเพียงจุดเดียว ต้องแก้ปัญหาที่มีผลทางอ้อมถึงอันอื่นด้วย เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น บางทีเราจ่ายเงินดูแลกลุ่มเปราะบางไป เป็นการจ่ายขาดไปเฉยๆก็ต้องดูทั้ง 2 ทาง เพื่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในห่วงโซ่ของเขา ซึ่งตนเน้นย้ำให้เป็นนโยบายคือ อยู่รอดปลอดภัย เพียงพอ ยั่งยืน และพุ่งเป้า

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในส่วนของเรื่องอื่นๆทุกท่านทราบกันดีอยู่แล้ว ก็ขอให้ฟังรัฐบาลบ้างแล้วกัน ในเรื่องของคณะกรรมการนโนบายการเงินการคลังได้มีการชี้แจงออกมา จากที่มีข่าวรัฐบาลมีปัญหาเรื่องการเงินการคลัง ไม่มีเสถียรภาพ เขาชี้แจงกันหมดแล้วว่ามีปัญหาเกิดขึ้นอย่างไร หรือมาตรการที่รัฐบาลเตรียมการไว้อย่างไร บางทีก็ไปตัดตอนออกไป พอตอนแก้ปัญหาไม่พูด ไปพูดแต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งสิ่งที่ไม่ดีรัฐบาลก็แก้ไข รัฐบาลไม่รู้ไม่ได้ ต้องรู้อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงการคลัง หัวหน้าเศรษฐกิจทั้งหมดก็ได้เตรียมมาตรการต่างๆรอบรับส่ิงเหล่านี้ไว้หมดแล้ว ตนเพียงจะบอกว่าขอให้เข้าใจซึ่งกันและกัน ตนมีความห่วงใยประชาชนทุกคน ทุกระดับ

เมื่อถามว่า จะมีการกู้เงินเพิ่มหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ถ้าจำเป็นก็หารือกัน อย่างที่ตนบอกแล้วว่า การจะทำให้อยู่รอด ปลอดภัย เพียงพอ ยั่งยืน จะต้องใช้เงินอย่างไร และมีเงินอยู่เท่าไหร่จำเป็นต้องหาเงินเพิ่มไหม ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหารืออยู่ อันนี้ก็อย่าให้เป็นประเด็นก็แล้วกัน เพราะถ้าเราไม่ต้องดูแลในช่วงโควิด ไม่เกิดปัญหาตรงนี้ ตนเชื่อว่าประเทศไทยจะดีกว่านี้ แต่เพราะสถานการณ์ภายนอกที่บังคับไม่ได้ มันอยู่นอกการควบคุมของเรา ดังนั้น เราก็ต้องบริหารให้ดีที่สุด

เมื่อถามว่า มาตรการที่กำลังพิจารณามีโครงการคนละครึ่งเฟส 5 หรือไม่ นายกฯกล่าวว่าก็ให้แนวทางไปแล้ว ซึ่งใช้เงินเยอะพอสมควร ซึ่งถ้าพูดถึงผลดีก็มีเยอะ เพราะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนอีกหลายเท่า แต่ปัญหาอยู่ที่จะเอางบฯมาจากไหน ก็ต้องหาวิธีการ แต่หากทำทุกอย่างแล้วถูกนำมาโจมตีกลับไปกลับมา รัฐบาลก็ทำงานลำบาก บางอย่างก็ต้องเข้าใจกันบ้างถึงเหตุผลและความจำเป็น เพราะเงินทุกวันนี้เราก็ใช้จ่ายอย่างประหยัดเท่าที่มีงบประมาณอยู่ ในส่วนของงบฯเงินกู้ ก็ใช้ไปบ้างแล้ว ในช่วงโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และยังมีความเสี่ยงหลายอย่างอยู่ และยังมาเจอสงครามอีก ทุกรัฐบาลไม่เคยเจอสถานการณ์นี้มาก่อน ตนคิดว่าทุกคนช่วยกันอย่างเต็มที่แล้วและขอความร่วมมือประชาชนให้เข้าใจเท่านั้นเอง ถ้ามัวแต่โจมตีกันไปมา จะทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง ซึ่งเราต้องฟังเสียงประชาชนด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯรวยหมื่นล้าน อิ๊งค์แจงบัญชีทรัพย์สิน ใช้จ่ายส่วนตัวปีละ45ล.

“ป.ป.ช.” เปิดทรัพย์สิน “นายกฯ อิ๊งค์” รวยมโหฬารกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท แบกหนี้กู้เงินญาติพี่น้อง 4.4 พันล้าน สะสมนาฬิกา 75 เรือน มูลค่า 162 ล้านบาท มีกระเป๋า 217 ใบ

'นิพิฏฐ์' ถาม 'อิ๊งค์-อ้วน' เศร้าใจและเสียศักดิ์ศรีที่ชายไทยจนๆ คนหนึ่งเสียชีวิตจากเรือรบของเพื่อนบ้านหรือไม่

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง โพสต์ข้อความหัวข้อ หรือผมจะเป็นชายไทยที่รักชาติต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

ผวาหายนะ! บี้ '2พ่อลูกชินวัตร' ทบทวนพฤติกรรม บ้านเมืองไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทักษิณ คุณเป็นใคร? หลังจากนายทักษิณ ชินวัตร

ครม.อนุมัติร่างประกาศ มท. กำหนดจำนวนคนต่างด้าวขอมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ.